วันนี้ (22 มกราคม 2567) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สันติธาร เสถียรไทย กรรมการนโยบายการเงินและที่ปรึกษาเศรษฐกิจอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พร้อมด้วย สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังนามปากกา ‘นิ้วกลม’ และพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ จาก บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยทั้งในแง่ของปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา ในงาน ‘KKP AHEAD 2024 A Pathway to Prosperity’
พิพัฒน์กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนา ‘Reviving Thailand ประเทศไทย..เปลี่ยนอย่างไรให้ไปไกลกว่านี้’ ฉายภาพให้เห็นว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตของจีดีพีที่ทศวรรษที่ผ่านมาโตเฉลี่ยเพียง 3% ซึ่งถือว่าช้ากว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ปัจจัยมาจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดต่ำลงของประเทศไทย การขาดดุลการค้าจากจีน โครงสร้างประชากรที่วัยทำงานลดลง คนแก่ก่อนรวย คุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำ และปัญหาหนี้ครัวเรือนที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้น
ขณะที่สันติธารเปรียบเทียบประเทศเป็นนักกีฬาสูงอายุ ที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดต่ำลงจากที่เคยเติบโต 7% ลงมาเหลือเพียง 3% กลายเป็นประเทศที่สูญเสียความสามารถในการแข่งขันทำให้การลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ไหลไปประเทศอื่นๆ ในอาเซียนและอินเดีย แม้ในปัจจุบันมีวิกฤตทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน แต่ประเทศไทยยังได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากวิกฤตดังกล่าวในสัดส่วนที่น้อยกว่าประเทศในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ยังมีจุดแข็งคือ มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและธนาคารยังมีทุนสำรองที่สูง ไม่เกิดวิกฤตแบบเวเนซุเอลาง่ายๆ
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สันติธารเสนอไว้คือ ‘ก-ข-ค’ โดย
– ก. คือกฎกติกา กล่าวคือประเทศไทยจะต้องทำให้การประกอบธุรกิจในไทยง่ายขึ้นผ่านการ ‘กิโยตินกฎหมาย’ ซึ่งมีการศึกษาว่าหากกิโยตินกฎหมายสำเร็จจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากถึงหนึ่งแสนล้านบาท และประเทศไทยจะต้องเปิดข้อมูล (Open Data) ให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น
– ข. คือขนาดของตลาด กล่าวคือขนาดเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ใหญ่เท่ากับอินเดียหรืออินโดนีเซียซึ่งมีเสน่ห์กว่าในด้านของการลงทุน ดังนั้น ประเทศจะต้องทำตัวให้น่าดึงดูดมากขึ้นผ่านการแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ
– ค. คือโครงสร้างพื้นฐานและคน กล่าวคือประเทศไทยจะต้องเน้นการลงทุนด้านดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น เพราะหากประเทศไทยไม่ลงทุนในด้านพลังงานสะอาด ต่างชาติก็จะไม่เข้ามาลงทุนเพราะเขาตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืนไว้แล้ว ในด้านของคนเราต้อง Reskill และ Upskill แรงงานให้มาเติมในภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต เช่น การท่องเที่ยวและการส่งเสริมด้านสุขภาพ (Healthcare)
สันติธารยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยเรียนรู้ประสบการณ์การรับมือจากวิกฤตโควิด-19 ได้ดี โดยตั้งเป้าความสำเร็จไว้ว่าจะต้องจัดการโรคระบาดให้อยู่หมัด ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจยังต้องไปต่อได้ อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขาดวิสัยทัศน์ระยะยาวว่าในอนาคตประเทศไทยจะวาดภาพไว้อย่างไร ซึ่งการจะที่จะสร้างวิสัยทัศน์ที่ดีได้นั้นต้องการคนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากขึ้นทั้งคนรุ่นเก่าที่รู้จักโลก และคนรุ่นใหม่ที่ทันโลก
“คนที่จับกระแสคลื่นได้คือคนที่ชนะ หากประเทศไทยจับเทรนด์ถูกทาง เราจะโตได้มากกว่าประเทศอื่น” สันติธารกล่าว
ด้านสราวุธกล่าวว่า ปัจจุบันคนกำลังรู้สึกว่าประเทศไทยนั้นหมดความหวัง คำถามที่สำคัญจึงเป็นการทำอย่างไรให้คนมองว่าประเทศนี้มีโอกาส พร้อมกับยกตัวอย่างเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นเมืองที่มีการออกแบบโดยอาศัยความเห็นจากผู้คนหลายกลุ่มถกเถียงกันว่าเมืองจะพัฒนาไปทิศทางใด ทำให้คนมีพื้นที่ของตนเองแบบเฉลี่ยกัน ดังนั้น จึงต้องเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นมากขึ้น เพื่อทำให้ประเทศนี้เป็นพื้นที่ของความหลากหลายและพัฒนาไปด้วยกัน
“สังคมต้องการบทสนทนาที่เพิ่มมากขึ้น และบทสนทนาเหล่านั้นจะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ หากเรามีส่วนร่วมกันมากขึ้นในทุกภาคส่วน ประเทศนี้ก็จะมีความหวัง เพราะประเทศนี้ไม่ได้มีคนเก่งๆ น้อยกว่าประเทศไหน” สราวุธกล่าวทิ้งท้าย
Tags: เศรษฐกิจ, ประเทศไทย, เกียรนาคินภัทร, สังคมสูงวัย, การลงทุน