เก้าอี้วัด อาคาร แผ่นฟิล์มมัว เหล่านี้คือสิ่งที่ถูกนำมาตั้งวางไว้สำหรับผู้มาเยี่ยมเยือน ‘จุดชมเครื่องบิน’ สนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณชั้น 7 ของอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บรรยากาศในวันนี้เป็นไปด้วยความเงียบเหงา มีผู้คนแวะเวียนเข้าไปชมเครื่องบินประปราย
‘จุดชมเครื่องบิน’ หรือในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Observation Deck เป็นพื้นที่สำหรับสังเกตการขึ้น-ลงอากาศยาน สำหรับผู้มีความชื่นชอบและหลงใหลในอากาศยานทั้งเล็กใหญ่ ทั้งยังเป็นจุดพักผ่อนหย่อนใจผู้โดยสาร ซึ่งการเลือกจุดชมเครื่องบินภายในสนามบิน ส่วนใหญ่มักใช้บริเวณที่มีทัศนวิสัยกว้าง ไร้การบดบังของสิ่งปลูกสร้าง มีที่นั่งยึดพื้นมั่นคงเตรียมไว้สำหรับผู้มาเยือน หรืออาจใช้พื้นที่นอกอาคารผู้โดยสาร สำหรับชมอากาศยานด้านนอก โดยมีรั้วกั้นระยะการชมไว้เพื่อความปลอดภัย
แต่กับสนามบินสุวรรณภูมิกลับเป็นอีกอย่าง แม้จะมีการจัดจุดชมเครื่องบินไว้เป็นอย่างดีที่ชั้น 7 แต่กลับมีพื้นที่นั่งชมอากาศยานเพียงน้อยนิด ต้องเสริมด้วยเก้าอี้พลาสติกคล้ายที่นั่งวัด ไม่สามารถยึดพื้น และสามารถเคลื่อนย้ายได้ ขณะที่บริเวณป้าย ‘จุดชมเครื่องบิน’ ก็ทาทับด้วยฟิล์มเบลอ จากเดิมที่เป็นกระจกใสมองออกไปนอกอาคารได้
สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนตุลาคม 2566 จนถึงเดือนมีนาคม 2567 ทอท.มีกำไรสุทธิมากกว่า 1.03 หมื่นล้านบาท และถือเป็นหนึ่งในองค์กรบริหารสนามบินที่มีผลประกอบการดีที่สุดในโลก โดยมีอานิสงส์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมากกว่า 27 ล้านคน (ตัวเลขเมื่อปี 2566)
ทั้งนี้ กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการอำนวยการใหญ่ท่าอากาศยานไทย พยายามยึดเอาสนามบินนิวชิโตเสะ (New Chitose Airport) บนเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกยกให้เป็นสนามบินที่มีการพัฒนาดีที่สุดในโลกประจำปี 2567 จากการจัดอันดับของสกายแทรกซ์ (Skytrax) ว่า จะใช้สนามบินดังกล่าวเป็น ‘โมเดล’ พัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เน้นการบริหารเชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน ไม่ได้เน้นเพียงกำไร เพื่อให้ผู้โดยสารใช้พื้นที่ของสนามบินได้เต็มศักยภาพ
แม้สนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินนิวชิโตเสะจะได้รับการจัดอันดับสนามบินไม่ห่างกันมาก (อันดับที่ 58 และ 49 ตามลำดับ) แต่หากเทียบเฉพาะจุดชมเครื่องบินของสนามบินสุวรรณภูมิในวันนี้ ยังคงห่างชั้นกับสนามบินนิวชิโตเสะมากโข สนามบินนิวชิโตเสะได้รับการยกย่องว่า เป็นหนึ่งในสนามบินที่มีจุดชมเครื่องบินที่ดีที่สุดในโลก แต่กับสนามบินสุวรรณภูมิ บริเวณที่ถูกคาดหวังให้ผู้มาใช้บริการท่าอากาศยานที่ควรมองเห็นเครื่องบิน กลับกลายเป็นมองเห็นสิ่งปลูกสร้าง และโครงเหล็กที่ยึดโครงสร้างอาคารผู้โดยสาร ขณะเดียวกัน ที่นั่งในบริเวณจุดชมเครื่องบินยังคงมีอยู่อย่างจำกัด จนต้องเสริมด้วยที่นั่งพลาสติกบริการผู้มาเยือน
ที่สำคัญ วิสัยทัศน์ของจุดที่ถูกคาดหวังให้เป็นจุดชมเครื่องบิน ของเหล่าผู้หลงใหลอากาศยานกลับกลายเป็นภาพอาคารผู้โดยสารตั้งตระหง่าน แทนจะได้เห็นอากาศยานลำใหญ่ยักษ์ กระทั่งมีหลายคนตั้งคำถามว่า “นี่คือจุดชมเครื่องบิน หรือนี่คือจุดชมโครงสร้างสนามบิน”
Tags: ท่าอากาศยานไทย, เครื่องบิน, กรุงเทพ, จุดชมเครื่องบิน, สนามบินสุวรรณภูมิ, ทอท.