90 ปี ประชาธิปไตย กลัดกระดุมผิดแต่แรก
‘วรงค์’ ระบุ ‘พระราชอำนาจพิเศษ’
เป็นทางออก แก้ความขัดแย้งทางการเมือง
วันนี้ (24 มิถุนายน 2565) นายแพทย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี นำสมาชิกพรรคและกรรมการพรรคไทยภักดี ร่วมประกาศจุดยืนของพรรค พร้อมเสนอทางออกของความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น โดยคำประกาศใช้ชื่อว่า ‘คำประกาศพรรคไทยภักดี 90 ปี ประชาธิปไตยไทย: กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิด’
นายแพทย์วรงค์ในฐานะหัวหน้าพรรคไทยภักดีอ่านคำประกาศ เริ่มจากการกล่าวถึงวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ของประเทศไทย วันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย โดยวิธีการปล้นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และตลอด 90 ปีที่ผ่านมาประชาธิปไตยดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นของประชาชนนั้นไม่เป็นความจริง
“คณะบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าคณะราษฏร ได้ปล้นพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และอ้างว่านำประเทศไปสู่ประชาธิปไตย วันนี้ตลอด 90 ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่า ประชาธิปไตยของไทยที่อ้างมาตลอดว่าประชาชนเป็นใหญ่นั้นไม่จริง กลายเป็นว่าอำนาจทุกอย่างอยู่ที่ทุนสามานย์ ที่เข้ามาครอบงำพรรคการเมืองและเข้ามากอบโกยผลประโยชน์”
นายแพทย์วรงค์กล่าวอีกว่า ภายหลัง คณะราษฎรทำการปฏิวัติสยาม 2475 แย่งชิงพระราชอำนาจจากสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เป็นการแย่งพระราชอำนาจมาสู่พวกพ้องของตนเอง สร้างระบอบคณาธิปไตย (Oligarchy) ไม่ได้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขตามที่กล่าวอ้าง ซึ่งระบบดังกล่าว ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นครองอำนาจของคณะบุคคลใดคณะหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือนักการเมืองทุนสามานย์นำไปสู่เผด็จการรัฐสภา เป็นเพียงสมบัติผลัดกันชม ทำให้ประชาธิปไตยของไทยไร้การพัฒนา ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ เขาจึงมองว่าจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยไม่ต่างจากกลัดกระดุมเม็ดแรกผิด
เมื่อกระดุมประชาธิปไตยเม็ดแรกกลัดผิด สิ่งที่เป็นนั้นไม่ตรงกับความต้องการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งควรจะเป็นระบอบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแบบราชอาณาจักร (Constitutional Monarchy) ความผิดพลาดครั้งนี้นำมาสู่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน
“ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยหาได้เดินไปตามพระราชปณิธานในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้กับประเทศไทยไม่ เพราะพระองค์ทรงต้องการให้ประเทศไทยมีการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแบบราชอาณาจักร หาใช่แบบสาธารณรัฐ ซึ่งพระประมุขแบบราชอาณาจักร ชื่อที่ควรจะเรียกคือ ‘ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’ และ ‘ราชประชาสมาสัย’ จะเป็นคำตอบของระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทย”
อีกทั้งยังเสนอว่า ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ราชประชาสมาสัย และพระราชอำนาจพิเศษของสถาบันกษัตริย์ จะนำมาสู่ทางออกในการคลี่คลายความขัดแย้ง ด้วยเหตุผล 3 ประการ
“ประการแรก ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและราชประชาสมาสัย จะช่วยป้องกันวงจรอุบาทว์ คณาธิปไตยอันเป็นสมบัติผลัดกันชมระหว่างเผด็จการทหารกับนักการเมืองทุนสามานย์ เผด็จการรัฐสภา เพราะราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญเป็นการทรงใช้พระราชอำนาจอธิปไตยผ่าน 3 สถาบันหลัก คือนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหาร ซึ่งเป็นไปตามหลัก The king can do no wrong โปรดเกล้าให้มีผู้สนองรับพระราชโองการ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนราชประชาสมาสัยหมายถึงการอาศัยกันอย่างเท่าเทียมระหว่างพระราชากับประชาชน จะช่วยให้ประชาชนได้มีบทบาทในการบริหารราชการแผ่นดินร่วมกันอย่างเท่าเทียม เคียงบ่าเคียงไหล่ในการพัฒนาชาติบ้านเมือง อันเป็นปัจจัยป้องกันไม่ให้คณะบุคคลใดๆ ลุแก่อำนาจ โดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชน
“ประการที่ 2 ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และราชประชาสมาสัย จะเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ป้องกันความแตกแยกทางความคิดที่อาจจะเกิดจากบุคคลหลายฝ่ายยุยงให้แผ่นดินแตกแยก ด้วยความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน การมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมดวงใจและศรัทธาจะช่วยคลี่คลายความแตกแยก ความคิดเห็นทางการเมืองให้สามารถหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวได้ ภายใต้ศูนย์รวมดวงใจและศรัทธาที่เป็นหนึ่งเดียวของคนในชาติ ดั่งที่เคยเป็นมาแล้วในอดีต
“ประการที่ 3 ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ และราชประชาสมาสัย สามารถให้เกิดการใช้พระราชอำนาจพิเศษ (Royal Prerogative) ซึ่งเป็นสิ่งที่มีตามปกติอยู่แล้ว อันได้แก่ พระราชอำนาจในการให้กำลังใจ พระราชอำนาจในการตักเตือน และพระราชอำนาจในการยับยั้งรัฐบาล โดยที่รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต้องเข้าประชุมถวายรายงานการบริหารราชการแผ่นดินอย่างเป็นทางการให้พระมหากษัตริย์ทรงรับทราบอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ นอร์เวย์ สวีเดน หรือประเทศอื่นๆ ได้กระทำ เพื่อให้สถาบันพระมหากษัตริย์ได้ทรงใช้พระราชอำนาจพิเศษในการให้กำลังใจ ตักเตือน และยับยั้ง ในการบริหารราชการแผ่นดินที่ดี หรืออาจพลาดพลั้ง หรือที่ยังไม่สมควร เพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายต่อบ้านเมืองและประชาชน”
ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้พรรคไทยภักดีจึงประกาศสนับสนุน ราชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ราชประชาสมาสัย และพระราชอำนาจพิเศษ เพื่อพัฒนาระบบการปกครองบ้านเมืองและราชอาณาจักรไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันแท้จริง คือประชาราษฎรเป็นผู้มีสิทธิมีเสียงในการปกครองในบ้านเมือง ให้บ้านเมืองเกิดการพัฒนายั่งยืนเรียบร้อยในอนาคต
ทางด้าน ทินกร ปลอดภัย ผู้อำนวยการพรรคไทยภักดีกล่าวว่า ยังมีการถกเถียงกันอยู่มากว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีความชอบธรรมหรือไม่ และเป็นการปฏิวัติโดยชนชั้นนำไทยเพียงฝ่ายเดียว ไม่ได้มาจากประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังคงศรัทธาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ทั้งนี้ พรรคไทยภักดีได้ปิดท้ายเวที ‘คำประกาศพรรคไทยภักดี 90 ปี ประชาธิปไตยไทย: กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิด’ ด้วยการร่วมกันร้องเพลงความฝันอันสูงสุด ก่อนจะจบเวที
Tags: Report, วรงค์ เดชกิจวิกรม, ไทยภักดี