วันนี้ (13 สิงหาคม 2567) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ‘ปตท.’ เปิดเผยผลการดำเนินงานธุรกิจในไตรมาส 2 ของปี 2567 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า กลุ่มธุรกิจรายได้จากการดำเนินการเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 5.6% และมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานที่ 3.54 หมื่นล้านบาท หรือปรับสูงขึ้น 76.4% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า
ในเอกสารที่เผยแพร่ระบุว่า รายได้หลักของกลุ่ม ปตท.ที่ทำผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ส่วนใหญ่มาจาก ‘กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม’ (PTTEP) ที่มีปริมาณและราคาเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรปกติที่ 2.44 หมื่นล้านบาท ถือว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 1.97 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 23.93% ขณะที่ ‘กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมเคมี’ (PTTGC) ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แสดงผลงานได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งกลุ่มโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ ซึ่งโอเลฟินส์ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เอทิลีนและวัตถุดิบ รวมทั้งปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มอะโรเมติกส์ได้รับอานิสงส์จากเพิ่มขึ้นของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เบนซีน
ขณะที่ ‘กลุ่มธุรกิจการกลั่น’ (TOP) ก็แสดงผลงานได้ดีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยหลักกำไรจากสต็อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง ปตท.และกลุ่มธุรกิจย่อยมีกำไรสต็อกน้ำมันในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ประมาณ 3,000 ล้านบาท
นอกจากนั้นแล้วจากผลการดำเนินธุรกิจของ ปตท.ในไตรมาส 2 ปี 2567 ทำให้กลุ่มธุรกิจมีกำไรสุทธิที่ 3.54 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้ากว่า 1.53 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 76.4% ซึ่งนอกจาก EBITDA ที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีการรับรู้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ (Non-recurring Items) สุทธิภาษีตามสัดส่วนของ ปตท.เป็นกำไรราว 5,400 ล้านบาท ผ่านการจำหน่ายสินทรัพย์ให้ PE LNG ของ PTTLNG และกำไรจากการซื้อหุ้นกู้คืนของ GC และ TOP
อย่างไรก็ตาม บริษัทหลักทรัพย์เอเซีย พลัส ออกบทวิเคราะห์ว่า ในไตรมาส 3 ปี 2567 ปตท.และกลุ่มธุรกิจย่อยจะมีกำไรปกติที่ทรงตัวเมื่อเทียบกับงวดก่อนหน้า โดยปัจจัยบวกจะมาจาก ‘กลุ่มธุรกิจโรงกลั่น’ ที่ราคาอิงตลาดสิงคโปร์จะปรับตัวมาที่ 4.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 จะอยู่ที่ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเท่านั้น ขณะที่ปัจจัยลบจะมาจาก ‘กลุ่มธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม’ ที่จะลดปริมาณการผลิตลงจากการปิดตัวของหลายแหล่งเพื่อปิดทำการซ่อมบำรุง
และปัจจัยสุดท้าย ‘กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมเคมี’ คาดว่าจะทรงตัวอยู่ระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งต้องรอการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคมากขึ้น
Tags: การเงิน, พลังงาน, ปตท.