วันนี้ (11 กันยายน 2566) ที่รัฐสภา ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวตอนหนึ่งในการอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ว่า ปัญหาสำคัญเรื่องหนึ่งของคำแถลงนโยบาย ก็คือนโยบายที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ ในความเป็นจริงนโยบายที่แถลงวันนี้กลับหาแทบไม่เจอ
“ตอนหาเสียงพูดว่า ‘พักหนี้เกษตรกร 3 ปี รายได้ดี 3 เท่า’ พอมาอยู่ในเล่มแถลงนโยบายบอก ‘พักหนี้ตามความเหมาะสม รายได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ’ หรือตอนหาเสียงบอกว่า ‘ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน ปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาทต่อเดือน’ ในเล่มแถลงนโยบายกลับบอกว่า ค่าแรงขั้นต่ำเป็นธรรมและเงินเดือนที่เป็นธรรม ทุกครัวเรือนรายได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นบาท ในเล่มบอกทุกครัวเรือนรายได้เพิ่มขึ้น เพิ่มขึ้น 1 บาทก็ถือว่าขึ้นแล้วนะคะ”
ขณะเดียวกัน ตอนพรรคเพื่อไทยหาเสียงเคยบอกว่า จะเร่งรัดออกโฉนดที่ดินทำกิน 50 ล้านไร่ ตอนนี้กลับบอกว่า เร่งดำเนินการให้ประชาชนมีสิทธิในที่ดิน จะปฏิรูประบบราชการด้วยรัฐบาลดิจิทัล ตอนนี้เหลือแค่ปรับปรุงการทำงานด้วยรัฐบาลดิจิทัล กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท แต่เมื่อถึงเวลาจริงกลับไม่บอกว่าให้ทุกคน
“1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ มีงานทำสร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง รายได้ 2 แสนบาทต่อปี วันนี้เหลือแค่ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างงานสร้างรายได้ ปราบยาเสพติดเห็นผลใน 1 ปี ตอนนี้เหลือแค่ปราบยาเสพติดโดยเด็ดขาด แก้ PM2.5 ที่ต้นตอ เหลือแค่แก้ PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หายไปเลย ไม่มี ลดราคาไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มทันที กลับเหลือแค่บริหารจัดการค่าไฟ แก๊ส น้ำมัน ให้อยู่ในระดับเหมาะสมโดยทันที
ศิริกัญญายังนำ ‘วิสัยทัศน์’ ของเศรษฐาในขณะเป็นซีอีโอของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ว่า ในขณะที่รับตำแหน่งเมื่อปี 2565 มีทั้งเป้าหมาย ตัวเลข และกรอบเวลาชัดเจนว่าภายใน 3 ปี จะเพิ่มยอดขายให้ได้ 1.2 แสนล้านบาท ในปีแรก เพิ่มยอดขายให้ได้ 5 หมื่นล้านบาท มีตัวชี้วัดเกี่ยวกับกำไรชัดเจน ทั้งยังมีการวางเป้าหมายเรื่องการใช้พลังงานสะอาดว่า จะติดตั้งพื้นที่ส่วนกลางเป็นโซลาร์รูฟท็อป 100% แต่ครั้งนี้ ในการแถลงนโยบายกลับไม่ได้มีเป้าหมายหรือตัวชี้วัดใดๆ เป็นเรื่องการพูดกว้างๆ เท่านั้น
“นอกจากจะเป็นการแถลงที่ขาดทั้งเป้าหมาย รายละเอียด หลีกเลี่ยงนโยบายที่หาเสียง ยังเป็นคำแถลงที่ปราศจากความทะเยอทะยานที่จะพาสังคมให้ก้าวหน้า ขาดความทะเยอทะยานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงระดับโครงสร้างใดๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศนี้ เสมือนว่าหลับตาข้างหนึ่ง แล้วก้าวข้ามความขัดแย้ง เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความขัดแย้งทางการเมืองก็ไม่พูดถึง ความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่พูดถึง ไม่มีการพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำ เสมือนว่าปัญหานี้หมดไปจากประเทศนี้แล้ว ไม่ได้กล้าแตะเรื่องยากๆ ที่จะต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ ตอนท่านหาเสียง ท่านกล้าหาญกว่านี้มาก
“ทั้งนี้ อาจเป็นด้วยสองเหตุผล เหตุผลแรกอาจเป็นเพราะรัฐบาลกลัวการผูกมัด กลัวทำไม่ได้ตามสัญญา เลยไม่กล้าผูกมัดประชาชน แต่หากทำไม่ได้ดังว่า ก็ไม่ควรประกาศ ไม่ควรหาเสียงกับประชาชนแต่แรก หรือเหตุผลที่สองที่ทำไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้วที่นโยบายเป็นคนละขั้ว จึงหาข้อตกลงไม่ได้สักอย่าง เลยต้องเขียนให้ลอยๆ ให้กว้างเข้าไว้ ใครมาดูจะได้ถูกต้องตามนโยบายแต่ละพรรค แถมที่มาอำนาจยังต้องเกรงใจทั้งอำนาจเก่า กลุ่มทุน เลยไม่กล้าทำเรื่องยากๆ ที่ต้องปะทะกับใคร”
ศิริกัญญายังแสดงความกังวลเรื่องแหล่งที่มาของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้ยังไม่ชัดว่าจะมีแหล่งที่มาของงบประมาณจากไหน เพราะต้องใช้งบประมาณกว่า 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งหากเป็นงบประมาณประจำปี 2567 ถือว่ายังไม่เพียงพอแน่นอน เพราะมีรายจ่ายประจำจำกัดไว้เกือบทั้งหมดแล้ว แต่หากจะใช้เงินนอกงบประมาณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ก็ต้องระมัดระวังเรื่องกรอบวินัยการเงินการคลัง และหากใช้วิธี ‘ยืมเงิน’ จากรัฐวิสาหกิจก็ถือเป็นเรื่องอันตรายอย่างมาก
ทั้งนี้ ดิจิทัลวอลเล็ตอาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ทำให้จีดีพีเติบโตได้ แต่ไม่เพียงพอให้เกษตรกรขุดแหล่งน้ำ บรรเทาภัยแล้ง แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ ขณะเดียวกัน การบริหารราชการแผ่นดินจะ ‘เทหมดหน้าตัก’ เพื่อไปหวังน้ำบ่อหน้าไม่ได้
Tags: ศิริกัญญา ตันสกุล