วันนี้ (30 ตุลาคม 2567) ที่ศูนย์การค้าสามย่าน มิตรทาวน์ มีการจัดงานเสวนา ‘Adapting to Climate Change ปรับไทยให้รอดในยุคโลกเดือด’ ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยในช่วงเวลา 14.30 น. มีกำหนดการเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เคลื่อนประเทศ ปรับไทยให้รอดในยุคโลกเดือด’ โดยมีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี, วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.), ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน และสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ป่าสาละ จำกัดและ Climate Finance Network Thailand เข้าร่วมการเสวนา
โดยในเซสชั่นแรกของการเสวนา เป็นการพูดคุยในประเด็นปัญหาที่พบของการ ‘ปรับตัว’ ในยุคโลกเดือด วราวุธเป็นผู้อภิปรายคนแรกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยมูลค่ากว่า 7.71 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.48 แสนล้านบาท) ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่ส่งผลต่อโดยตรงต่อภาคการผลิต ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม อีกทั้งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเป็นประชากรกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และคนยากไร้ จึงต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
สิ่งที่กระทรวง พม. กำลังทำคือ การขยายผลต่อจากแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Adaptation Plan: NAP) เพื่อเป็นแนวทางให้หลายภาคส่วนมีความพร้อมรองรับต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป
วราวุธกล่าวต่อว่า การสร้างความเข้มแข็งให้กับทรัพยากรมนุษย์ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ผ่านการสร้างองค์ความรู้ การศึกษา และผลักดันให้ประชาชนปรับตัวตามมาตรการที่ออกมา
“วันนี้เวลาเหลือน้อยมาก Climate Clock เหลือเวลาไม่ถึง 4 ปี ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนเป็นลำดับที่ 26 ของโลก แต่มีความเสี่ยงเป็นลำดับที่ 9 ของโลก พม. กำลังเร่งแก้ไขและให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มากขึ้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. กล่าว
ขณะที่สฤณีเสนอปัญหาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศไว้ว่า ปัจจุบันการพูดถึงเพียงแค่คำว่า ‘Adaptation’ อาจจะไม่เพียงพอ เพราะการปรับตัวบางเรื่องนั้นเป็นไปได้ยาก หรืออาจจะเป็นไม่ได้เลย ดังนั้นแล้ววันนี้ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับคำว่า ‘Resilence’ ที่จะทำอย่างไรให้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบกลับมาฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมี 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการ ได้แก่
- ‘การประเมินผลกระทบ’ ภาครัฐต้องมีการประเมินผลกระทบว่าเป็นอย่างไรบ้าง สามารถสร้างโอกาสจากความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ผ่านการวิเคราะห์ออกเป็นฉากทัศน์ต่างๆ และจัดทำชุดข้อมูลกลาง เช่น แผนที่ความร้อน หรือแผนที่น้ำท่วม เป็นต้น
- ‘การเงิน’ ปัจจุบันเริ่มเห็นสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) เพื่อการลงทุนในพลังงานสะอาด เพราะสถาบันการเงินเริ่มเชื่อมั่นว่าจะได้รับตอบรับที่สามารถคำนวณเป็นเม็ดเงินทางเศรษฐกิจได้
สฤณียังกล่าวเพิ่มเติมว่า จะต้องเปลี่ยนทัศนคติของหลายฝ่ายให้มองว่า การลงทุนเพื่อการปรับตัวนั้นคุ้มค่ากว่าการไม่ลงทุน ขณะที่ภาครัฐเองก็จะต้องลดการลงทุนในการก่อสร้างโครงสร้างทางวิศวกรรม (Grey Infrastructure) เช่น ฝาย หรือเขื่อนในพื้นที่ต้นน้ำ และนำเงินมาลงทุนเพื่อรับมือความเสี่ยงในมิติอื่น รวมถึงลดเงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนเป็นจำนวนมาก
ด้านอภิสิทธิ์ได้ระบุถึง แนวทางการผลักดันให้เกิดนโยบายการปรับตัวเพื่อรองรับกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไปว่า จะต้องขับเคลื่อนด้วย 3 ปัจจัยหลัก คือ ‘กระแสสังคม-ความรู้-การเมือง’
โดยปัจจัยแรก ‘กระแสสังคม’ อภิสิทธิ์กล่าวว่า โชคดีที่คนไทยนั้นตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน ไม่เหมือนสหรัฐอเมริกา แต่ก็ยังมีอุปสรรคคือ คนไทยรู้สึกว่าปัญหาโลกร้อนนั้นยังไกลตัวจากพวกเขา ดังนั้นภาครัฐจะต้องผลักดันให้ความเข้าใจดังกล่าวหมดไป
