บรรยากาศ ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ’ หวนกลับมาอีกครั้ง แน่นอนว่าในครั้งที่ 28 นี้ ยังคงสถานะ ‘สวรรค์ของนักอ่าน’ ทั้งโอกาสพบปะเหล่านักเขียนในดวงใจ โปรโมชันดีๆ จากสำนักพิมพ์ชื่อดัง และเป็นโอกาสอันดีกับการตามล่าหาหนังสือในดวงใจ ไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ซึ่งทั้งหมดนี้มิอาจหาได้จากการเลือกซื้อหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์

ขณะเดียวกัน งานดังกล่าวยังเปิดพื้นที่ให้แต่ละสำนักพิมพ์งัดไม้เด็ดของหนังสือแต่ละเล่ม ผ่านวิธีการโปรโมตสุดครีเอต อย่างไรก็ดี งานหนังสือเป็นอีกช่องทางที่ทำให้หนังสือแต่ละเล่ม ‘เฉิดฉาย’ ด้วยเรียบง่าย นั่นคือได้สัมผัสริมกระดาษ และค่อยๆ บรรจงใช้เวลาอ่านทีละหน้า จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ลักษณะการอ่านแบบเดิมๆ ยังทำหน้าที่กับเหล่าหนอนหนังสือได้ดีเสมอมา

หลังสำรวจบรรยากาศภายในงานสักพัก กลับมีสิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนครุ่นคิด นั่นคือราคาของหนังสือที่ไต่ระดับแพงขึ้นเรื่อยๆ จนอาจปิดโอกาสเข้าถึงของนักอ่านบางราย จึงไม่แปลกใจที่นักอ่านบางกลุ่มจะหันไปพึ่งพาสื่อออนไลน์ ที่เข้าถึงได้ง่ายและเร็วกว่า

เพื่อไขคำถามที่ค้างคาให้กระจ่าง เราจึงถือโอกาสชวน พิพัฒน์ พสุธารชาติ เจ้าของสำนักพิมพ์ Illuminations Editions สำนักพิมพ์ที่เรียกตัวเองว่า ‘ขายนิช’ (Niche) มากกว่าขายแมส มาสนทนาในประเด็นความท้าทายของสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เมื่อต้องปรับตัวสู่ยุค Digital Disruption พร้อมเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสูงลิ่ว สวนทางกับความต้องการของนักอ่าน ในขณะที่ผู้ใหญ่บ้านเราเฝ้าบอกว่า ‘การอ่าน’ คือสิ่งสำคัญร่ำไป

 

ในวันที่ ‘สำนักพิมพ์รายเล็ก’ ปรับตัวสู่ยุค Digital Disruption 

หลังทักทายกันพอหอมปากหอมคอ พิพัฒน์เริ่มแนะนำตัวให้เราฟังว่า เขาเริ่มคำสู่วงการสิ่งพิมพ์ในฐานะคนรักการอ่านหนังสือ ก่อนจะขยับสู่ฐานะ ‘นักเขียน’ ที่สำนักพิมพ์วิภาษา โดยควบงานประจำในตำแหน่งวิศวกรประจำแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวเม็กซิโก

พิพัฒน์เล่าต่อว่า ทันทีที่ตัวเองมีเวลาจากงานราว 3 สัปดาห์ ก็จะกลับมาที่บ้านเพื่อใช้เวลาค้นคว้าข้อมูล ก่อนจะเขียนบทความเพื่อส่งสำนักพิมพ์วิภาษา โดยประเด็นที่เขาสนใจคือสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาส่วนวิทยาศาสตร์ 

พิพัฒน์ใช้เวลาทำงานดังกล่าวราว 4-5 ปี กระทั่งมีโอกาสได้พูดคุยกับ กิตติพล สรัคคานนท์ เจ้าของร้านหนังสือ Books and Belongings ในประเด็นการก่อร่างสร้างสำนักพิมพ์ว่า จะต้องมีคนช่วยเหลือด้านใดบ้าง เช่น ตำแหน่งพิสูจน์อักษรหรือดีไซเนอร์ออกแบบหน้าปก และหลังจากตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองในชื่อ Illuminations Editions ก็เริ่มมีนักเขียนมาเสนอตีพิมพ์ผลงานเป็นระยะบ้าง 

“ถ้าผมชอบ คิดว่าดี ก็ตีพิมพ์” คือเหตุผลสั้นๆ ในการเลือกตีพิมพ์หนังสือสักเล่มของพิพัฒน์ 

