วันนี้ (18 มีนาคม 2565) รังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ซึ่งถูกออกหมายจับในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในการอภิปรายพาดพิงมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ว่าเป็นศูนย์รวมสายสัมพันธ์ระหว่างพลเอกประวิตร กับนักธุรกิจชั้นนำอีกหลายราย เมื่อปี 2563 เดินทางมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ โดยมี ส.ส. พรรคก้าวไกล และประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาให้กำลังใจ
รังสิมันต์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนตอนหนึ่ง ระบุว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงถึงพลเอกประวิตร คดีจะมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา และเมื่ออภิปรายในประเด็นการค้ามนุษย์ในการอภิปรายทั่วไปรอบล่าสุด ทำให้คดีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นในปี 2563 มีความ ‘แปลกประหลาด’ เกิดขึ้น โดยมีความพยายามขอตัวตนเองไปดำเนินคดี และให้เพื่อน ส.ส. ตัดสินใจว่าจะส่งตนเองไปดำเนินคดีหรือไม่ กลางสมัยประชุมสภา แต่เมื่อวาระยังไม่ถึง ก็มีการออกหมายเรียกมาถึงตนเองอีกครั้งในระหว่างสมัยประชุม ซึ่งได้โต้แย้งไปแล้วว่าการทำแบบนี้น่าจะมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 เป็นการคุยด้วยวาจา และในเวลาต่อมา พนักงานสอบสวนบอกว่าจะไปถอนหมาย
“คุยกันเสร็จเรียบร้อย ก็มีการออกหมายเรียก ให้ไปคุยวันที่ 11 มีนาคม ผมก็บอกว่าไม่น่าจะไปได้ในวันที่ 11 ผมก็พูดคุย แล้วก็นัดหมาย โดยให้ทนายเป็นคนนัดหมาย ก็ตกลงกันด้วยวาจาว่าจะไปรายงานตัวภายในเดือนมีนาคม ไปแน่นอน ไม่ได้จะบิดพลิ้วอะไร แต่สุดท้าย วันที่ 11 มีนาคม พนักงานสอบสวนไม่ยอม จะมีการออกหมายจับ
“ส่วนตัวลึกๆ เชื่อว่า ศาลไม่น่าจะให้ เนื่องจากคดีนี้ เป็นคดีที่มีอัตราโทษค่อนข้างต่ำ การจะออกหมายจับได้ ต้องออกหมายเรียกอย่างน้อย 2 ครั้ง ถ้าเอาตามหมายเรียกที่ถูกต้องตามกฎหมาย ผมได้รับแค่ครั้งเดียว ดังนั้น จู่ๆ จะออกหมายจับเลย ผมจึงค่อนข้างแปลกใจมากว่าทำไมกระบวนการของวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถไปขอหมายจับจากศาล และศาลให้
“ทีนี้ ความกังวลที่ผมและทนายความคุยกัน คือการออกหมายจับแบบนี้ คือคุณต้องการให้ผมหลบหนีใช่หรือไม่ กลายเป็นคนที่หลบหนีใช่หรือไม่ เพื่อที่ว่าเมื่อผมหลบหนี ในการประกันตัว หากจะมีต่อไปในอนาคต รวมถึงในอนาคต หากศาลพิพากษาแล้ว ไม่ว่าคดีจะสิ้นสุดหรือไม่สิ้นสุด แล้วผมยังต้องต่อสู้คดีในเรือนจำหรือไม่ เพราะศาลจะอ้างว่าผมหลบหนี สุดท้าย จะไม่ใช่แค่ว่าผมต้องต่อสู้คดีในคุก แต่ผมจะเสียสถานะ ส.ส. จากการที่ผมพยายามตรวจสอบรัฐบาล”
รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนชัดว่าเป็นกระบวนการต้องการทำให้ผู้แทนราษฎรกลัว คำถามก็คือ ประเทศนี้ ถ้าเอาความจริงขึ้นมาพูดกัน สุดท้าย ผลลัพธ์จะเป็นแบบนี้ใช่หรือไม่ และประเทศนี้ จะอยู่กันอย่างไร
“ส่วนตัวผม ผมไม่ได้รู้สึกว่าต้องยึดติดอะไร ผมพร้อมสู้ ไม่ว่าจะอยู่ข้างนอกหรือข้างใน แต่ถ้าเราทำกันแบบนี้ ประเทศเราจะกลัวกันแบบนี้ ผมรู้มาโดยตลอดว่าหัวอกตำรวจชั้นผู้น้อย พวกท่านก็กลัว ท่านก็เจ็บปวด แต่ถ้าท่านกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ แล้วเล่นงานผมแบบนี้ ผมก็ไม่ยอม แล้วพรรคก้าวไกล เราก็ไม่ยอม พร้อมต่อสู้เต็มที่ วันนี้ เราเลยมา เพื่อแสดงให้เห็นว่า เราไม่ได้ต้องการหลบหนี การออกหมายจับเป็นสิ่งที่ผิดพลาด เป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ และผมก็อยากทราบจริงๆ ว่า ผู้พิพากษาที่เป็นคนเซ็นอนุมัติหมายจับชื่ออะไร
