1

“ไม่มีแพทย์ประเทศไหนในโลกที่ทำตัวสุดโต่ง ด้วยการเอาชีวิตของคนไข้เป็นตัวประกันเช่นนี้”

เหล่านี้คือข้อความจากทางการเกาหลีใต้ เมื่อแพทย์ฝึกหัดนับหมื่นคนพร้อมใจกันถอดชุดกาวน์ลาออก และเดินหน้าประท้วงนโยบายของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลัง ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เสนอแผนปฏิรูปการสาธารณสุข ด้วยการเปิดรับนักศึกษาในคณะแพทย์ศาสตร์เพิ่มอีก 2,000 รายในปี 2025 จนถึง 1 หมื่นรายในปี 2035 เพื่อเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในภายภาคหน้า และลดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

ทว่าวงการแพทย์กลับมองว่า นโยบายดังกล่าวไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหาที่พวกเขากำลังเผชิญอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตในการทำงาน หรือแม้แต่การถูกฟ้องร้องจากผู้ป่วยหรือญาติ ซ้ำร้ายบ้างยังรู้สึกว่า รัฐบาลกำลัง ‘เล่นเกมการเมือง’ เพื่อเรียกคะแนนความนิยมให้กับพรรคของเขาในการเลือกตั้งประจำปี 2024 

บัดนี้เกาหลีใต้กำลังเผชิญวิกฤตทางการแพทย์ครั้งใหญ่ สะท้อนจากการประกาศลดจำนวนครั้งผ่าตัดของโรงพยาบาลใหญ่ 5 แห่งในประเทศ ภาพของบรรดาคนไข้และญาติหน้าห้องฉุกเฉินที่แน่นขนัด ขณะที่แพทย์บางคนกำลังหลบมุมกินเบอร์เกอร์ คลายเครียดจากชั่วโมงการทำงานอันเหนื่อยล้า และพยาบาลจำนวนหนึ่งต้องรับบท ‘แพทย์จำเป็น’ เพื่อรับมือกับภัยฉุกเฉินครั้งนี้

2

ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2024 รัฐบาลเกาหลีใต้ยื่นคำขาดให้บุคลากรทางการแพทย์กลับไปทำงานภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังการชุมนุมยืดเยื้อถึง 1 สัปดาห์เต็ม ส่งผลกระทบต่อโรงพยาบาลทั่วประเทศ 

อี ซังมิน (Lee Sang-min) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายในและความปลอดภัย แถลงว่า รัฐบาลจะไม่ลงโทษแพทย์ที่กลับมาทำงานก่อนเส้นตาย ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังคงปักหลักจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมถึงถอดถอน ‘ใบรับรองวิชาชีพ’ เพราะถือว่าละทิ้งการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีเหตุผล

ด้าน ยุน ซอกยอลเน้นย้ำว่า การให้บริการสาธารณสุขถือเป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญอย่างทันท่วงที ก่อนจะตอกย้ำถึงสภาวะสุญญากาศในวงการสาธารณสุขที่เกิดขึ้นจากการประท้วงครั้งนี้

“เราจะเริ่มมาตรการดังกล่าวในเดือนมีนาคม การระงับใบประกอบวิชาชีพของแพทย์จะถูกพิจารณาที่ขั้นต่ำเป็นเวลาสามเดือนสำหรับผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย รวมถึงการดำเนินคดีอื่นๆ ด้วยการสอบสวนและการฟ้องร้อง

“โปรดจำไว้ว่า เสียงของคุณหมอทุกคนดังและมีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อคุณอยู่ข้างผู้ป่วย”

พัค มินซู (Park Min-soo) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประกาศรายละเอียดเพื่อเอาผิดกับบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมเน้นย้ำว่า การระงับครั้งนี้จะส่งผลต่อหน้าที่การงานในอนาคต และโอกาสการทำงานในต่างประเทศ

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเริ่มสอบสวนสมาคมการแพทย์เกาหลีและสมาคมแพทย์ฝึกหัดเกาหลี หลังมีการฟ้องร้องจากประชาชนถึง 8 คดี ว่าด้วยการละเมิดกฎหมายทางการแพทย์

ขณะที่สมาคมการแพทย์เกาหลีโจมตีว่า รัฐบาลกำลังใช้กฎหมายล่าแม่มดกับบุคลากร พร้อมประณามว่า แผนการดังกล่าวไม่ต่างจากระบบการแพทย์ของคิวบาที่ถูกควบคุมด้วยรัฐบาลสังคมนิยม 