Illuminations Editions ตั้งต้นจากพิพัฒน์โดยที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีออฟฟิศ ดังนั้นการขายจึงใช้วิธี ‘ฝากวาง’ ตามร้านหนังสือต่างๆ แต่เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 จึงปรับตัวขายทางออนไลน์แทน โดยมีช่องทางหลักคือเฟซบุ๊ก ซึ่งถือว่าได้รับการตอนรับดีพอสมควร ทว่าว่าช่วงหลังๆ ก็ท้าทายขึ้นตามลำดับ เพราะแต่ละสำนักพิมพ์ต่างงัดกลยุทธ์ดึงดูดลูกค้า 

ซ้ำร้าย การโปรโมตหนังสือผ่านเฟซบุ๊ก ที่เคยเป็นช่องทางหลัก มีความยากลำบากยิ่งขึ้น เมื่อเปลี่ยนระบบเป็น ‘Meta’ ทำให้การเข้าถึงเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มนี้ยากลำบากขึ้น เพราะถูกจำกัดการมองเห็น ดังนั้น ‘การยิงโฆษณา’ จึงเป็นต้นทุนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ 

สำหรับช่องทางออนไลน์อื่นๆ เช่น TikTok ที่กำลังได้รับความนิยม เจ้าของสำนักพิมพ์อิลลูมิเนชันส์ฯ บอกกับเราว่า ที่จริงในงานสัปดาห์หนังสือครั้งนี้ หลายสำนักพิมพ์ต่างใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวเข้ามาช่วยพอสมควร แต่สำหรับสำนักพิมพ์อิลลูมิเนชันส์ฯ การย่อยเนื้อหา (Conceptualize) จากหนังสือซึ่งมีเนื้อหาเป็นวิชาการอาจไม่ตอบโจทย์สักเท่าไร

“ผมยังต้องทำอีกเยอะถึงจะอยู่รอด คือถ้าไม่ใช้ TikTok ก็ต้องเล่นเฟซบุ๊ก ให้เจ๋งกว่านี้” พิพัฒน์กล่าว 

ขั้นตอนการผลิตและต้นทุนกว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่ม

เจ้าของสำนักพิมพ์ Illuminations Editions เล่าให้เราฟังต่อถึงกระบวนการผลิตหนังสือสักเล่ม เริ่มจากขั้นตอนแรก คือการ ‘เลือกหนังสือ’ ที่จะมีอยู่ 2 แบบ คือ 

1. หนังสือต่างประเทศที่จะนำมาแปล 

2. หนังสือภาษาไทยจากนักเขียนไทย โดยมีความแตกต่างคือ ‘ราคาต้นทุนต้นฉบับ’ 

ต่อมาเป็นขั้นตอนของกองบรรณาธิการ ทั้งการพิสูจน์อักษร ดีไซน์หน้าปก จัดหน้ากระดาษ พิสูจน์อักษรอีกครั้ง ก่อนจะแจ้งขอเลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือ (ISBN) จากหอสมุดแห่งชาติ เมื่อครบถ้วนทุกกระบวนความแล้วจึงจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มเพื่อออกวางขาย

พิพัฒน์เน้นย้ำว่า งานหนังสือเป็นงานที่มีความละเอียดอ่อนและกรรมวิธีหลายขั้นตอนโดยสำนักพิมพ์ของเขามีค่าใช้จ่ายหลักๆ คือ 

1. ค่าหน้าปก ส่วนนี้พิพัฒน์ขอสงวนรายละเอียดค่าใช้จ่าย แต่บอกได้แน่ๆ ว่ามี ‘ราคาแพง’ ซึ่งส่วนตัวเขามองว่า ขอเลือกลงทุนกับส่วนนี้ เพราะมองว่าเป็นสิ่งสำคัญและเป็น ‘ด่านแรก’ ที่ผู้อ่านจะเลือกซื้อหนังสือเล่มนั้นๆ อาจจะก่อนชื่อเรื่องหรือชื่อผู้เขียนเสียอีก

2. ค่าพิสูจน์อักษรและค่าจัดหน้า ส่วนมีราคาที่ตายตัวและไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไร

3. ค่าสั่งพิมพ์ ส่วนนี้มีราคาต้นทุนที่สูงเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ค่ากระดาษ’ 

4. ค่าสายส่ง โดยร้านหนังสือแต่ละร้านจะคิดค่าฝากราว 40-42% จากราคาหนังสือเล่มนั้น

5. ค่าต้นฉบับ เจ้าของสำนักพิมพ์อิลลูมิเนชันส์ฯ อธิบายว่า ยิ่งเป็นงานเกี่ยวกับไทยศึกษา ต้นฉบับจะยิ่งมีราคาแพง เพราะงานบางชิ้นต้องกลับไปค้นคว้าเอกสารชั้นต้น ดังนั้น คนเขียนจึงต้องชำนาญ คนพิสูจน์อักษรก็ต้องแม่นยำ ขณะที่หนังสือต่างประเทศจะมีค่าแปลภาษาเพิ่มขึ้นมา

