“ห้ามมนุษย์ป้าเข้า ยิมนี้สำหรับเฉพาะผู้หญิงที่มีมารยาทและดูดีเท่านั้น”

ข้างต้นคือข้อความที่ติดหน้ายิมในจังหวัดอินชอน (Incheon) ประเทศเกาหลีใต้ หลังสำนักข่าวโคเรียไทม์ (Korea Times) รายงานเมื่อวานนี้ (13 มิถุนายน 2024) ว่า ‘อาจุมม่า’ (Ajumma) ที่แปลว่า ป้า ในภาษาเกาหลี รวมถึงบุคคลที่มีพฤติกรรมแบบ ‘มนุษย์ป้า’ ถูกสั่งห้ามเข้าใช้บริการสถานที่ออกกำลังกายแห่งนี้ หลังตกเป็นประเด็นถึง ‘มารยาททางสังคม’ ในการใช้พื้นที่สาธารณะ

ทั้งนี้เจ้าของยิมในอินชอน เผยที่มาของประกาศห้ามกับสำนักข่าวเจทีบีซี (JTBC) และโคเรียเฮรัลด์ (Korea Herald) ว่า เขาต้องการพื้นที่ที่ไม่มี ‘คนแก่’ และ ‘พฤติกรรมแบบมนุษย์ป้า’ หลังจากยิมของเขาได้รับความเสียหายจากพฤติกรรมไร้มารยาทของกลุ่มคนเหล่านี้ 

เขาเล่าว่า มีคุณป้าจำนวนไม่น้อยนำ ‘กะละมังซักผ้า’ มาใช้ในยิม และเปิดน้ำร้อนนานถึง 2 ชั่วโมง ทั้งยังแสดงพฤติกรรม ‘คุกคามทางเพศ’ ลูกค้าผู้หญิงคนอื่นในยิมด้วยการบอกว่า “เธอจะมีลูกที่แข็งแรงแน่ๆ”

ไม่ใช่แค่ห้ามหญิงสูงวัยเข้าใช้บริการ แต่ยิมแห่งนี้ยังติดป้าย ‘นิยาม’ คุณสมบัติของอาจุมม่า (ที่ถูกห้ามใช้บริการ) เพราะคำศัพท์นี้ในภาษาเกาหลียังหมายถึงคนทุกเพศทุกวัย ที่แสดงพฤติกรรมไร้มารยาท ซึ่งระบุไว้ดังต่อไปนี้

1. บุคคลประเภทมนุษย์ป้ามักชอบของฟรี ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตาม

2. มนุษย์ป้ามักถูกวิจารณ์ในทุกที่ แต่พวกเขาดันไม่รู้สาเหตุว่าทำไม

3. มนุษย์ป้ามักแย่งที่นั่งผู้หญิงท้องบนรถสาธารณะ ต่อให้พวกเขาไม่ได้ท้องก็ตาม

4. หากมา 2 คน มนุษย์ป้ามักชอบสั่งกาแฟ 1 แก้ว และขอแก้วอีกใบจากร้านเพิ่มแทน

5. มนุษย์ป้ามักชอบทิ้งอาหารในห้องน้ำสาธารณะ

6. มนุษย์ป้ามักขี้เหนียวกับการใช้เงินของตนเอง แต่ไม่ใช่กับเงินของคนอื่น

7. มนุษย์ป้ามักความจำสั้น จำบางอย่างไม่ค่อยได้ จึงมักชอบพูดซ้ำไปซ้ำมา

อย่างไรก็ตาม สังคมเกาหลีแบ่งความคิดเห็นเป็น 2 ฝ่ายต่อเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยฝ่ายที่เห็นด้วยกับมาตรการของยิมระบุว่า ตนเคยเจอบุคคลประเภทป้า ที่มักใช้สบู่ ผ้าขนหนู ทิชชู และพูดจาเสียงดัง โดยที่ไม่ได้ออกกำลังกายในยิมเลย

“แบบที่ทุกคนแสดงความคิดเห็นเลย ฉันเห็นมนุษย์ป้าจองลู่วิ่งด้วยสัมภาระ และหนีไปคุยกับอีกฝ่ายบนจักรยาน แม้แต่ฉันที่เป็นผู้หญิงสูงวัยก็ยังรู้สึกว่าพฤติกรรมนี้มากเกินไปแล้ว” คอมเมนต์หนึ่งแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์

ขณะที่ฝ่ายที่ต่อต้านตำหนิการกระทำของยิมแห่งนี้ว่า นี่คือ ‘การเลือกปฏิบัติ’ ผ่านอายุและเพศ โดยเฉพาะการตีตราไว้กับ ‘ผู้สูงอายุ’ และ ‘เพศหญิง’ เท่านั้น เพราะไม่ว่าจะเป็นใครก็สามารถทำพฤติกรรมที่ไร้มารยาทได้เช่นเดียวกัน

“นี่ไม่เหมาะสมในการโจมตีถึงผู้หญิงสูงอายุ คุณก็แค่จัดการแบนลูกค้าที่ก่อปัญหาเท่านั้น ในเมื่อมันมีคนที่ทำพฤติกรรมย่ำแย่โดยไม่จำกัดเพศหรือวัยไหนก็ตาม ถ้าเช่นนั้นถึงไม่ให้จำกัดแค่ให้ผู้ชายใช้ไปเลยล่ะ? นี่คือการกีดกันทางเพศชัดๆ” คอมเมนต์หนึ่งในโลกออนไลน์จากโคเรียไทม์ตอบโต้กับท่าทีของยิมในอินชอน