ตามรายงานของเดอะโคเรียเฮรัลด์ (The Korea Herald) ปัจจุบัน แพทย์ฝึกหัดมากกว่า 1 หมื่นคน หรือคิดเป็น 80.5% ของทั้งประเทศ ทยอยลาออกกับโรงพยาบาลนับ 100 แห่ง 

3

“ระบบการแพทย์อันยอดเยี่ยมของเกาหลีกำลังบดขยี้แรงงานแพทย์ราคาถูกอยู่”

รยู อกฮาดา (Ryu Ok Hada) อดีตแพทย์หนุ่มวัย 25 ปีให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ถึงอีกด้านหนึ่งที่คนในแวดวงต้องเผชิญ 

ก่อนหน้านี้ เขาเคยวาดฝันอนาคตที่สดใสด้วยการเป็นแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน (Emergency Room: ER) ก่อนที่ทุกอย่างจะพังทลาย เมื่ออกฮาดาตัดสินใจลาออกและร่วมประท้วงกับบุคลากรทางการแพทย์ที่เหลือ

นอกเหนือจากความไม่พอใจต่อรัฐบาล หนึ่งในสาเหตุที่อดีตแพทย์รายนี้ออกมาประท้วง คือคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะรายได้ที่ไม่สมน้ำสมเนื้อกับชั่วโมงการทำงาน เขาเล่าว่า ตนเองทำงานมากกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ได้รับค่าแรงประมาณ 2-4 ล้านวอน (ประมาณ 53,000-100,882 บาท) หากเทียบกับรายได้ที่แพทย์ฝึกหัดในสหรัฐอเมริกาได้รับในขั้นต้นถึง 1.8 แสนบาท

ขณะเดียวกัน พัค ดัน (Park Dan) หัวหน้าสมาคมแพทย์ฝึกหัดและแพทย์ประจำบ้าน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า เขาตัดสินใจลาออกจากการเป็นแพทย์​ โดยไม่มีความคิดที่จะกลับไปเดินในเส้นทางนี้อีก ก่อนจะให้เหตุผลกับนิวยอร์กไทม์ (New York Times) ว่า ระบบการแพทย์ของเกาหลีใต้พังลงแล้ว และเขาไม่เห็นอนาคตใน 5-10 ปีนับจากนี้ หากต้องทำงานในฐานะแพทย์ฉุกเฉินเช่นเดิม

เขาเน้นย้ำต่อว่า การเพิ่มจำนวนแพทย์ในระบบจะนำไปสู่การแข่งขันมากขึ้น อาจนำไปสู่ภาวะการรักษาผู้ป่วยอย่างไม่จำเป็น (Overtreatment) ขณะที่ค่าจ้างหรือสวัสดิการในปัจจุบันมีเพียงแพทย์ไม่กี่กลุ่มที่ได้ประโยชน์ เช่น ศัลยกรรมความงาม ฯลฯ

นอกจากนี้บางส่วนยังมีความกังวลว่า นโยบายของรัฐบาลอาจเพิ่มความตึงเครียดในการเข้าเรียนคณะแพทย์ โดย จอง ฮยองจุน (Jeong Hyung-jun) แพทย์และผู้บริหารดูแลนโยบายประจำ Korean Federation of Medical Activist Groups อธิบายกับรอยเตอร์ว่า เกิดจากวัฒนธรรมขับเคี่ยวในการแข่งขันของนักเรียนเป็นทุนเดิม

อย่างไรก็ตาม ประชาชนบางส่วนออกเสียงวิจารณ์ต่อว่าการประท้วงครั้งนี้ว่า หมอคืออาชีพที่มีรายได้ดี แต่นโยบายของรัฐจะนำไปสู่การแข่งขันที่มากขึ้น และทำให้บุคลากรทางการแพทย์เสียผลประโยชน์ด้วยการได้รับค่าแรงที่น้อยลง 

อ้างอิง

https://www.france24.com/en/live-news/20240220-s-korean-trainee-doctors-stop-work-to-protest-medical-reforms

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/south-korea-nurses-take-more-medical-work-due-doctor-walkout-2024-02-27/

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/overworked-unheard-south-korean-doctors-mass-walkout-say-2024-02-26/

https://www.nytimes.com/2024/02/19/world/asia/south-korea-doctors.html

https://www.reuters.com/world/asia-pacific/why-are-south-korean-trainee-doctors-strike-over-medical-school-quotas-2024-02-21/

https://www.theguardian.com/world/2024/feb/23/south-korea-doctors-strike-public-health-alert-hospitals-surgeries-details-protest-seoul

Tags: , , , , , ,