หากไม่มีอะไรผิดพลาด ในปีนี้สนามบินนานาชาติเตโช สนามบินนานาชาติแห่งใหม่ของกรุงพนมเปญ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกันดาลของกัมพูชา มูลค่ากว่า 1,500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาท) จะเริ่มเปิดให้บริการเป็นครั้งแรก ภายใต้วิสัยทัศน์เปลี่ยนพนมเปญให้เป็นสิงคโปร์ใหม่ โดยหากสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2050 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า สนามบินแห่งนี้จะเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก

คำว่า เตโชในภาษากัมพูชา หมายถึง แม่ทัพ ซึ่งกษัตริย์กัมพูชาเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น โดยโครงการก่อสร้างระยะหลังมักใช้ชื่อ เตโชเป็นชื่อหลัก ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬาแห่งชาติใหม่ก็ใช้ชื่อเตโช หรือคลองแห่งใหม่ที่เชื่อมพนมเปญกับอ่าวไทย เมกะโปรเจกต์ของ สมเด็จฮุน เซน ก็ใช้ชื่อว่า คลองฟูนันเตโช

ตามแผนงาน อาคารผู้โดยสารของสนามบินแห่งนี้จะมีความสูงทั้งสิ้น 45 เมตร 5 ชั้นเหนือพื้นดิน และ 1 ชั้นใต้ดิน ออกแบบโดยฟอสเตอร์สแอนด์พาร์ตเนอร์ (Foster & Partners) บริษัทสถาปนิกระดับโลกจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่เคยมีผลงานในการก่อสร้างอาคารสนามบินเช็กแล็บก๊อกในฮ่องกง รวมถึงอาคารรัฐสภาไรซ์ทาค (Reichstag) ในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี 

รายละเอียดของการออกแบบ เป็นต้นว่า หลังคาได้รับแรงบันดาลใจจากป่าดงดิบของกัมพูชา และ ฟางแบบดั้งเดิม โดยมีฟังก์ชันในการให้ร่มเงาช่วยระบายอากาศ และลดการใช้เครื่องปรับอากาศ ขณะเดียวกันภายในอาคารผู้โดยสารจะเต็มไปด้วยสวนป่า ต้นไม้ พืชพรรณสีเขียว สวนแนวตั้ง สวนดาดฟ้าโดยใช้พืชท้องถิ่นของกัมพูชา ขณะที่แหล่งพลังงานจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก โดยฟอสเตอร์สแอนด์พาร์ตเนอร์ยืนยันว่า หากเสร็จสมบูรณ์ สนามบินนี้จะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก

หลังจากล่าช้ามาแล้วราว 1 ปี สนามบินนานาชาติแห่งใหม่มีกำหนดเปิดในช่วงกลางปีนี้ และคาดว่าจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ราว 15 ล้านคน เฟสที่ 2 ซึ่งจะมีอาคารผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 1 หลัง เป็นลักษณะบูมเมอแรง จะสามารถรับผู้โดยสารได้ราว 30 ล้านคน และเฟสสุดท้ายเสร็จสิ้นในปี 2050 จะรองรับผู้โดยสารได้ทั้งสิ้น 50 ล้านคนต่อปี 

สำหรับเงินลงทุน แบ่งออกเป็นเงินลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน ข้อมูลก่อนหน้านี้ระบุว่าเงิน 1,500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทุนใหญ่มาจาก Overseas Cambodian Investment Corporation (OCIC) บริษัทลงทุนชั้นนำของกัมพูชาที่ใกล้ชิดกับสมเด็จ ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรี พ่อของ ฮุน มาเนต นายกฯ คนปัจจุบัน โดยก่อนหน้านี้ OCIC เคยได้รับสัมปทานพัฒนาที่ดินใน เกาะเพชรพื้นที่กลางแม่น้ำโขงในพนมเปญ แม้จะมีหลายคนค่อนขอดว่าทุนใหญ่เป็น ทุนจีนทว่า OCIC ประกาศว่า ทุนประเดิมราว 500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ มาจากการระดมทุนในกัมพูชาทั้งสิ้น 

ทั้งนี้กัมพูชาตั้งเป้าไว้ว่า หากสนามบินเริ่มเปิดให้บริการ สนามบินนานาชาติเตโชจะเทียบชั้นสนามบินชางงี ประเทศสิงคโปร์ ที่ปัจจุบันรองรับผู้โดยสารได้ราว 50 ล้านคนต่อปีเช่นกัน อย่างไรก็ตามกัมพูชาเชื่อว่าที่ตั้งสนามบินนานาชาติเตโชนั้นดีกว่าชางงีของสิงคโปร์ที่ค่อนไปทางตอนใต้ ขณะเดียวกันกัมพูชายังคาดหวังการเป็น ฮับการเดินทางและการท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเหมือนกับที่สิงคโปร์ทำสำเร็จกับสนามบินชางงี ที่ทำให้สิงคโปร์สามารถเชื่อมตัวเองกับโลกภายนอก เป็นฮับการบินของโลก นับตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อปี 1981 

กระนั้นเอง สนามบินนานาชาติเตโชก็เต็มไปด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้นว่าการเดินทาง 30-40 กิโลเมตรจากพนมเปญนั้นยังเป็นไปอย่างยากลำบาก หลายพื้นที่รอบๆ ยังคงไม่มีไฟฟ้าใช้ ขณะที่โครงการวางแผนไว้ใหญ่โต แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยังพนมเปญยังมีไม่มากนัก รวมถึงในตัวเมืองพนมเปญเองก็ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ไม่ได้มีกิจกรรมอื่นๆ ให้ทำ แตกต่างจากสิงคโปร์ แตกต่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ขณะเดียวกันหลายฝ่ายยังตั้งคำถามว่า มี ทุนจีนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ เพราะทุนจีนเคยสร้างหายนะที่สีหนุวิลล์มาก่อนแล้ว แม้ OCIC จะยืนยันว่า ทุนหลักจะมาจากนักลงทุนกัมพูชาเองก็ตาม

ตัวเลขเมื่อปี 2023 มีผู้โดยสารใช้บริการสนามบินพนมเปญเดิมเพียง 3.9 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับสนามบินชางงีที่มีผู้โดยสารกว่า 58.9 ล้านคน หรือสนามบินสุวรรณภูมิที่มีผู้โดยสารกว่า 51.6 ล้านคน หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สนามบินแห่งใหม่ของกัมพูชาจะ ร้างและอาจสร้างหนี้ให้กัมพูชา มากกว่าจะเป็น โอกาสอย่างที่หลายคนคาดหวัง

ที่มา

              https://www.khmertimeskh.com/501577694/phnom-penhs-new-airport-likely-to-transform-the-city-into-a-new-singapore/

              https://www.youtube.com/watch?v=gyxyUfDCXTE

               https://english.news.cn/20240313/4511e8532f5d4056a28c274496d63e28/c.html

ภาพ: Foster + Partners

Tags: , ,