“เพราะผม ในฐานะของคนที่เรียนนิติศาสตร์ และมีรุ่นพี่หลายคนที่เรียนนิติศาสตร์ แล้วไปเป็นผู้พิพากษา เรานึกไม่ถึงว่ากระบวนการมันมาไกลได้ถึงขนาดนี้ได้อย่างไร ผมเองค่อนข้างผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมมากๆ จริงๆ อีกไม่กี่วัน เราก็จะได้มาทำตามกระบวนการปกติอยู่แล้ว ผมก็ยินดีที่จะสู้คดี แล้วก็รู้สึกว่าการต่อสู้คดีครั้งนี้เราจะชนะ คำพูดที่เอาไปอ้างต่างๆ ก็ได้เห็นแล้วว่า วันนี้ มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เป็นอย่างไร มีความสำคัญต่อการเมืองอย่างไร วันนี้ เวลาพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าจริงหรือไม่จริง”
รังสิมันต์ บอกอีกด้วยว่า วันนี้ ประชาชนหลายคนที่ได้รับผลกระทบจากการคิดต่างทางการเมืองถูกดำเนินคดี ถูกทำให้กลัว ถูกทำให้ไม่กล้าที่จะพูด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงผ่านกระบวนการยุติธรรม
“วันนี้ กระบวนการหลายอย่างไม่ควรเรียกว่ากระบวนการยุติธรรม นี่คือกระบวนการอยุติธรรม ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ เพื่อทำให้พวกเราไม่กล้าที่จะพูด ก่อนจะมาถึงผม มีพี่น้องประชาชนอีกมาก ที่ถูกรังแกก่อน มันพิสูจน์ให้เห็นว่าการเอาคนเห็นต่างไปจับ การตีกำไลอีเอ็มใส่ข้อเท้าพวกเขาแล้วบอกว่านี่คือการปล่อยตัวชั่วคราว เป็นสิ่งที่ผิด มันเป็นไปได้อย่างไร เขาไปรายงานตัวทุกครั้ง อัยการก็ไป ศาลก็ไป ศาลบอกว่ากลัวที่จะหลบหนี ทั้งที่ประวัติดีมาโดยตลอด เราไม่สามารถบอกได้เลยว่านี่ไม่เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นไปตามมาตรฐานสากล”
สำหรับกระบวนการหลังจากนี้ โรมระบุว่า พนักงานสอบสวนจะพาตนเอง ไปพบพนักงานอัยการ พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะฝากขัง แต่เท่าที่พูดเบื้องต้น เชื่อว่ายังไม่ไปไกลขนาดนั้น และยังเชื่อว่า ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์อะไรในการรายงานตัว ถ้าพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง ก็ต้องต่อสู้คดีในศาลต่อไป
ทั้งนี้ การรายงานตัว เพื่อให้เห็นว่า ไม่ต้องการเปิดโอกาสให้ศาล หรือทำให้พนักงานอัยการเห็นว่ามีช่อง หรือมีประวัติในการหลบหนี เลยต้องมาเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
“ทีนี้ ถ้าเกิดว่าศาลมีคำพิพากษาแล้วเกิดว่าผม ไม่สามารถประกันตัวได้ ก็จะเป็นสิ่งที่หลายท่านกังวลว่าผมอาจไม่ได้มีสถานะ ส.ส. แล้ว แล้วก็ต้องต่อสู้คดีในเรือนจำ แต่ผมยังมองในแง่ดีว่า ผลที่เขาต้องการ น่าจะไม่เกิดขึ้น หนังที่เขาพยายามสร้าง เพื่อรังแกผมน่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะประชาชนทุกคนได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ที่จะยืนเคียงข้างผม”
หลังจากรายงานตัว ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางขุนนนท์ ได้นำรังสิมันต์ขึ้นรถตำรวจไปยังสำนักงานอัยการจังหวัดตลิ่งชัน เพื่อเข้าพบพนักงานอัยการต่อไป
Tags: Report, รังสิมันต์ โรม, พรรคก้าวไกล, ก้าวไกล