เมื่อวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน 2023 เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergei Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ออกมายืนยันว่า กลุ่มวากเนอร์จะยังคงปฏิบัติการอยู่ในสาธารณรัฐมาลี (Republic of Mali) และสาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic) ต่อไป หลังเกิดเหตุกบฏกลุ่มวากเนอร์ นำโดย เยฟกินี พริโกซิน (Yevgeny Prigozhin) เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา และเกือบจะกรีธาทัพไปถึงกรุงมอสโก

“ตามข้อตกลงระหว่างกลุ่มแอฟริกา ทหารนับร้อยคนจะยังคงทำงานต่อไปในแอฟริกาในฐานะผู้ฝึกสอน ทั้งแอฟริกากลางและมาลีว่าจ้างกลุ่มวากเนอร์เพื่อปกป้องความปลอดภัยของผู้นำพวกเขา” ลาฟรอฟให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอาร์ที (RT) ของรัสเซีย

ปัจจุบัน พริโกซินลี้ภัยไปยังเบลารุส ตามข้อตกลงในการเจรจากับ อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก (Alexandre Lukashenko) ประธานาธิบดีเบลารุส

เหตุกบฏครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในของรัสเซีย และสงครามกับยูเครนเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดคำถามมากมายถึง ‘บทบาทและอนาคต’ ของกลุ่มวากเนอร์ในแอฟริกา ซึ่งเป็นฐานปฏิบัติการหลัก และแหล่งธุรกิจที่สร้างความมั่งคั่งให้กับพวกเขาตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เบื้องหลังอิทธิพลของรัสเซียและวากเนอร์ในแอฟริกา

การเข้ามามีอิทธิพลของวากเนอร์ในทวีปแอฟริกา เริ่มต้นจากความล้มเหลวของฝรั่งเศส ประเทศเจ้าอาณานิคมเก่าในแอฟริกาเหนือ หลังพยายามสร้างอิทธิพลเหนือแอฟริกาอีกครั้งเมื่อปี 2014 หลังจากฝรั่งเศสไม่สามารถปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ตามที่ได้ตกลงไว้กับผู้นำในภูมิภาคได้ ทั้งยังกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก ส่งผลให้ผู้คนในท้องถิ่นไม่พอใจมากขึ้น

รัสเซียฉวยโอกาสจากรอยร้าวดังกล่าว ขยายอิทธิพลเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น พวกเขาทำข้อตกลงกับรัฐบาลในแอฟริกา ด้วยการส่งกองกำลังทหารเข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งคือกลุ่มวากเนอร์ กองกำลังอิสระที่รัฐบาลรัสเซียจ้างทำงาน ‘สกปรก’ เพื่อหลีกเลี่ยงภาพลักษณ์อันย่ำแย่ในสายตาชาวโลก

กลุ่มวากเนอร์เริ่มปฏิบัติงานในประเทศแอฟริกากลาง เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลของ ฟอสแต็ง-อาร์ช็อง ตัวอาเดรา (Faustin-Archange Touadéra) ประธานาธิบดีแอฟริกากลาง นับตั้งแต่ปี 2018 ในการต่อสู้กับกลุ่มกบฏติดอาวุธ

ต่อมา เดือนธันวาคม 2021 กลุ่มวากเนอร์ปฏิบัติการในมาลีเพื่อสนับสนุนการรัฐประหารของ นายพลอัสสิมา โกอิตา (Assimi Goïta) และร่วมต่อสู้กับกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงในภูมิภาคซาเฮล (Sahel) รวมถึงประเทศอื่นๆ ได้แก่ ซูดาน ลิเบีย มาดากัสการ์ และโมซัมบิก

นอกเหนือจากปฏิบัติการทางการทหารแล้ว กลุ่มวากเนอร์ยังสร้างค่านิยมต่อต้านชาติตะวันตกผ่านการตอกย้ำ ‘วาทกรรมประวัติศาสตร์อาณานิคม’ และการสร้างกองทัพ IO (Information Operation) บนโซเชียลมีเดียอีกด้วย

การสร้างอิทธิพลของวากเนอร์ประสบความสำเร็จมาก เห็นได้ชัดเจนจากคลิปวิดีโอของชาวมาลี ที่เดินขบวนสนับสนุนคณะรัฐประหารโดยโบกธงรัสเซีย รวมถึงเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนอีกด้วย

แนวคิดหลักของปฏิบัติการวากเนอร์ คือการมอบความมั่นคงด้วยกองกำลังทหารรับจ้างของเขา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ โดยวากเนอร์มีบริษัทในเครือข่ายที่ควบคุมดูแลการค้าขายทรัพยากรเหล่านั้น โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ทองคำและเพชรผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Lobaye Invest, Midas Ressources และ Diamville รวมถึงธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจไม้ หรือสุรา

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของวากเนอร์ในแอฟริกา นำมาซึ่งความกลัวและการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างแพร่หลาย