แม้การ ‘จำกัดกลุ่มลูกค้า’ ไม่ผิดกฎหมายอย่างเป็นทางการ เพราะเกาหลีใต้ไม่มีกฎหมายบังคับให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตามคำสั่งรัฐ แต่จะตักเตือนด้วยการเลี่ยงคำว่า ‘แนะนำ’ แทนเสียมากกว่า เห็นจากการอยู่ของ ‘โซนปลอดเด็ก’ (No Kids Zone) โดยอ้างว่า เป็นการรักษาความสงบของผู้ใช้บริการคนอื่น เนื่องจากเด็กมักส่งเสียงดัง ขว้างปาอาหาร หรือวิ่งเล่นรบกวนสร้างความรำคาญให้กับผู้อื่น 

ทว่าบางส่วนโต้แย้งและให้เหตุผลว่า ครั้งหนึ่งคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเกาหลีใต้ (National Human Rights Commission of Korea) ตัดสินในปี 2017 ว่า การมีอยู่ของโซนปลอดเด็กเป็นการเลือกปฏิบัติและผิดกฎหมาย โดยอ้างมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ ว่าด้วยบทบัญญัติห้ามเลือกปฏิบัติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผ่านการตีตราทางเพศ ศาสนา และสถานะสังคม

เกาหลีใต้และญี่ปุ่นถือเป็น 2 ประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ไม่มีกฎหมายป้องกันการเลือกปฏิบัติทางเพศสภาพ เชื้อชาติ ศาสนา หรือการเมือง

‘อาจุมม่า’ กับ มายาคติ ‘ผู้หญิงแก่ขี้วีน’: เมื่อคำศัพท์ธรรมดาอาจตีตรามากกว่าที่คิด

ตามสถาบันภาษาเกาหลีแห่งชาติ (National Institution of Korea Language) อาจุมม่า (아줌마) มาจากคำว่า อาจุมมอนี (아주머니) ที่เป็นคำศัพท์ทางการของคำว่า ป้า ซึ่งมักใช้กับบุคคลที่สูงอายุแบบไม่เป็นทางการ

แต่ในช่วงระยะหลังคำว่า อาจุมม่า ถูกพัฒนาไปเป็นคำศัพท์เชิงลบ และเป็นที่ถกเถียงถึงความเหมาะสมในการใช้เรียกคนในสังคมเกาหลีใต้ เพราะมักถูกเหมารวมถึงภาพลักษณ์ผู้หญิงผมหยิกสั้น ใส่เสื้อผ้าสีสว่าง และหมวกบังแดด ขณะที่ด้านพฤติกรรมมักนิยามบุคคลที่ทำตัว ‘เป็นศูนย์กลางจักรวาล’ และ ‘อารมณ์รุนแรง’ ซึ่งมักสะท้อนในภาพของผู้หญิงสูงอายุเจ้าอารมณ์ที่ชอบแย่งที่นั่งบนรถไฟ 

นอกจากนี้ อาจุมม่ายังถือเป็นการตีตราทางเพศ เพราะมายาคติในสังคมเกาหลีใต้มักมองว่า คนกลุ่มนี้ไร้ความเป็นผู้หญิงที่เต็มไปด้วยกิริยาอ่อนหวาน เรียบร้อย และเชื่อฟังคนอื่น จนถูกนิยามในฐานะ ‘เพศที่สาม’ ที่ไม่ใช่ทั้งผู้ชายและผู้หญิง 

“การเรียกใครสักคนว่าอาจุมม่า เหมือนกับคุณกำลังดูหมิ่นเขาอยู่ ฉันมักหลีกเลี่ยงการใช้คำนี้กับผู้หญิงสูงอายุ โดยเรียกเขาว่า อีโม (Imo: 이모 แปลว่า ป้า น้า หรืออาผู้หญิงในภาษาเกาหลี)” อี โบรา (Lee Bo-ra) ผู้หญิงเกาหลีวัย 36 ปีอธิบายผ่านโคเรียเฮรัลด์

ความหมายด้านลบของคำว่า อาจุมม่า สะท้อนผ่านการเปลี่ยนชื่อแบรนด์ในภาคธุรกิจของเกาหลี เช่น ยาคูลท์เกาหลีใต้ เปลี่ยนชื่อเรียกผู้หญิงขายยาคูลท์ในชื่อ ‘ผู้จัดการฝ่ายเครื่องดื่ม’ จากเดิมที่มักเรียกว่า ‘ยาคูลท์อาจุมม่า’ ในปี 2019 ตามมาด้วย แดกูเมโทร (Daegu Metro) บริษัททำความสะอาด ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเรียกของพนักงานทำความสะอาดผู้หญิงเป็น ‘ฮวังรยองซา’ (Hwangyeongsa: 황룡사) แปลว่า ‘ผู้ดูแลสภาพแวดล้อม’ จากเดิมคือ ‘ป้าแม่บ้าน’ หรือ ‘ชองโซอาจุมม่า’ (Cheongso Ajumma: 청소 아줌마) แทน

 

อ้างอิง

https://www.lemonde.fr/en/international/article/2024/02/19/south-korea-s-no-kids-zones-reflect-a-society-where-people-have-given-up-on-trying-to-accommodate-each-other_6540962_4.html

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/06/113_376445.html

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20240611050612

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/06/113_376445.html

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20220627000813

Tags: , , , , , , , , , , ,