เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา ที่กรุงเคียฟ ประเทศยูเครน พรามิลา แพตเทน (Pramila Patten) ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: ยูเอ็น) ด้านความรุนแรงทางเพศในสงคราม แถลงข่าวว่าได้รับรายงานหลายฉบับเกี่ยวกับการความรุนแรงทางเพศต่อผู้ชายและเด็กผู้ชายในยูเครน แม้รายงานดังกล่าวจะยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูล แต่แพตเทนบอกว่าเป็นเรื่องยากมากที่บรรดา ‘เหยื่อ’ จากการข่มขืนเหล่านี้จะออกมาแจ้งว่ามีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น
“ปกติเป็นเรื่องยากอยู่แล้วที่บรรดาผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจะออกมายอมรับว่ามีการข่มขืนจริง เพราะต้องเจอกับการ ‘ตีตรา’ จากสังคม แต่สำหรับผู้ชายและเด็กผู้ชายนั้นเป็นเรื่องยากยิ่งกว่า ทว่าเราได้เปิดพื้นที่ปลอดภัยสำหรับรับรายงานเรื่องดังกล่าวแล้ว”
แพตเทนบอกอีกว่าปัจจุบันมีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องการข่มขืนหลายสิบกรณี และเรื่องดังกล่าวน่าจะเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น โดยเธอเรียกร้องให้บรรดาเหยื่อออกมาเปิดเผยเรื่องจริงที่เกิดขึ้น พร้อมกับเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติออกมาหาตัวผู้กระทำผิด และให้คนเหล่านี้แสดงความรับผิดชอบให้ได้ พร้อมกับบอกว่า แม้ในวันที่ได้รับการรายงานอาจจะยังเป็นเพียงรายงาน (Documentation) เท่านั้น แต่ในวันพรุ่งนี้ รายงานจะเปลี่ยนเป็นการดำเนินคดีเอาผิด (Prosecution)
ทั้งนี้ เธอระบุว่าเหตุที่ต้องเมืองเยือนเคียฟ เป็นเพราะไม่สามารถทนได้หลังได้รับการรายงานการ ‘ข่มขืนอย่างเป็นระบบ’ และเป็นวงกว้าง รวมถึงยังมีความเสี่ยงที่สุภาพสตรีชาวยูเครนจะตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ หากพวกเธอต้องการหลบหนี
“สัญญาณเตือนทั้งหมดเป็นสีแดงในยูเครน โดยมีข้อกล่าวหาเรื่องความรุนแรงทางเพศที่โหดร้ายเกิดขึ้น ทั้งหมดนี้ทำให้ดิฉันไม่สามารถนั่งอยู่เฉยๆ ในออฟฟิศที่นิวยอร์กได้ ฉันมาที่นี่เพื่อทำให้เห็นว่าพวกเราหมดความอดทนต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และจำเป็นต้องมีการดำเนินคดีสำหรับอาชญากรรมต่อเนื่องเหล่านี้”
ด้าน ไอรีนา เวเนดิกโทวา (Iryna Venediktova) อัยการสูงสุดของยูเครน เปิดเผยว่า สำนักงานอัยการแห่งยูเครนได้รวบรวมรายงานการกระทำผิดทางเพศของกองกำลังรัสเซียต่อผู้ชาย ผู้หญิง และผู้สูงอายุ พร้อมกับบอกว่าการข่มขืนถือเป็น ‘ยุทธศาสตร์’ หนึ่ง ในการทำให้สังคมหวาดกลัว และบีบบังคับให้ยูเครนยอมจำนน ทั้งยังบอกอีกด้วยว่ามีเหยื่อข่มขืนจำนวนมากออกนอกประเทศไปแล้ว และอีกจำนวนหนึ่งยังคงอยู่ในยูเครนต่อไป ทว่าอยู่ด้วยความหวาดกลัวและหวาดวิตก
ทีมสืบสวนได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ นับตั้งแต่กองกำลังรัสเซียเริ่มบุกเข้าสู่ยูเครนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจากการสอบสวนทั้งเหยื่อและครอบครัวเหยื่อ รายงานที่ได้รับมีตั้งแต่การรุมข่มขืน การเอาปืนจี้ให้ข่มขืน หรือการข่มขืนต่อหน้าเด็ก