ปัจจัยที่สอง ‘ความรู้’ ปัจจุบันนั้นองค์ความรู้ในเรื่องของการปรับตัวยังมีไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น ภาคการผลิตที่ไม่รู้ว่าจะต้องปรับตัวอย่างไร หรือเมืองจะทำให้ยืดหยุ่นอย่างไรเพื่อรองรับกับสภาพอากาศ เพราะข้อมูลที่มียังไม่สามารถเชื่อมต่อในกลไกการบูรณาการขึ้นเกิดขึ้นจริงได้
ปัจจัยที่สาม ‘การเมือง’ ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ไม่มีกระทรวงใดสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง อีกทั้งภาคการเมืองยังประสบปัญหาขาดความเชื่อมั่น เพราะมีความระแวงว่านักการเมืองจะเข้ามาหาผลประโยชน์
อดีตนายกฯ ระบุย้ำว่า หากขาดปัจจัยใดไปจะทำให้การผลักดันให้เป็นนโยบายนั้นจะเกิดขึ้นได้ยาก
ด้านศิริกัญญาให้ความเห็นในประเด็นดังกล่าวว่า ปัจจุบันการทำงานขับเคลื่อนนโยบายเรื่องการปรับตัวนั้นทำได้ง่ายมากขึ้น หากมีการพูดถึงเรื่องคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) หรือการลงทุนพลังงานสะอาด อีกทั้งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในภาคเหนือที่ผ่านมา เป็นตัวกระตุ้นทำให้งานขับเคลื่อนง่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตามภัยพิบัติที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้น ยังเป็นหลักฐานชั้นดีถึงปัญหาการจัดการของรัฐบาล เพราะระบบเตือนภัยไม่ควรจะเป็นในรูปแบบข้อความ SMS ผ่านเครือข่าย แต่ควรจะเป็นระบบ Cell Broadcast System (CBS) ที่ส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังประชาชน
ขณะที่การเยียวยา ประชาชนก็ยังประสบกับปัญหาเดิมคือ การแจกเอกสารสิทธิ์ ว่ามีสิทธิ์ในการรับการเยียวยาจากรัฐบาลหรือไม่ ซึ่งนับว่าเป็นข้อท้าทายในอนาคตว่าจะทำอย่างไรต่อไป
ในส่วนของกฎหมาย รองหัวหน้าพรรคประชาชนระบุว่า มี 2 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา นั่นคือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี และร่างพ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โดย พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น ศิริกัญญากล่าวว่า เป็นเครื่องสะท้อนความจริงใจในการแก้ไขปัญหาว่าเป็นอย่างไร ซึ่งทิศทางการใช้งบประมาณในปัจจุบันยังคงเป็นไปเพื่อการสร้างแหล่งเก็บน้ำในทุกปี ซึ่งตนมองว่าไม่สามารถรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนได้
ในเซสซั่นครึ่งหลังของงานเสวนา จะเป็นการพูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการรับมือต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป อภิสิทธิ์เสนอว่า การจัดสรรงบประมาณจะต้องมองจากภาพรวม ดังนั้นหัวหน้ารัฐบาลจะต้องเป็นแกนนำสำคัญในการกำหนดทิศทางการใช้เงินให้เป็นลักษณะจากบนลงล่าง ปัจจุบันด้วยปัจจัยทางการเมืองทำให้รัฐมนตรีกลายเป็นเจ้ากระทรวงที่มีการแบ่งงบประมาณกันไว้ ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหา การบูรณาการระหว่างกระทรวงจึงเป็นเรื่องสำคัญ
นอกจากนั้น ‘การกระจายอำนาจ’ ที่ให้ท้องถิ่นสามารถบริหารจัดการภายใน ทั้งในเรื่องของทรัพยากรและงบประมาณ เป็นอีกหนึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาที่อดีตนายกฯ เสนอไว้
ด้านสฤณีได้เสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนของผู้ประกอบการไว้ทั้งหมด 4 ประเด็น ดังนี้
- ‘ทัศนคติ’ นับเป็นโจทย์สำคัญของภาครัฐที่ต้องทำให้หลายฝ่าย มองเห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น หากไร้การปรับตัว ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของภาครัฐจะต้องคลี่ประเด็นดังกล่าว โดยอาศัยองคาพยพ ทำให้ผู้ประกอบการรายกลางและรายย่อย (SMEs) มองเห็นถึงปัญหา
- การลงทุนที่ไม่ส่งผลดีต่อการปรับตัว จำพวกการก่อสร้างเชิงวิศวกรรม (Grey Infrastructure) รัฐต้องมองให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงเพื่อไปนำสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน
- วิธีการจูงใจของรัฐที่เป็นโมเดล ‘Stick and Carrot’ จากเดิมที่การจูงใจจะใช้กับเอกชนรายใหญ่ และการบังคับจะใช้กับผู้ประกอบการรายย่อย จะต้องสลับปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างความสมดุล
- ภาครัฐจะต้องออกมาตรการจูงใจทางภาษี เพื่อให้เอกชนรายใหญ่ที่มีแผนการปรับตัวเรียบร้อยแล้วทำให้ที่เป็น ‘พี่เลี้ยง’ ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างยั่งยืน