วันนี้ (22 กรกฎาคม 2565) ที่รัฐสภา เกียกกาย รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการตำรวจ ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ กรณีปล่อยให้เกิดการทุจริตในกองบินตำรวจ ทั้งยังมีการยอมให้ใช้ ‘ตั๋วช้าง’ อีกประเภทหนึ่งเป็นเกราะกำบังเพื่อไม่ให้ใครหรือหน่วยงานใดกล้าตรวจสอบได้
สำหรับเรื่องดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วง พลตำรวจตรี ก. หรือชื่อจริงคือ กำพล กุศลสถาพร ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองบินตำรวจ (บ.ตร.) ได้ดำเนินการเซ็นสัญญาโครงการซ่อมบำรุงอากาศยานกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้เป็นผู้ดำเนินการซ่อมและจัดหาอะไหล่ ตามงบประมาณปี 2563 จำนวนกว่า 950 ล้านบาท แต่เมื่อเดือนกันยายน 2564 การบินไทยได้ยื่นหนังสือทวงหนี้มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จึงพบว่ากองบินตำรวจโดยพลตำรวจตรีกำพลและพวก สั่งจ้างสั่งซื้ออะไหล่เพิ่มเติมเกินกว่างบประมาณที่วางไว้ รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นจำนวนถึง 2,774 ล้านบาท ซึ่ง 2 ใน 3 ของทั้งหมดนี้ กองบินตำรวจไม่สามารถเบิกจากคลังมาจ่ายได้ และกว่า 784 ล้านบาท ไม่เกี่ยวข้องกับการซ่อมเครื่องบินเลย เช่น ซื้อถังน้ำดับไฟป่า 8 ล้านบาท หรือซื้อตะขอเกี่ยวสินค้า 6.3 ล้านบาท
กระนั้นเอง เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบกลับถูกเตะถ่วง ทำให้ล่าช้า และทำซ้ำไปมา โดยกระบวนการตรวจสอบครั้งแรก เริ่มต้นจากการเสนอเรื่องให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สั่งให้จเรตำรวจตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในเดือนมีนาคม 2564 แต่กลับใช้เวลากว่า 3 เดือน จึงจะสามารถตั้งคณะกรรมการตรวจสอบได้ และเสร็จสิ้นในเดือนตุลาคม 2564 รวมถึงเมื่อมีกระบวนการตรวจสอบสิ้นสุด กลับมีคำสั่งให้ส่งเรื่องไปกองวินัยตำรวจเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่อีก และเมื่อทางกองบินตำรวจทวงถามเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบสวนไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ก็มีคำตอบกลับมาว่ายังร่างคำสั่งไม่เสร็จ กว่าจะได้ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่กันจริงๆ คือช่วงปลายเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา รวมถึงเมื่อตั้งไปแล้วก็ยังมีการเปลี่ยนตัวกรรมการ
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้บัญชาการสูงสุดของตำรวจ ได้ทราบเรื่องนี้ตั้งแต่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำหนังสือขอความช่วยเหลือมายังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 และต่อมา พลเอกประยุทธ์ได้ลงนามท้ายหนังสือรับทราบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่สุดท้ายก็ยังปล่อยปละละเลยไม่เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วงเวลา กระทั่งกรมบังคับคดีซึ่งดูแลเรื่องการฟื้นฟูกิจการของการบินไทยส่งหนังสือทวงหนี้ 1,824 ล้านบาท มายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ในขั้นตอนนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะปฏิเสธหนี้ก้อนนี้ได้ เพราะตามขั้นตอน สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีเวลาปฏิเสธหนี้ภายใน 14 วัน แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับล่าช้า ทำหนังสือปฏิเสธหนี้ตอบกลับไปเกินเวลาที่กำหนด ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องชำระหนี้การบินไทยเป็นจำนวนถึง 937 ล้านบาท ส่วนสาเหตุที่หนี้ลดลงจากเดิม เพราะทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปขอต่อรองกับการบินไทยให้ยกเลิกรายการบางส่วนที่ยังไม่ได้รับพัสดุมาได้