ด้าน ลิดมิลา เดนิโซวา (Lyudmila Denisova) คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของยูเครน เผยแพร่รายงานพบว่า มีกรณีหนึ่งที่ผู้หญิง 25 คน ถูกขังไว้บริเวณใต้ถุนบ้าน และถูกรุมข่มขืนในเมืองบูชา (Bucha) ขณะที่แพทย์นิติเวชพบว่าในหลุมศพที่ถูกฝังรวมกันมีสุภาพสตรีจำนวนมากที่ถูกข่มขืนก่อนจะถูกฆ่าและฝังศพไว้รอบเมือง
แม้ขณะนี้การสู้รบรอบๆ กรุงเคียฟจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทหารรัสเซียยังคงยึดครองพื้นที่ทางตอนใต้และตะวันออกของยูเครน มีความกังวลที่เพิ่มขึ้นมากว่าอัตราการข่มขืนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ต้องเร่งมาตรการ ‘คุมกำเนิด’ ในพื้นที่ และนักเคลื่อนไหวก็พยายามสร้างระบบคุมกำเนิดฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลทั่วยูเครนให้เร็วที่สุด
แต่ผู้แทนพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านความรุนแรงทางเพศในสงครามเตือนว่าทั้งหมดนี้อาจ ‘ช้า’ เกินไป เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา โลกได้อนุญาตให้ความรุนแรงทางเพศเป็นอาวุธราคาถูก เงียบ และทรงพลัง มาอย่างช้านานแล้ว
“การข่มขืนเป็นอาวุธราคาถูกเพราะไม่เสียเงิน ทั้งยังทรงพลังมาก เพราะไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเหยื่อ แต่ยังส่งผลกระทบต่อทั้งครอบครัวและชุมชน” แพตเทนกล่าว พร้อมกับบอกว่า “ความรุนแรงทางเพศ เป็นทั้งสงครามชีวภาพและสงครามจิตวิทยา”
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติยืนยันว่าจะทำทุกวิถีทางในการตามหาผู้กระทำผิด รวมถึงร่วมมือกับบรรดาองค์กรเอ็นจีโอ ในการจัดหาอาหาร ยารักษาโรค และยาคุมฉุกเฉิน ให้กับเมืองต่างๆ ทั่วยูเครน ขณะที่กระบวนการยุติธรรมของยูเครนได้ชี้ตัว ‘ผู้กระทำ’ ซึ่งเป็นทหารรัสเซียไว้แล้วหลายคน พร้อมทั้งได้ตั้งข้อหาอาชญากรสงครามจากการข่มขืนเหยื่อ รวมถึงยังได้ออกหมายจับทหารรัสเซียแล้ว 1 คน จากการกระทำดังกล่าว
ในเวลาเดียวกัน ประชาคมโลกได้เริ่มให้การสนับสนุนการสืบสวนสอบสวน ขณะนี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชของฝรั่งเศสและเนเธอร์แลนด์อยู่ประจำอยู่แล้วในยูเครน ขณะที่สหราชอาณาจักรก็ให้สัญญาเช่นกันว่าจะส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปรวบรวมหลักฐานการก่อเหตุรุนแรงทางเพศ
แต่ทั้งหมดนี้ สิ่งที่หลายคนสงสัยก็คือทหารที่ถอยทัพกลับไปยังรัสเซียแล้ว จะถูกดำเนินคดีโดยรัฐบาลรัสเซียหรือไม่ เนื่องจากพวกเขาอยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐบาลในกรุงมอสโกที่สั่งบุกโจมตี และรัฐบาลเดียวกันก็ยังปฏิเสธว่าไม่ได้ก่ออาชญากรรมสงคราม…
ที่มา
https://www.dw.com/en/russian-troops-accused-of-weaponizing-rape-in-ukraine/av-61668504
ภาพ: United Nations
Tags: รัสเซีย, ข่มขืน, ยูเอ็น, ยูเครน, อาชญากรรมสงคราม, Report, UN