วันนี้ (15 มกราคม 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All) นำโดย รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) และภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนจากคณะรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญ เข้ายื่นหนังสือขอพบ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นผู้รับหนังสือดังกล่าว
รัชพงษ์กล่าวว่า เมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาได้รับข่าวว่าคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน มีการเคาะคำถามในการจัดทำประชามติเพื่อร่างธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ‘ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์’ ซึ่งตนคิดว่าการตั้งคำถามลักษณะดังกล่าวอาจเป็นปัญหา เพราะเป็นการรวม การแก้ไขเนื้อหา และเจตจำนงการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปพร้อมกัน
โดยรัชพงษ์ยืนยันว่า คำถามประชามติไม่ควรจำกัดว่าจะมีการแก้ไขในหมวด 1 หรือ หมวด 2 หรือไม่ นั่นเป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งถูกเลือกมาจากประชาชน ตนไม่อยากให้คำถามประชามติมีประเด็นดังกล่าวเข้ามาเกี่ยวข้อง
ขณะที่สมคิดกล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของภูมิธรรมบอกเงื่อนไขไป มีหลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าเหตุใดต้องมีการตั้งเงื่อนไข อยากให้มีการเปิดกว้างในการตั้งคำถาม แต่เกรงว่าหากคำถามกว้างไปจะไม่ผ่านการทำประชามติ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการถกเถียง ซึ่งวันนี้ตนจะเข้าไปพบกับรองนายกฯ และถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนเข้ามาบอกความต้องการว่า จะตั้งคำถามประชามติลักษณะใด
สมคิดกล่าวเสริมต่อว่า ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองมีความเห็นตรงกันว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะการทำงานของรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ทำงานยาก ไม่ว่าพรรคการเมืองไหนจะมาเป็นรัฐบาลก็ตาม ตนจึงอยากให้ทุกฝ่ายมั่นใจได้ว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าลักษณะคำถามประชามติที่ดีควรเป็นอย่างไร ภัสราวลีตอบว่า คำถามที่ Con for All ยื่นไปเป็นหลักประกันที่ดีว่ากระบวนการการร่างรัฐธรรมนูญหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร หลักการตั้งคำถามการจัดทำประชามติต้องกว้างและพื้นฐานที่สุด เช่น ‘เห็นด้วยหรือไม่กับการร่างธรรมนูญฉบับใหม่’ นั่นเพียงพอแล้ว
“หากการทำประชามติมีคำถามที่ทำให้สับสนหรือชั่งใจกับจุดยืนทางการเมืองและการแก้รัฐธรรมนูญ เราคิดว่านั่นจะเป็นปัญหา เราจึงอยากให้ไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนว่า คำถามที่จะเคาะเพื่อทำประชามติเป็นคำถามที่ไม่สร้างปัญหาไปมากกว่านี้” ภัสราวลีกล่าว
สุดท้ายแล้วการเลือกคำถามการทำประชามติต้องเป็นมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมีนายกฯ เป็นหัวหน้าคณะ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจึงติดตามว่า ท้ายที่สุดแล้วนายกรัฐมนตรีจะมีแนวทางการตั้งตำถามประชามติอย่างไร เพราะหัวใจสำคัญของการทำประชามติคือประชาชน ดังนั้น การตั้งคำถามต้องคิดว่าประชาชนจะเลือกลงความเห็นแบบใด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากมติ ครม.มีการเลือกคำถามจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติของภูมิธรรม กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญจะมีท่าทีอย่างไร รัชพงษ์กล่าวว่า หาก ครม.มีการเลือกคำถามลักษณะนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญขอสงวนท่าทีไว้ก่อนว่า จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนนี้ขอเพียงแค่การตั้งคำถามประชามติต้องออกมาในลักษณะที่ดีเท่านั้น
Tags: รัฐธรรมนูญ, ประชามติ, iLaw, นายกรัฐมนตรี, คณะรัฐมนตรี, เศรษฐา