เมื่อวานนี้ (11 มิถุนายน 2024) รัสเซียแสดงความคิดเห็นเหน็บแนม เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) หลังพรรคฝ่ายขวาจัดมีชัยในผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปมากขึ้น โดยระบุว่า ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ของพรรคฝ่ายขวากลางและฝ่ายซ้าย เป็นผลจากนโยบายต่างประเทศและการวางตัวที่ ‘ไม่เหมาะสม’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ผลล่าสุดในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรประหว่างวันที่ 6-9 มิถุนายนที่ผ่านมาพบว่า พรรคประชาชนยุโรป (European People’s Party: EPP) หรือพรรคขวากลาง-อนุรักษนิยม มีแนวโน้มคว้าชัยชนะถึง 186 ที่นั่ง ขณะที่พรรคสังคมนิยมและพรรคเสรีนิยม มีโอกาสได้คะแนนเสียงประมาณ 135 และ 79 ที่นั่งตามลำดับ
เช่นเดียวกับผลการเลือกตั้งในฝรั่งเศสและเยอรมนี เมื่อพรรคเนเชอรัลแรลลี (National Rally: RN) พรรคการเมืองของ มารีน เลอ เปน (Marine Le Pen) และจอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) ผู้นำกลุ่มขวาจัด เอาชนะพรรคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ของ เอ็มมานูเอล มาครง พรรคฝ่ายขวากลาง (Emmanuel Macron) ได้ถึง 31.5%
ขณะเดียวกัน พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party: SDP) พรรคซ้ายกลางของ โอลาฟ ช็อลทซ์ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี พ่ายแพ้พรรคขวาจัดอย่างพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี (Alternative for Germany: AfD) ที่อยู่อันดับสองของการเลือกตั้ง ด้วยคะแนน 13.9% ต่อ 15.9% ตามลำดับ
นั่นจึงนำมาสู่ปรากฏการณ์ ‘สายฟ้าแลบ’ หลายประเทศในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นการลาออกของ อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู (Alexander De Croo) นายกรัฐมนตรีเบลเยียม หรือแม้แต่การยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ของมาครงแบบหุนหันไม่ให้ใครได้ตั้งตัวแข่งขันทัน เพื่อรักษาคะแนนเสียงของตนเองให้ได้มากที่สุด ก่อนมีโอกาสพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมัยหน้า
อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งดังกล่าวนำมาสู่ความสนใจในโลกระหว่างประเทศ โดยเฉพาะรัสเซียซึ่งนักการเมืองหลายคนออกมาแสดงความคิดเห็นพร้อมตั้งข้อสังเกตบางอย่าง โดยมุ่งเป้าไปที่ประธานาธิบดีมาครง ในฐานะตัวตั้งตัวตีสำคัญที่สนับสนุนยูเครน และเคยแสดงท่าทีเหน็บแนมรัสเซีย หรือเอ่ยปากว่าจะส่งกำลังไปช่วยเหลือยูเครนในสงคราม
เริ่มจาก ดมิทรี เมดเวเดฟ (Dmitry Medvedev) อดีตประธานาธิบดีรัสเซีย แสดงความคิดเห็นเยาะเย้ยผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นผ่านแอปพลิเคชัน X ว่า ทั้งหมดนี้เกิดจากนโยบายอัน ‘ไม่เหมาะสม’ ในสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยโพสต์ข้อความว่า “ถึงเวลาเกษียณ กลายเป็นเถ้าถ่านในประวัติศาสตร์!”
เช่นเดียวกับ เซอร์เก มาร์คอฟ (Sergei Markov) นักวิเคราะห์ฝ่ายสนับสนุนรัสเซีย ออกมาอธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า ความพ่ายแพ้ของมาครงเกิดจากการที่ฝรั่งเศสผูกตนเองไว้กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน
“ผมหวังว่า มาครงจะเข้าใจว่า ทำไมคนฝรั่งเศสถึงปฏิเสธความพยายามก่อสงครามกับรัสเซียเพื่อยูเครนของเขา แต่บางที เขาก็อาจจะดึงนาโตเข้าร่วมทำสงครามกับรัสเซียได้เช่นกัน”
ด้าน วาเลนตินา มัตวิเยนโก (Valentina Matviyenko) สมาชิกสภาสูงของรัสเซียระบุว่า มาครงและช็อลทซ์ต่างทุกข์ทรมานจากการพ่ายแพ้ที่แหลกยับทั้งในระดับชาติและยุโรป ความพ่ายแพ้ของพวกเขาเป็นเรื่องที่สมควร และเกิดจากการไม่ฟังเสียงความต้องการของประชาชนและประชาคมยุโรป
ขณะที่ วยาเชสลาฟ โวโลดิน (Vyacheslav Volodin) ประธานสภาดูมาแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย โพสต์ข้อความลงแอปพลิเคชันเทเลแกรม (Telegram) ว่า ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีพยายามรักษาอำนาจด้วยแรงเฮือกสุดท้าย ก่อนจะเหน็บแนมช็อลทซ์ว่า ควรลาออกและหยุดเยาะเย้ยประชาชนเสียที