 

อีกหนึ่งความท้าทายของคนทำงานสำนักพิมพ์คือ ‘สุขภาพ’

ที่น่าเห็นใจคือไม่ใช่แค่ปัญหาเรื่องต้นทุน เพราะพิพัฒน์ร่ายยาวถึงสารพันปัญหาด้านสุขภาพที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน ท่ามกลางยุคที่สื่องสิ่งพิมพ์ต้องตื่นตัวเพื่อคอยอัปเดตข่าวสารให้แฟนนักอ่านตลอดเวลา

“สุขภาพของผม (คนทำ) ต้องดี ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาผมแย่มาก นอนไม่หลับ ก่อนหน้านี้ผมกินยานอนหลับแล้วก็โอเคแต่กินไปกินมามันดื้อยา หมอเปลี่ยนสูตรยาให้ผม วันแรกนอนไม่หลับเลย ผมก็ 50 กว่าไม่หนุ่มๆ แล้ว ผมทรมานทำงานไม่ได้

“แล้วเฟซบุ๊กต้องโพสต์เกือบทุกวันเพื่อจะเข้าถึงผู้ติดตาม ยังไม่รวมงานบรรณาธิการที่มีเรื่องต้องทำอีกเยอะ หนังสือทุกเล่มผมต้องอ่านเป็นคนสุดท้าย ถึงชื่อบรรณาธิการเป็นคนอื่นแต่ผมต้องมาตรวจคนสุดท้าย อะไรที่ผิดผมก็ต้องแก้ให้ ผมทำสารพัดเลย บางเล่มก็เหนื่อยมากในการทำ, ก็กำลังคิดอยู่ว่าจะทำ E-Books ดีไหม ต้นปีหน้าอาจจะต้องทำแล้ว เพราะถ้าทำอีบุ๊กคนอยู่ต่างประเทศมันอ่านได้ ซึ่งหลายสำนักพิมพ์เริ่มทำแล้ว ผมอาจจะต้องทำบ้าง” 

อีกสิ่งหนึ่งที่เราได้ฟังแล้วค่อนแปลกใจ นั่นคือความที่หนังสืออิลลูมิเนชันส์ฯ ส่วนใหญ่เป็นแนววิชาการ ในหลายครั้งเขาจึงว่าจ้างอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยหรือนักวิชาการมือฉมังให้แปลหนังสือ เพราะในหลายเล่มค่อนข้างมีหัวข้อเฉพาะทาง ที่ต้องใช้ความชำนาญและต้องมีความลุ่มลึกในประเด็น แต่ในหลายครั้งมักเจอปัญหา ‘แปลไม่เสร็จ ทิ้งงาน เสียลิขสิทธิ์ฟรี’ ถึงแม่ว่าจะเซ็นสัญญาว่าจ้างงานแล้วก็ตาม 

“อาจารย์บางคนรับปากว่าจะเขียนบทความให้ ผ่านมา 5 ปียังไม่ได้เขียนเลย

“บางเล่มบทความครบหมดแล้วเหลือแต่คำนำ แต่เขาไม่ส่งมา บางคนแย่กว่านั้นอีก มาบอกผมว่า อยากแปลเล่มนี้แล้วให้ผมไปขอลิขสิทธิ์ เขาบอกว่าเขาแปลเกือบเสร็จแล้ว สักพักหายไปติดต่อไม่ได้ จนผมต้องไปหาคนอื่นมาแปลแทน”

 

แนวโน้มการเติบโตของสำนักพิมพ์ในไทยที่อาจต้องขายความ ‘Mass’ กว่าเดิม

“แนวโน้มการเติบของสำนักพิมพ์ในไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป” เราถามพิพัฒน์ต่อด้วยความสงสัย

ไม่ช้า เจ้าของสำนักพิมพ์อิลลูมิเนชันส์ฯ ตอบกลับมาทันทีว่า อาจจะต้องทำโมเดลสำนักพิมพ์ให้เป็นธุรกิจอย่างแท้จริง กล่าวคือจำต้องขายความ ‘Mass’ หรือคำนึงถึงผลกำไรเพื่อให้ยังอยู่รอดและไปต่อได้

