วันนี้ (23 พฤศจิกายน 2566) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปาฐกถาพิเศษ ‘Future Ready Thailand’ ในงาน The Standard Economic Forum ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ต้องยอมรับคือ ทศวรรษที่ผ่านมา ตัวตนของประเทศไทยในเวทีโลกแทบไม่เกิดขึ้น ความภาคภูมิใจในการค้าขาย ในการทำให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทย ภูมิใจในสินค้าไทย และในศักยภาพของประเทศไทยมีน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะรัฐบาลในเวลานั้นให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นก่อน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลชุดนี้มีความตั้งใจในการคืนศักดิ์ศรีประเทศไทยในเวทีโลกให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อให้คนไทยหัวใจฟูในการทำให้ประเทศไทยสามารถยืนหยัดในเวทีโลก ต่อสู้กับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศคู่แข่งในการนำประเทศไทยให้กลับมาอีกครั้ง โดยเป็นยุทธศาสตร์ ‘การทูตเชิงรุก’
เศรษฐายังระบุด้วยว่า ในเวลาที่ผ่านมา พยายามนัดพบและเชิญนักธุรกิจต่างประเทศเพื่อหาโอกาสทำธุรกิจร่วมกัน ตั้งแต่การประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเมื่อเดือนกันยายน จนถึงการประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อพูดคุยและเชื้อเชิญว่าประเทศไทยมีอะไรดีบ้าง และอธิบายว่าในขณะนี้ มีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง มีนายกฯ มาจากพลเรือนแล้ว และประเทศไทยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกัน มาตรการสนับสนุนต่างๆ โดยภาครัฐก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น มีการสนับสนุนด้านภาษี พร้อมดึงนักลงทุนให้ลงทุนด้านอุตสาหกรรมไฮเทค แต่ทั้งหมดนี้จะประสบความสำเร็จได้ยังต้องใช้เวลา
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังมีข้อดีเรื่อง ‘พลังงานสะอาด’ ที่พร้อมดึงดูดนักลงทุน พร้อมให้เกิดการตั้งโรงงานใหม่ๆ โดยประเทศคู่แข่งบางประเทศถึงขีดจำกัดแล้วในการที่จะให้มีการลงทุนใหม่ๆ ควบคู่ไปกับเรื่องพลังงานสะอาด แต่ประเทศไทยยังมีศักยภาพในเรื่องนี
นอกจากนี้ รัฐบาลยังพร้อมเดินหน้าเรื่อง ‘การทูตเชิงรุก’ ด้วยการตั้งตัวชี้วัดให้กับเอกอัครราชทูตไทยในประเทศต่างๆ ครั้งใหญ่
“องค์กรใหญ่ๆ จากต่างประเทศที่จะเข้ามาได้ต้องได้รับการเผยแพร่ข้อมูลที่ดี ข้อมูลที่ถูกต้อง ผมเลยได้ไปประชุมทูตานุทูตจากทั่วโลก ทูตพาณิชย์ของไทยที่ประจำอยู่ที่ต่างๆ ชวนให้เขากลับมาประชุมที่ประเทศไทย เพื่อจะบอกในนามรัฐบาลว่า ทูตพาณิชย์ เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ ต้องทำการทูตเชิงรุก ต้องมีความรู้ในการออกไปขายจุดแข็งของประเทศไทย จำเป็นต้องเข้าใจว่าประเทศนั้นๆ ที่เขาไปประจำอยู่ ต้องการอะไรจากประเทศไทยบ้าง เอกชนอะไรของประเทศนั้นๆ ที่แข็งแกร่งแล้วพร้อมเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ใช่เป็นแค่ทูตอย่างเดียวแล้วทำแต่เรื่องพิธีการ ตั้งเป็น KPI ใหม่ขึ้นมา”
ขณะเดียวกัน ทูตเหล่านี้ต้องทำงานร่วมองค์กรของรัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) โดยเป็นโอกาสดีที่จะขยายบีโอไอออกไปยังประเทศที่มีการลงทุนใหม่ๆ เช่น ซาอุดีอาระเบีย นอกจากนี้ ในการเดินทางเยือนต่างประเทศของรัฐบาล ก็จะพยายามชวนเอกชนเดินทางไปด้วยให้มากที่สุด เพื่อให้มีการหารือกันระหว่างเอกชนกับเอกชน ดึงดูดต่างประเทศให้เข้ามาลงทุน เพราะต้องยอมรับว่า ถ้าไม่มีการลงทุนต่างประเทศ ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่อยู่กับเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมรายได้ต่ำอย่างเดียว แต่ทั้งหมดต้องใช้เวลาพอสมควร
เศรษฐายังยอมรับด้วยว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจอยู่ในระดับที่ ‘ไม่ดี’ และยังมีข้อถกเถียงระหว่างตนเอง กับเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าเป็น ‘วิกฤต’ หรือไม่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องทำทุกวิถีทางในการลดรายจ่ายประชาชน ผ่านการลดค่าน้ำมัน ลดค่าไฟ พักหนี้เกษตรกร รวมถึงให้นักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้น ขณะเดียวกัน การยกระดับอุตสาหกรรมไฮเทคเพื่อให้รายได้สูงขึ้น จำเป็นต้องใช้เวลา และ 1 ปีอาจยังไม่เห็นผล ฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำวันนี้นอกเหนือจากลดค่าไฟ ลดราคาน้ำมัน ก็จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านโครงการ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โดยผ่านการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งอาจช้าบ้าง แต่ทุกอย่างเป็นไปอย่างรอบคอบ และเกิดจากการรับฟังความเห็นของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง
Tags: เศรษฐา ทวีสิน