เดอะเซนทรี (The Sentry) องค์กรที่ทำหน้าที่สืบสวนเครือข่ายข้ามชาติในประเทศสหรัฐอเมริกาเปิดเผยว่า วากเนอร์ถ่ายทอดเทคนิคการสังหารที่เหี้ยมโหดให้กับผู้คนในพื้นที่ เช่น การตัดนิ้ว การตัดขา การบีบคอ การลอกเล็บ หรือการเผาเหยื่อทั้งเป็น ตลอดปฏิบัติการ 5 ปี ในประเทศแอฟริกากลาง

นอกจากนี้ บีบีซี (BBC) ยังรายงานการพบหลักฐานการสังหารพลเรือน และการใช้ทุ่นระเบิดรอบบ้านเรือนในเมืองตริโปลี (Tripoli) ของประเทศลิเบีย ขณะที่สถิติในประเทศมาลีพบว่า ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากกลุ่มติดอาวุธ พุ่งขึ้นสูงมากกว่า 2 เท่า ตั้งแต่กลุ่มวากเนอร์เข้ามาในปี 2021

หนึ่งในเหตุการณ์สุดโหดเหี้ยม คือการสังหารประชาชนราว 500 คนที่มูรา ทางตอนกลางของประเทศมาลี ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ตั้งข้อสังเกตว่า กองกำลังจากต่างชาติ เป็นผู้ก่อการนี้ร่วมกับทหารมาลี

อนาคตของวากเนอร์ในแอฟริกาจะเป็นอย่างไร หลังจากความล้มเหลวในการก่อกบฏ?

ถึงแม้ความขัดแย้งระหว่างวากเนอร์กับรัสเซีย เผยให้เห็นรอยร้าวชิ้นใหญ่ที่แม้แต่พันธมิตรนาโต (North Atlantic Treaty Organisation: NATO) โดยเฉพาะสหรัฐฯ มองว่า สถานการณ์นี้จะเป็นประโยชน์กับพวกเขา

แต่ประเทศแอฟริกายังเชิดชูรัสเซียเป็นที่หนึ่ง ขณะที่วากเนอร์มี ‘แต้มต่อ’ ที่น้อยกว่ามาก แม้จะมีอิทธิพลโดยตรงต่อแอฟริกาเหมือนกันก็ตาม

เพราะสุดท้ายแล้ว วากเนอร์ก็เป็นเพียงกองกำลังรับจ้างผิดกฎหมาย ไม่ได้มีสถานะเหนือกว่ารัสเซียในฐานะรัฐมหาอำนาจแต่อย่างใด

“ถ้ารัสเซียไม่ต้องการใช้วากเนอร์แล้ว รัสเซียก็จะส่งกลุ่มใหม่มาให้เรา” ฟิเดล กูอานด์จิกา (Fidèle Gouandjika) ที่ปรึกษาพิเศษของประธานาธิบดีแอฟริกากลาง กล่าว แสดงให้เห็นความสำคัญของรัสเซียที่เหนือกว่าวากเนอร์อย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของวากเนอร์ในแอฟริกา โดยเฉพาะการแพร่ขยายของกองกำลังในทวีป อาจทำให้รัสเซีย ‘ไม่กล้าหัก’ ต่อกองกำลังอิสระนี้โดยตรง

“กลุ่มวากเนอร์ต้องพึ่งพาอาวุธจากรัสเซีย และรัสเซียก็ต้องพึ่งวากเนอร์ในงานที่รัสเซียไม่อยากรับหน้า” แม็กซิม ออดิเนต์ (Maxime Audinet) นักวิจัยจากศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ฝรั่งเศส (IRSEM) และผู้เชี่ยวชาญด้านรัสเซีย อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างวากเนอร์กับรัฐบาลรัสเซียที่แยกจากกันไม่ได้

มากกว่านั้น เสถียรภาพของแอฟริกาจะอันตรายกว่าเดิม หากทหารรับจ้างของวากเนอร์เปลี่ยนไปรับใช้กลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ซึ่งทำให้การสู้รบในทวีปรุนแรงยิ่งขึ้น เช่น สถานการณ์ในซูดานที่เกิดขึ้น หลังกองกำลังวากเนอร์เข้าไปมีส่วนร่วมในการสู้รบดังกล่าว

ดังนั้น ทางเลือกที่เป็นไปได้ตามที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเสนอ คือการประนีประนอมให้ปริโกซินรับผิดชอบดูแลกลุ่มวากเนอร์ในแอฟริกาต่อไป ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมมอบอำนาจให้กระทรวงกลาโหมรัสเซียดูแลวากเนอร์แทน

สุดท้าย บทสรุปดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนมากภายใต้ความสัมพันธ์อันคลุมเครือระหว่างวากเนอร์กรุ๊ปกับรัสเซีย โดยเฉพาะภายหลัง วลาดีมีร์ ปูติน (Vladimir Putin) ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศกร้าวว่า วากเนอร์ต้องได้รับบทลงโทษในฐานกบฏ

Tags: , , ,