ใช้เวลาเพียง 1 ปีเศษ นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันประกาศชัยชนะเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2021 จากการยึดครองเมืองต่างๆ ทั่วอัฟกานิสถานได้โดยสมบูรณ์ หลังจากทำสงครามยืดเยื้อยาวนานถึง 20 ปี กลุ่มตาลีบันได้ทำลายสิทธิสตรีและเด็กหญิงในอัฟกานิสถาน ทั้งในเรื่องการศึกษา การทำงาน และการเคลื่อนไหวอย่างเสรีลงอย่างราบคาบ อีกทั้งยังกักขังผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่มองว่าฝ่าฝืนกฎของกลุ่มตาลีบัน มีการบังคับแต่งงาน และมักจะจัดการสตรีที่ประท้วงข้อจำกัดเหล่านี้ ทั้งด้วยวิธีคุกคาม จับกุม บังคับให้สูญหาย กักขังตามอำเภอใจ และทรมาน

อดิลา (Adila) นักข่าวคนหนึ่งในอัฟกานิสถานบอกว่า การเป็นสุภาพสตรีในอัฟกานิสถานนั้นเท่ากับ ‘ตายแล้ว’ และเป็นการตายแบบ ‘สโลว์โมชัน’

องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) สำรวจวิถีชีวิตของผู้หญิงอัฟกันที่อยู่ภายใต้กฎของกลุ่มตาลีบันตั้งแต่เดือนกันยายน 2021-มิถุนายน 2022 อายุตั้งแต่ 14-74 ปี รวม 90 คน จาก 20 จังหวัดทั่วอัฟกานิสถาน จนได้ข้อสรุปว่า มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะในแง่มุมของการศึกษา การทำงาน การเคลื่อนไหว ไปจนถึงการแต่งกาย

ในด้านการศึกษา รัฐบาลตาลีบันไม่อนุญาตให้ผู้หญิงจำนวนมากกลับเข้าไปศึกษาในระดับมัธยมฯ เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2022 ที่รัฐอ้างว่า ‘เกิดข้อขัดข้องทางเทคนิค’ เกี่ยวกับเครื่องแบบนักเรียนหญิง ทำให้นักเรียนมัธยมฯ คนหนึ่งต้องถูกส่งกลับบ้านทันที ฟาติมา ครูวัย 25 ปี ในจังหวัดนากาฮาร์บอกว่า เด็กเหล่านี้ต้องการมีอนาคต และขณะนี้พวกเขามองไม่เห็นอนาคต เชื่อได้เลยว่าเด็กผู้หญิงอีกหลายล้านคนก็มองเห็นแบบเดียวกัน และรอที่จะแสดงออกอะไรบางอย่าง

ขณะที่ระดับมหาวิทยาลัย มีการล่วงละเมิดนักศึกษาหญิงจากกลุ่มตาลีบันจำนวนมาก ตลอดจนจำกัดพฤติกรรม รูปแบบการแต่งกาย และโอกาสของนักศึกษา สภาพแวดล้อมในรั้วมหาวิทยาลัยสำหรับนักศึกษาหญิงยังไม่ปลอดภัย ในตอนแรกมีการ ‘จับแยก’ นักศึกษาชายและนักศึกษาหญิง รวมถึงเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรงในส่วนของนักศึกษาหญิง โดยตั้งกฎเกณฑ์จำนวนมากเพื่อกีดกันนักศึกษาหญิง ยังผลให้นักศึกษาหญิงจำนวนมากตัดสินใจเลิกเรียน หรือไม่ลงทะเบียนในมหาวิทยาลัยที่มีส่วนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยและเสียเปรียบนักศึกษาชาย

หลังจากนั้น สำนักข่าวเอ็นพีอาร์ (NPR) ระบุว่า เซียอุลลาห์ ฮาชมี (Ziaullah Hashmi) โฆษกกระทรวงศึกษาธิการของอัฟกานิสถาน ได้แจ้งไปยังมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2022 ว่า มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนจะดำเนินการแบนนักศึกษาหญิงโดยเร็วที่สุด อีกทั้งยังไม่ได้แจ้งเหตุผลใดๆ เพิ่มเติม