สำหรับวิธีแก้ปัญหาคือ พลเอกประยุทธ์ได้อนุมัติงบฯ กลางเพื่อใช้หนี้ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 และในวันที่ 12 เมษายน 2565 จึงให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติอีกที ทั้งยังอนุมัติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถก่อหนี้ผูกพันเกินกว่าที่กำหนดไว้ในงบประมาณปี 2563 ด้วย จึงเหมือนเป็นทั้งการฟอกขาวให้ไปในตัว และยังนำเงินภาษีของประชาชนไปจ่ายให้กับการทุจริตที่เกิดขึ้นในกองบินตำรวจอีกด้วย
ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรีกำพลยังไปทำสัญญาแลกเปลี่ยนอะไหล่อากาศยานด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง โดยรวบรวมเอาอะไหล่เก่าๆ ที่เสื่อมสภาพแล้วไปแลกกับชุดใบพัดหางเฮลิคอปเตอร์ จำนวน 2 ชุด ซึ่งในเรื่องนี้จาก คำสั่ง ตร. ระบุว่า ตำแหน่งระดับผู้การกองบินมีอำนาจอนุมัติวงเงินได้แค่ 5 ล้านบาทเท่านั้น และในระเบียบกระทรวงการคลังระบุว่า วงเงินต้องไม่เกิน 5 แสนบาท แต่พลตำรวจตรีกำพลกลับนำอะไหล่ไปแลกจำนวน 6,622 ชิ้น ซึ่งพบว่าราคารวมกันสูงถึง 1,157 ล้านบาท และยังพบด้วยว่ามีคำสั่งให้เอาอะไหล่ของเครื่องบิน Skyvan 1 ลำ 4 ชิ้น ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเครื่องยนต์ 2 ชิ้น และอะไหล่ของเฮลิคอปเตอร์ Bell 3 ลำ อีก 21 ชิ้น ไปยำรวมกับเศษเหล็กด้วย โดยอะไหล่ดังกล่าวที่นำไปสวมนั้น ประเมินแล้วมีมูลค่าประมาณ 111 ล้านบาท แต่เมื่อนำไปรวมกับเศษเหล็กจะเหลือมูลค่าเพียง 2.5 ล้านเท่านั้น
รังสิมันต์ยังระบุด้วยว่า พลเอกประยุทธ์รู้ปัญหาดีมาโดยตลอดและเซ็นรับทราบด้วยตัวเอง แต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ กับพลตำรวจตรีกำพล ทำให้เกิดความสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่มีใครแตะต้อง จนไปพบว่า พลตำรวจตรีกำพลมีฐานะเป็นผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการถวายความปลอดภัยขบวนเฮลิคอปเตอร์เดโชชัย 5 ที่ตั้งขึ้นตามแผนถวายความปลอดภัยในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
“ในช่วงที่พลตำรวจตรีกำพลจะต้องย้ายเพื่อเปลี่ยนตำแหน่ง ได้มีการทำหนังสือกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ เนื้อหาระบุว่า ตนเคยเป็นผู้บังคับการกองบินตำรวจ ปฏิบัติหน้าที่นักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย แต่กำลังจะถูกย้ายไปอยู่หน่วยอื่น ถ้ามีพระประสงค์จะให้ปฏิบัติงานต่อ จักได้ดำเนินการต่อไป ต่อมาจึงมีหนังสือ รล.0010/5116 ตอบกลับจากสำนักพระราชวัง ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ซึ่งตอนนั้น พลตำรวจตรีกำพลได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้บัญชาการ อยู่ที่สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
ทั้งนี้ หลังจากได้หนังสือตอบจากสำนักราชวังให้ปฏิบัติงานต่อตามที่ขอได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงออกเอกสารที่มีชื่อว่า ‘แผนถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ’ เซ็นอนุมัติไว้ท้ายเอกสารโดย พลตำรวจโท สุทิน ทรัพย์ม่วง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สาระสำคัญคือระบุถึงการจัดตั้ง ศปก.ถปภ. ขบวน ฮ.เดโชชัย 5 หรือศูนย์เดโชชัย 5 มีชื่อเต็มๆ ว่า ‘ศูนย์ปฏิบัติการถวายความปลอดภัยสำหรับขบวนเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ โดยให้มีอำนาจสั่งการทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องในการจัดเฮลิคอปเตอร์พระราชพาหนะถวายแด่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ และยังกำหนดให้กองบินตำรวจต้องคอยรับผิดชอบและปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายมาจาก ผอ. ศูนย์ปฏิบัติการฯ ซึ่งผู้อำนวยการที่ว่านี้ก็คือพลตำรวจตรีกำพล