นอกจากนี้ โพลิติโก (Politico) สื่ออเมริกันยังรายงานว่า ไรบาร์ (Rybar) กลุ่มบล็อกเกอร์ที่ทรงอิทธิพลในการสร้างวาทกรรมและเรื่องราวสนับสนุนรัสเซีย ออกมาเตือนฝ่ายขวาในยุโรปให้เตรียมรับแรงกดดันจากมวลชน เพราะบางส่วนไม่พอใจการเลือกข้างของชาติยุโรป โดยเฉพาะความข้องเกี่ยวกับยูเครนและการล่าแม่มดผู้สนับสนุนรัสเซีย
มหากาพย์ข่าวปลอม: ว่าด้วยกรณีแทรกแซงการเลือกตั้งของรัสเซียในยุโรป
นอกจากกระแสต่อต้านผู้อพยพ นโยบายของสหภาพยุโรปด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้กับบางประเทศ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสประชานิยม (Populism) อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งนี้คือ ‘ข่าวปลอม’ หลังรัฐบาลยุโรปเปิดโปงว่า รัสเซียพยายามแพร่กระจายข่าวลวงระหว่างการเลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อทำให้สหภาพยุโรปไร้เสถียรภาพ ซึ่งส่งผลโดยตรงกับความได้เปรียบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน
จากการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญ รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า รัสเซียใช้วิธีการตั้งแต่การเผยแพร่ทฤษฎีสมคบคิด, วิดีโอดีปเฟก (Deepfake), สนับสนุนทางการเงินให้เว็บไซต์ Voice of Europe และให้สินบนสมาชิกรัฐสภายุโรป เพื่อส่งเสริมรัสเซียในทางที่ดี ดังกรณีสื่อเชครายงานว่า ปีเตอร์ บิสตรอน (Petr Bystron) นักการเมืองจากพรรค Alternative for Germany (AfD) รับสินบนและฟอกเงินที่ได้รับจากรัสเซีย
นอกจากนี้ ยูโรนิวส์ (Euronews) ยังรายงานว่า หน่วยข่าวกรองของโปแลนด์ถูกแฮ็ก และปล่อยข่าวลวงว่า โดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ จะเกณฑ์ทหารราว 2 แสนนาย เพื่อเสริมกำลังในแนวหน้าของยูเครน ผลการประเมินเนื้อหาและรายละเอียดของเนื้อข่าวจากเลอมงด์ (Le Monde) ระบุว่า นี่อาจเป็นฝีมือของรัสเซีย เพื่อจงใจแปรเปลี่ยนเสียงในการเลือกตั้งยุโรป
อย่างไรก็ตาม รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด โดยระบุว่า ชาติตะวันตกกำลังทำสงครามข้อมูลด้วยการปรักปรำว่า เครมลินปล่อยข่าวปลอม เพื่อทำลายชื่อเสียงและสร้างศัตรู และยุโรปใจแคบมากเสียจนไม่อยากรับรู้ข่าวสารในมุมอีกหนึ่ง สะท้อนจากการแบนสื่อรัสเซียอย่างรีอะโนวัสติ (RIA Novosti), อิซเวสเตีย (Izvestia) และรอสเซียสกายากาเซตา (Rossiyskaya Gazeta)
สำหรับมาตรการต่อต้านข่าวปลอมจากรัสเซีย มีความพยายามสร้างศูนย์ต่อต้านที่เรียกว่า Portal Kombat ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศส เยอรมนี และโปแลนด์ ส่วนฝรั่งเศสก่อตั้ง VIGINUM หน่วยงานวิเคราะห์ข่าวระหว่างประเทศในปี 2021 ซึ่งเคยค้นพบว่า 193 เว็บไซต์พยายามสร้างความชอบธรรมให้รัสเซียในการก่อสงครามกับยูเครน
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังมีความพยายามออกกฎหมายควบคุมการใช้ดิจิทัล โดยรัฐสามารถลบเนื้อหาผิดกฎหมาย ข้อความ หรือข้อมูลที่ส่งเสริมความแตกแยกทางสังคมและการเมือง
นั่นรวมถึงการใช้แอปพลิเคชัน TikTok เป็นเครื่องมือสร้างกระแสความนิยมให้กับผู้นำฝ่ายขวาจัด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ บาร์เดลลา หัวหน้าพรรคเนเชอรัลแรลลี ที่มีภาพลักษณ์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ ‘รูปหล่อ คารมดี และแตกต่างจากฝ่ายขวาแบบดั้งเดิม’ คว้าใจหนุ่มสาวชาวฝรั่งเศสสำเร็จ จนได้รับการจับตามองจากโพลิติโก ในฐานะ New Face of Europe และคาดการณ์ว่า เขาอาจมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองฝรั่งเศสนับต่อจากนี้
อ้างอิง
Tags: รัสเซีย-ยูเครน, เยอรมนี, เลือกตั้งยุโรป 2024, ยุโรป, รัฐสภายุโรป, EU, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหภาพยุโรป, ข่าวปลอม, European Union, อียู, ยูเครน