รัฐบาลสเปนเตรียมเสนอร่างกฎหมายความลับทางราชการฉบับใหม่ต่อรัฐสภา โดยหนึ่งในเนื้อหาสำคัญคือ การปลดล็อกเอกสารลับที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งจะรวมถึงข้อมูลลับในยุคของ ฟรานซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco) อดีตผู้นำเผด็จการ เช่น สถานที่ฝังร่างฝ่ายตรงข้ามที่ถูกรัฐบาลสังหาร ขณะที่กลุ่มเคลื่อนไหวเชื่อว่า กฎหมายนี้อาจเปลี่ยนประวัติศาสตร์ของประเทศ
ทั้งนี้รัฐบาลฝ่ายซ้ายภายใต้การนำของ เปโดร ซานเชซ (Pedro Sánchez) นายกรัฐมนตรีสเปน วางแผนปฏิรูปกฎหมายความลับทางราชการในยุคนายพลฟรังโก ที่ไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลลับใดๆ อย่างไร้เงื่อนเวลาตั้งแต่ปี 1968 เป็นต้นมา โดยถูกมองว่า ล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาประวัติศาสตร์
เบื้องต้นรัฐบาลเตรียมหยิบร่างกฎหมายใหม่ที่เคยวางแผนเสนอตั้งแต่ปี 2022-2023 กลับมาให้รัฐสภาอนุมัติอย่างเป็นทางการ หลังล้มเหลวเพราะเกิดการเลือกตั้งระดับประเทศในปีดังกล่าว และอาจต้องเผชิญอุปสรรคจากการเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็ตาม
สำหรับเนื้อหาหลักในร่างกฎหมายฉบับนี้คือ การอนุญาตให้ทางการเปิดเผยเอกสารลับที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ยกเว้นเนื้อหาที่กระทบความมั่นคงของชาติ และต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาของรัฐบาล โดยเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักข่าวหรืออาจารย์ เข้าถึงเอกสารลับฉบับเต็มได้ หากยื่นคำร้องเข้ามาด้วยเหตุผลทางด้านวิชาชีพ อีกทั้งยังเปลี่ยนบทลงโทษการเปิดเผยข้อมูลลับ จากเดิมที่มีเพียงโทษจำคุกอย่างเดียว เป็นการปรับ 3 หมื่น-2.5 ล้านยูโร (ประมาณ 1.1 ล้านบาท-94 ล้านบาท)
นอกจากนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวจะไม่อนุญาตให้รัฐบาลเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นความลับ ขณะที่เงื่อนเวลาการเปิดเผยกำหนดเวลาสูงสุดคือ 60 ปี สำหรับเอกสารความลับระดับสูง (Highly Classified) รองลงมาคือ 45 ปีสำหรับกลุ่มเอกสารลับทั่วไป (Classified) และ 9-5 ปี สำหรับกลุ่มเอกสารหวงห้าม (Confidential Restricted)
ถือว่า การแก้ไขร่างกฎหมายความลับทางราชการ เป็นไปเพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายของสเปนให้สอดคล้องกับกลุ่มประเทศ EU (European Union) และ NATO (North Atlantic Treaty Organization) ตามหลักนิติธรรมในระบอบประชาธิปไตย อีกทั้งพรรคการเมืองหลายฝ่ายยังเห็นพ้องต้องกัน เช่น พรรคชาตินิยมบาสก์ (Basque Nationalist Party) พยายามริเริ่มแคมเปญดังกล่าว รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างพรรคแรงงานสังคมนิยมสเปน (Spanish Socialist Workers’ Party: PSOE) อีกด้วย
หากร่างกฎหมายได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาจริง คาดว่า เอกสารลับในยุคนายพลฟรังโกที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ดำมืดจะถูกเปิดเผยทั้งหมด เช่น ความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างอดีตผู้นำเผด็จการสเปนกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำนาซี, สถานที่ฝังเหยื่อการกวาดล้างทางการเมืองในยุคอำนาจนิยมตั้งแต่ปี 1939-1975 หรือเหตุการณ์ปาโลมาเรส ในปี 1966 (1966 Palomares Incident) หลังเครื่องบิน 2 ลำคือ เครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์และเครื่องบินเติมน้ำมันของสหรัฐอเมริกาชนกันเหนือหมู่บ้านชาวประมง
น่าสนใจว่าไม่น้อยว่า ภาคประชาชนก็เห็นด้วยกับกระแสความคิดดังกล่าว โดยกลุ่ม Association for the Recovery of Historical Memory (ARMH) ที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเหยื่อทางการเมืองในยุคนายพลฟรังโกยังเสนออีกว่า รัฐบาลไม่ควรปกปิดเอกสารลับของศาสนจักร หรือแม้แต่ ฮวน คาร์ลอส (Juan Carlos) อดีตกษัตริย์แห่งสเปน อีกต่อไป และต้องเปิดเผยเอกสารแบบดิจิทัลให้ประชาชนได้เข้าถึง
ขณะที่ Amnesty International แสดงความยินดีกับท่าทีของรัฐบาล โดยเรียกร้องให้พรรคการเมืองยุติความขัดแย้งและอนุมัติกฎหมายฉบับนี้ โดยเชื่อว่า การรื้อทลายมรดกของฟรังโกจะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ของประเทศทั้งหมด เพราะกฎหมายความลับทางราชการบดบังเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และปฏิเสธการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเผด็จการ
อ้างอิง
https://www.reuters.com/world/spain-proposes-declassifying-secret-franco-era-files-2025-07-22/
Tags: ฟรังโก, สเปน, ยุโรป, ฟรานซิสโก ฟรังโก, นายพลฟรังโก, เอกสารลับ