อย่างไรก็ตาม ตามโครงสร้างปัจจุบันมีเพียงกองบินตำรวจเท่านั้นที่ขึ้นตรงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่มีชื่อศูนย์นี้ระบุไว้ว่าสังกัดหน่วยงานใด จึงเป็นคำถามว่าศูนย์นี้ตั้งขึ้นมาโดยอาศัยอำนาจอำนาจตามกฎหมายอะไรและทำไมจึงสั่งการกองบินตำรวจได้
รังสิมันต์จึงได้ตั้งคำถามต่อว่า เป็นการเอาหนังสือจากสำนักพระราชวังมาอ้างใช่หรือไม่ และเป็นตั๋วช้างอีกประเภทหนึ่งใช่หรือไม่ แล้วทำไมจึงไม่มีคำสั่งห้าม เป็นการนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นเกราะกำบังเพื่อสร้างวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดหรือไม่ ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรีกำพลที่ต้องขาดจากตำแหน่งเดิมตามข้อบังคับ ยังสามารถเอาตำแหน่งผู้อำนวยการกองบิน เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์และผู้อำนวยการเดินทางถวาย ซึ่งเป็นตำแหน่งของกองบินตำรวจมาเป็นตำแหน่งติดตัว โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของตำรวจอย่างไรก็ได้ เพราะถ้ามีตั๋วก็ทำได้หมด
นอกจากนี้ ยังไม่มีความปลอดภัย เพราะเมื่อพลตำรวจตรีกำพล ถูกย้ายไปอยู่ในหน่วยที่ไม่ต้องทำการบินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระเบียบ จึงเท่ากับขาดคุณสมบัติในการเป็นนักบินและทำให้พระบรมวงศานุวงศ์ต้องตกอยู่ในอันตราย นั่นจึงหมายความว่า พลเอกประยุทธ์บกพร่องที่สุดในการถวายความปลอดภัย เพราะได้ถวายนักบินเถื่อนที่ไม่ผ่านการตรวจสุขภาพเพื่อทำการบินใช่หรือไม่
ทั้งนี้ นอกจากประเด็นการทุจริตในกองบินตำรวจและการใช้งบฯ กลางมาจ่ายค่าโง่แล้ว ในการอภิปรายช่วงต้น รังสิมันต์ยังได้ทวงถามความเป็นธรรมให้กับตำรวจราบ 509 นาย ที่เคยอภิปรายไปเมื่อปี 2564 โดยระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2 นาย ด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม โดยเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ตำรวจราบต้องเจอกับสิ่งที่พวกเขาบอกเองว่านี่ไม่ใช่การรับราชการ แต่คือเงามืดที่ไม่รู้ว่าชีวิตต้องประสบกับอะไรบ้าง
“ถ้าพลเอกประยุทธ์ยังมีหัวจิตหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ ยังมีความเห็นอกเห็นใจต่อตำรวจชั้นผู้น้อยเหล่านี้เหลืออยู่บ้าง ก็จงสั่งการออกมาเสียที อย่างน้อยถามความสมัครใจว่าตำรวจราบคนใดอยากโอนย้ายกลับไปหน่วยงานเดิม ต้นสังกัดเดิม นี้คือขั้นต่ำสุดแล้วที่คนเป็นนายกรัฐมนตรีจะสามารถให้กับพวกเขาได้” รังสิมันต์กล่าว
สำหรับการอภิปรายตั๋วช้างภาคแรกของรังสิมันต์คือ เรื่องราวของตำรวจเลวที่อ้างสถาบันฯ แล้วได้ดี ส่วนการอภิปรายตั๋วช้างภาค 2 คือด้านตรงข้าม เพราะการเป็นตำรวจดีกลับต้องลี้ภัย ขณะที่ตั๋วช้างในครั้งนี้ คือภาคต่อในเรื่องราวของตั๋วอีกชนิดที่หากได้มาแล้ว ต่อให้เป็นตำรวจที่มากด้วยข้อครหาก็สามารถอยู่ในตำแหน่ง ได้ดิบได้ดีไม่มีใครเอาผิดได้
ทั้งนี้ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์เสร็จสิ้น รังสิมันต์ได้อ่านกลอนว่า
“เงามืดและทองปลอมจะถูกหลอมด้วยเปลวไฟ
กาฝากบนไม้ใหญ่จะล้มไม้ที่เกาะลง
บางสิ่งคล้ายศักดิ์สิทธิ์แต่ชีวิตใช่ยืนยง
อำนาจจักเสื่อมลงเพราะปรสิตที่ติดกาย”
และทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า “ประยุทธ์จงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
Tags: Report, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, อภิปรายไม่ไว้วางใจ, รังสิมันต์ โรม, พรรคก้าวไกล