คำสั่งห้ามเข้ามหาวิทยาลัยมีขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากเด็กหญิงชาวอัฟกันเข้าสอบเพื่อจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย แม้ว่าพวกเธอจะถูกห้ามไม่ให้เข้าห้องเรียนตั้งแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองประเทศเมื่อปีที่แล้ว
“ฉันไม่อาจเติมเต็มความฝันและความหวังของฉันได้ ทุกอย่างหายไปต่อหน้าต่อตาและฉันก็ไม่สามารถทำอะไรกับมันได้เลย” นักศึกษาด้านวารสารศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยนาดาฮาร์ระบุ

“การเป็นผู้หญิงเป็นอาชญากรรมหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนั้น ฉันคงไม่อยากเกิดเป็นผู้หญิง” เธอกล่าวเสริม “พ่อของฉันมีความฝันสำหรับฉันว่าลูกสาวของเขาจะกลายเป็นนักข่าวที่มีความสามารถในอนาคต สิ่งนั้นถูกทำลายแล้ว”

อย่างไรก็ตาม เธอเสริมว่าเธอยังไม่หมดความหวัง เธออาจเรียนผ่านคอร์สออนไลน์ และหากยังไม่สำเร็จก็คงต้องออกจากประเทศนี้ไปยังประเทศอื่น

ก่อนหน้านั้นเพียง 1 เดือน ตาลีบันเพิ่งประกาศห้ามไม่ให้สุภาพสตรีเดินทางไปยังสวนสาธารณะและงานรื่นเริงต่างๆ ภายในเมืองหลวง นั่นทำให้สวนสนุกแห่งหนึ่งประสบปัญหาด้านรายได้อย่างรุนแรง และประชาชนจำนวนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วจะมีเงินทุนไหลเวียนเข้ามาจากต่างประเทศจากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้หรือไม่ หากยังมีข้อจำกัดในลักษณะนี้

ทางการตาลีบันยังมีกฎพิเศษอีกข้อ คือไม่อนุญาตให้แท็กซี่รับผู้โดยสารหญิงที่ไม่ปฏิบัติตามหลักการแต่งกายแบบอิสลามอย่างเคร่งครัด ด้วยการสวมฮิญาบหรือผ้าคลุมศีรษะแบบอิสลาม และยังออกกฎใหม่ว่า คนขับแท็กซี่หรือรถรับจ้างไม่ควรรับผู้หญิงเดินทางเกิน 72 กิโลเมตรเพียงลำพัง โดยจำเป็นต้องมี ‘ผู้ชาย’ เดินทางด้วยเท่านั้น

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้การปฏิบัติตามกฎศาสนาอย่างเข้มข้น โดยเริ่มส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเรื่องความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติ

ก่อนหน้านี้ไม่นาน อันโตนิโอ กูเตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติเคยออกมาประณามการตัดสินใจเรื่องการจำกัดสิทธิสตรีว่า เป็นการทำผิดคำสัญญาของรัฐบาลตาลีบันอย่างชัดเจน และเป็นความคลื่อนไหวที่น่าหนักใจมาก รวมถึงเป็นการยากที่จะจินตนาการถึงการพัฒนาประเทศโดยปราศจากการมีส่วนร่วมของสุภาพสตรี

เนื่องในวันสตรีสากลปีนี้ กูเตร์เรสได้กล่าวสุนทรพจน์ตอนหนึ่งว่า ความก้าวหน้าในเรื่อง ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ กำลังค่อยๆ จางหายไป ‘ต่อหน้าต่อตา’ ของเรา และอาจต้องใช้เวลามากกว่า 300 ปี ความเท่าเทียมทางเพศจึงจะเกิดขึ้นจริง

ที่มา

https://www.amnesty.org/en/documents/asa11/5685/2022/en/

https://www.npr.org/2022/12/20/1144419844/taliban-bans-afghanistan-women-universities

https://www.dw.com/en/taliban-are-revoking-afghan-womens-hard-won-rights/a-60283590

https://edition.cnn.com/2023/03/07/world/un-gender-equality-300-years-intl-hnk/index.html

Tags: , , , ,