“มีคนบอกผมว่า ถ้าพิมพ์หนังสือ 5 เล่ม ใน 3 เล่มต้องเป็นหนังสือที่ขายได้ แล้วค่อยเอากำไรจากหนังสือที่ขายได้ เพื่อมาต่อยอดทำหนังสือที่ตัวเองอยากทำ แต่ตอนนี้อิลลูมิเนชันส์ฯ ยังไม่ทำวิธีนั้น”

พิพัฒน์ยกตัวอย่างสำนักพิมพ์ ไลบรารี่ เฮ้าส์ (Library House) ที่แปลวรรณกรรมจากภาษาต่างชาติ ซึ่งก็ได้รับทุนจากสนับสนุนจากสถานทูตหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดีพิพัฒน์ยืนยันว่า ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรงก็จะยังคงราคาหนังสือ เพื่อเอื้อต่อกำลังคนซื้อของคนอ่าน

นอกจากนี้ พิพัฒน์ยังกล่าวยอมรับว่า ราคาของหนังสือในปัจจุบันมีราคาที่แพงขึ้น สวนทางกับค่าครองชีพในประเทศ ทำให้คนทั่วไปมองว่า หนังสือไม่ใช่ปัจจัยสำคัญดังเก่า

“ผมเห็นด้วยนะที่ว่าราคาหนังสือสมัยนี้แพง คือมันแพงจริงๆ เพื่อนผมที่เคยไปเรียนทประเทศอังกฤษเคยเล่าว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ’ ถ้าอยู่อังกฤษ คุณไปทำงานเบอร์เกอร์คิงหรือแม็กโดนัลด์ คุณซื้อหนังสือได้ 10 เล่มเลยนะ ผมยอมรับเลยว่าหนังสือแพงขึ้น แต่กำลังจ่ายของคนไม่เพิ่มขึ้นตามที่ควรจะเป็น

“แต่ในมุมคนผลิตหนังสือก็ลำบากด้วย เราเลยไม่กล้าตั้งราคาหนังสือแพง ฉะนั้น ผมจึงไม่แน่ใจว่าอิลลูมิเนชันส์ฯ จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน” 

 

สิ่งสุดท้ายที่อยากฝาก

ก่อนจะจากกันเจ้าของสำนักพิมพ์อิลลูมิเนชันส์ฯ แนะนำถึงนักอ่านหน้าใหม่ ที่อยากเริ่มอ่านหนังสือแนววิชาการ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และปรัชญาส่วนวิทยาศาสตร์ ว่าถึงจะมีเนื้อหายาก แต่ถ้าเปิดใจลองอ่านย่อมเกิดผลประโยชน์ต่อตัวเอง ขณะที่นักเขียนหน้าใหม่ขอให้หมั่นฝึกฝน แก้ไขขอผิดพลาดให้เป็นนิสัย

“สำหรับนักอ่าน นิสัยการอ่านคือที่ดี ถ้าเจอเล่มไหนที่อ่านยาก อย่าเพิ่งยอมแพ้ ให้อ่านต่อไปก่อน แล้วก็ไปเรื่อยๆ อ่านให้จบ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มเข้าใจ ดังนั้นการอ่านหนังสือยากๆ ถ้าอยากเป็นคนที่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ อย่าเพิ่งวางหรือยอมแพ้ บางทีเราอาจจะชอบมันก็ได้ ขอให้นักอ่านพยายามเป็นแบบนั้น จะได้มีโอกาสอ่านหนังสือที่หลากหลายขึ้น

“ส่วนนักเขียน เขียนไปก่อน คิดไม่ออกก็พยายามเขียน การเขียนบทความต้องแก้แล้วแก้อีก เกลาไปเรื่อยๆ บางทีภาษาและการเขียนจะทำให้ความคิดเราชัดเจนขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ยิ่งเขียนมากก็ยิ่งดี”

ทั้งนี้ พิพัฒน์ทิ้งท้ายถึง ‘ความคาดหวัง’ จากผู้อ่านไว้ได้น่าสนใจ โดยระบุว่า การอ่านยังคงเป็นสารตั้งต้นที่ทำให้คนกล้าที่จะตั้งคำถามต่อสิ่งที่สงสัย และมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตต่อไป

“การอ่านยังคงมีพลังในแง่ของการทำให้คน ‘กล้าตั้งคำถาม’ และ ‘เชื่อในสิ่งที่คิด’ ไม่ได้เชื่อเพราะว่าถูกสอนมาให้เชื่อ แต่เชื่อด้วยตัวเราเองว่าเราใช้เหตุผลและไตร่ตรอง และคิดว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ถูกต้อง นี่แหละคือเป้าหมายของการเป็นมนุษย์ คิดต่างกันไม่เป็นไรแต่ขอให้กล้าคิด”

Tags: , , , , ,