เดอะการ์เดียน สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษเขียนบทความวิเคราะห์สงครามยูเครนในไทย ว่าทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้วความเชื่อของคนสองรุ่น โดยในหมู่คนหนุ่มสาวมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยืนหยัดเคียงข้างชาวยูเครน ในขณะที่ฝั่งอนุรักษนิยมซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า เชื่อว่ารัสเซียเป็นมิตรของประเทศไทยมานาน
ในบทความ เดอะการ์เดียนกล่าวถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนมีนาคมขณะที่สงครามในยูเครนยังร้อนระอุ นักการทูตรัสเซียในกรุงเทพฯ ได้พบปะกับผู้นำสถานีโทรทัศน์ของกองทัพไทย (ช่อง 5) เพื่อหารือถึงแนวทางในการเสริมสร้าง ‘ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข่าวสารและข้อมูล’ โดยเจ้าหน้าที่รัสเซียพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามในการจัดการกับข่าวปลอมและตรวจสอบข้อมูล ก่อนที่หนึ่งสัปดาห์ต่อมา พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. ได้เซ็นคำสั่ง ให้ พล.อ.รังษี กิติญานทรัพย์ ผอ. ททบ. 5 พ้นหน้าที่ตามที่ขอเสนอลาออก
เดอะการ์เดียนระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งเป็นอดีตนายพลกองทัพบกที่ขึ้นสู่อำนาจครั้งแรกจากการทำรัฐประหาร ปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีการลาออกของ ผอ. ช่อง 5 หรือมีการขอให้ทางช่องหยุดการรายงานเกี่ยวกับสงคราม แต่ได้กล่าวว่าควรหลีกเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นที่มากเกินไป
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ยืนกรานว่าจะมีจุดยืนที่เป็นกลางต่อสงคราม อย่างไรก็ดี หลังจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีการให้ลงมติประณามรัสเซียกรณีรุกรานยูเครน พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัสเซียยุติการสู้รบและถอนทหารออกจากยูเครน มีประเทศสมาชิก 141 ชาติที่เห็นชอบ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น
ในบทความของเดอะการ์เดียนระบุว่า ปฏิกิริยาภายในประเทศไทยต่อการรุกรานยูเครนของรัสเซียสะท้อนถึงการเมืองที่มีการแบ่งขั้วสูงของประเทศ โดยมีการอ้างถึง กิตติ ประสิทธิ์สุข ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ผู้คนมักจะนึกถึงสงครามยูเครนในแง่ของการรับรู้ของแต่ละคน ที่มีต่อประชาธิปไตยหรือเผด็จการ” โดยเสริมว่ากลุ่มอนุรักษนิยมที่มีชื่อเสียงมักแสดงการสนับสนุนหรือเห็นอกเห็นใจรัสเซีย ในขณะที่คนหนุ่มสาวจำนวนมากซึ่งเป็นกลุ่มที่ประท้วงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองและสถาบันได้ออกมาสนับสนุนยูเครน
กลุ่มอนุรักษนิยมกล่าวถึงรัสเซียว่าเป็นมิตรเก่าแก่ โดยกล่าวถึงพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่เมื่อ 100 กว่าปีก่อน ได้ช่วยสยามหรือประเทศไทยในสมัยนั้นต่อต้านแรงกดดันจากอาณานิคม รวมถึงยกย่อง วลาดีมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จากระบอบการปกครองที่เข้มแข็ง และถูกนำไปเปรียบเทียบกับ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน
“พวกเขาคิดว่าสี จิ้นผิง นำพาจีนไปสู่เศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าสีมีความเด็ดขาดอย่างยิ่งในการดำเนินมาตรการต่อต้านการทุจริต” เดอะการ์เดียนอ้างคำสัมภาษณ์ของ ศจ.กิตติ “กลุ่มอนุรักษนิยมชอบความเป็นผู้นำแบบนั้น”
นอกจากนี้ ศจ.กิตติยังเสริมว่า กลุ่มอนุรักษนิยมที่มองสหรัฐฯ เป็นปรปักษ์ เพราะเชื่อว่าอยู่เบื้องหลังการปลุกระดมการประท้วงของเยาวชนไทย ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดการตอบโต้ ‘แบบอนุรักษนิยม’ ต่อความขัดแย้งในสงครามรัสเซียยูเครนนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ เดอะการ์เดียนยังกล่าวถึงคำสัมภาษณ์ของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักกิจกรรมนักศึกษาชาวไทย ที่ระบุว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยืนหยัดเคียงข้างชาวยูเครน “เมื่อคุณเรียนรู้ที่จะต่อสู้กับเผด็จการ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่คุณจะเข้าใจคนที่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่เป็นสาเหตุเดียวกันในที่อื่นๆ”
ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตยูเครนและรัสเซียในกรุงเทพฯ ก็มีความขัดแย้งกันเรื่องที่จะเปิดรับอาสาสมัครคนไทยไปร่วมรบในยูเครน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ยูเครนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประชาชนเข้าร่วมการต่อสู้ในประเทศของตน แต่ฝั่งนักการทูตรัสเซียก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์สถานทูตยูเครน โดยเตือนว่า กรณีที่โชคดีที่สุดสำหรับผู้จะเข้าร่วมรบคือ ‘การจับกุมและดำเนินคดี’
ท้ายที่สุด เดอะการ์เดียนวิเคราะห์ว่ารัฐบาลไทยต้องเผชิญกับท่าทีการแสดงออกที่น่าอึดอัดใจ เพราะแม้รัสเซียจะไม่ใช่คู่ค้าหลักของไทย แต่หลังจากเริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับโควิด-19 รัสเซียถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งที่เดินทางมาประเทศไทย ขณะที่ปลายปีนี้ ไทยจะเป็นประธานในการประชุมสุดยอดเอเปก โดยมี 21 ประเทศเข้าร่วม รวมทั้งรัสเซีย สหรัฐฯ และจีน
ที่มา:
https://www.theguardian.com/world/2022/apr/06/in-thailand-the-war-in-ukraine-divides-the-generations
https://news.un.org/en/story/2022/03/1113152
ภาพ: AFP
Tags: สงครามยูเครน, Report, รัสเซีย, ยูเครน