“ฉันอยากให้พวกคุณรู้ว่า เรากำลังต่อสู้ในเรื่องเดียวกัน ข้อความจากทุกคนทำให้ฉันรู้สึกซึ้งใจอย่างมาก มันกลายเป็นกำลังสำคัญที่ทำให้ฉันลุกขึ้นสู้ในทุกวัน และเอาตัวรอดจากการพิจารณาคดีที่ยาวนาน”

ข้างต้นคือคำพูดแรกของ จิเซล เปลิโกต์ (Gisèle Pelicot) หลังเดินทางมาถึงศาลประจำเมืองอาวีญอง (Avignon) ในฐานะหญิงผู้กล้าหาญวัย 72 ปีที่ต่อสู้กับคดี ‘ข่มขืนหมู่’ แบบเปิดเผยตัวตน เมื่อ โดมินิก เปลิโกต์ (Dominique Pelicot) อดีตสามี วางยาเธอจนหมดสติ ก่อนจะชวนผู้ชายมากกว่า 50 คนรุมกระทำชำเรา พร้อมกับถ่ายวิดีโอโดยที่เธอเอง ‘ไม่รู้ตัว’ ตั้งแต่ปี 2011-2020 หรือเป็นระยะเวลา 10 ปีเต็ม จนท้ายที่สุดเรื่องทั้งหมดถูกเปิดโปงออกมา เพราะสามีของเธอถูกตำรวจจับในคดีแอบถ่ายใต้กระโปรง เป็นเหตุให้ทางการฝรั่งเศสสาวที่มาที่ไปถึงเบื้องหลังของคลิปวิดีโออันน่าสยดสยอง

ในวันนี้ฝันร้ายของจิเซลกำลังจะสิ้นสุดลง หลังศาลตัดสินลงโทษโดมินิกด้วยโทษสูงสุดเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยเขาไม่มีสิทธิได้รับการพักโทษ จนกว่าโทษ 2 ใน 3 ที่มีการตัดสินไว้จะถึงจุดสิ้นสุด ขณะที่ผู้กระทำความผิดมากหน้าหลายตาอีก 48 ราย ตั้งแต่บุรุษพยาบาล นักข่าว นักการเมือง ทหาร คนขับรถบรรทุก และชาวไร่ ถูกพิจารณาคดีในความผิดฐานกระทำชำเราขั้นรุนแรง และอีก 2 รายมีความผิดฐานล่วงละเมิดทางเพศ แม้บางส่วนจะอ้างว่า ‘ไม่รู้’ ว่าเธอหมดสติก็ตาม

นอกจากความน่าสะพรึงกลัวของคดี โดยเฉพาะรายละเอียดที่เต็มไปด้วยความรุนแรงอันไร้มนุษยธรรม สังคมต่างจับต่างมองปรากฏการณ์ดังกล่าวถึง ‘จุดเปลี่ยนสำคัญ’ ของคดีล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืน เมื่อจิเซลเปิดหน้าต่อสู้กับความอยุติธรรม โดยขอให้ศาลพิจารณาแบบเปิดเผยต่อสาธารณะและไม่ปิดบังตัวตนของเธอ 

ทั้งนี้หญิงวัย 72 ปียืนยันในชั้นศาลว่า เธอไม่เคยเสียใจที่ตัดสินใจเปิดเผยตัวตน และปล่อยให้คดีเผยแพร่สู่ภายนอก นั่นก็เป็นเพราะว่า เธอคิดถึงเหยื่ออีกจำนวนมากที่กำลังเผชิญเรื่องราวเดียวกันอยู่

“ขอบคุณมาก จิเซล เปลิโกต์! คุณกล้าหาญมากที่เปิดเผยตัวตนในสาธารณะและสู้เพื่อความยุติธรรม คุณทำให้ผู้หญิงทั้งโลกเสียงดังขึ้น ความน่าอับอายเป็นของผู้กระทำความผิดเสมอ”

“เป็นเกียรติอย่างยิ่ง ขอบคุณ จิเซล เปลิโกต์!”

คำสรรเสริญและขอบคุณจากผู้นำโลกอย่าง โอลาฟต์ ช็อลทซ์​ (Olaf Scholz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเปโดร ซานเชส (Pedro Sánchez) นายกรัฐมนตรีสเปน ในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง เป็นดังภาพสะท้อนว่า คดีนี้มีความสำคัญกับนานาชาติ จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงอีกทั่วโลกที่ ‘หวาดกลัว’ กับการสู้กับอาชญากรรมทางเพศ เพราะแม้จะเป็นฝ่ายไม่ผิด แต่กระบวนการสอบสวน อคติ และการตีตราจากวัฒนธรรมความเกลียดชังผู้หญิง (Misogyny) ทำให้เหยื่อ 1 คนเหมือนกับ ‘ตายทั้งเป็น’ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ทว่าบางส่วนก็ตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรมอยู่ไม่น้อย หลังศาลตัดสินจำคุก ฌัก ซี (Jacques C) ผู้กระทำความผิดคนหนึ่งด้วยโทษจำคุก 5 ปี แต่ให้รอลงอาญา นับเป็นการ ‘ดูหมิ่น’ เหยื่อไม่น้อย เพราะบทลงโทษน้อยนิดมาก หากเทียบกับความผิดของเขา แม้ศาลจะให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นเอ็น (CNN) ว่า ต้องการ ‘แยก’ บทลงโทษแตกต่างกันออกไป เพื่อป้องกันไม่ให้มีการอุทธรณ์

“ในฐานะผู้หญิงและเฟมินิสต์คนหนึ่ง ฉันรู้สึกผิดหวังกับรู้สึกเหมือนถูกฉีกหน้า เพราะการตัดสินของศาล” โอลิมป์ เดอซองซ์ (Olympe Desanges) นักสิทธิสตรี แสดงความในใจกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) และตั้งคำถามถึงระบบยุติธรรมของฝรั่งเศสที่ต่ำกว่ามาตรฐาน 

ขณะที่ ซาราห์ แม็กแกรท​ (Sarah McGrath) ซีอีโอ Women for Women France เล่าว่า มีเพียงเหยื่อจากการข่มขืน 10% เท่านั้นที่ได้แจ้งความจริงๆ และมีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ

แม้ฝรั่งเศสจะเป็นประเทศขึ้นชื่อเรื่องความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชน แต่ประเด็นเรื่องการเลือกปฏิบัติทางเพศและการเหยียดเพศ ยังไม่มีพื้นที่ในบทสนทนามากพอ สะท้อนสถิติคดีความรุนแรงในครอบครัวในปี 2022 หลังมีเหยื่อมากกว่า 2.44 แสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงถึง 86% 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2024/dec/19/dominique-pelicot-further-investigation-rapes-murder

https://www.theguardian.com/world/2024/dec/19/who-are-the-men-convicted-over-rape-and-assault-of-gisele-pelicot-

https://www.theguardian.com/world/2024/dec/19/gisele-pelicot-trial-husband-jailed-for-20-years-as-all-51-men-found-guilty

https://edition.cnn.com/2024/12/19/europe/pelicot-rape-trial-france-verdict-intl/index.html

https://www.theguardian.com/world/2024/dec/19/politicians-hail-courage-of-gisele-pelicot-after-historic-turning-point

https://training.improdova.eu/en/data-and-statistics/data-and-statistics-in-france/

Tags: , , , ,