เคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเวลาเจอเด็กเล็ก แก้มยุ้ย น่ารัก หรือแมวตัวอ้วน ตาใส พุงโต แล้วมักเกิดความรู้สึก ‘มันเขี้ยว’ จนอยากเข้าไปฟัด ไปหยิก ไปหอม แม้ว่าจะเป็นเด็กหรือสัตว์เลี้ยงที่เราไม่คุ้นเคยก็ตาม
แรงดึงดูดอันน่าสนใจดังกล่าวเป็นเหตุให้ แคทเธอรีน สตาฟโรโพรอส (Katerine Stavropoulos) ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและนักจิตวิทยา พยายามหาคำตอบผ่านงานวิจัยที่มีชื่อว่า “It’s so Cute I Could Crush It!”: Understanding Neural Mechanisms of Cute Aggression
ก่อนทำการทดลอง แคทเธอรีนได้ทำการอ้างอิงผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเยล เมื่อปี 2015 ที่เปิดเผยว่า มนุษย์จะรู้สึกมันเขี้ยวอย่างมีนัยสำคัญ หากเห็นภาพของเด็กเล็กหรือลูกสัตว์เลี้ยง มากกว่ามนุษย์และสัตว์เลี้ยงที่โตเต็มไว อีกทั้งหากเป็นการพบเจอในแบบรูปภาพหรือวิดีโอ โดยเฉพาะที่มีการเน้นไปที่ดวงตา แก้ม และหน้าผากของเด็กหรือสัตว์ จะสร้างความรู้สึกมันเขี้ยวได้มากกว่า
แคทเธอรีนเริ่มหาคำตอบต่อว่า เมื่อมนุษย์ได้พบเห็นสิ่งเร้าที่ทำให้รู้สึกมันเขี้ยวเป็นพิเศษอย่างเด็กและลูกสัตว์เลี้ยง ร่างกายของมนุษย์จะมีปฏิกิริยาอย่างไร โดยการทดลองได้เจาะจงไปที่การตรวจวัดกระแสไฟฟ้าที่สมองส่งผ่านไปยังเส้นประสาทสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งเธอได้ตั้งสมมติฐานว่า เมื่อพบเห็นรูปดังกล่าว สมองจะส่งสัญญาณให้ร่างกายของมนุษย์เกิดความรู้สึกอยากกอด หอม หรือแม้กระทั่งบีบแรงๆ
การทดลองดังกล่าวให้ผู้ร่วมการทดลองจำนวน 54 คน อายุระหว่าง 18 ถึง 40 ปีขึ้นไป ทำการสวมหมวกที่สามารถตรวจสอบคลื่นกระแสไฟฟ้าในสมอง จากนั้นนำภาพ 32 ภาพ แบ่งออกเป็น 4 หมวดหมู่ คือรูปเด็กเล็กที่ปรับแต่งให้ดูน่ารักเป็นพิเศษ รูปเด็กทั่วไป รูปสัตว์ที่ยังไม่โตเต็มวัย และรูปสัตว์โตเต็มวัย ให้ผู้ร่วมการทดลองทำการประเมินว่าในแต่ละภาพดูน่ารักและเกิดความรู้สึกมันเขี้ยวขนาดไหน ในระดับ 1 ถึง 10
ผลปรากฏว่ารูปของเด็กที่ถูกปรับแต่งให้น่ารักเป็นพิเศษได้รับคะแนนสูงสุด รองลงมาคือรูปสัตว์เลี้ยงที่ยังไม่โตเต็มวัน รูปเด็กทั่วไป และรูปสัตว์โตเต็มวัย สิ่งที่น่าสนใจคือในส่วนของการให้ความเห็น แม้รูปเด็กทั่วไปจะได้คะแนนเป็นอันดับ 3 แต่ผู้ร่วมการทดลองหลายคนก็ยังเขียนในเชิงว่า ตนรู้สึกมันเขี้ยวเป็นพิเศษมากกว่ารูปสัตว์เลี้ยงในการทดลองทั้ง 2 ประเภท
เมื่อทำการตรวจสอบคลื่นสมองในหมวกที่สวมไว้ตอนแรกพบว่า คลื่นสมองจะถูกกระตุ้นในสมอง และเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้ามายังร่างกาย ให้รู้สึกมันเขี้ยว ซึ่งยิ่งผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนความน่ารักในแต่ละรูปมากเท่าไร คลื่นดังกล่าวก็มีการพุ่งสูงขึ้นสอดคล้องตามกันอยู่เสมอ
“การทดลองนี้พิสูจน์ได้ว่า มีความสัมพันธ์ทางกายภาพที่ชัดเจนระหว่างการตอบสนองของร่างกายและรูปเด็กหรือสัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก ร่างกายจะส่งสัญญาณให้เรารู้สึกว่า หากเราได้กระทำการใดๆ ต่อสิ่งเหล่านี้ จะส่งผลให้ร่างกายได้รับความสุขเป็นพิเศษ” แคทเทอรีนกล่าวสรุปผลการทดลองที่เกิดขึ้น
การทดลองดังกล่าวเป็นการช่วยยืนยันว่า ความรู้สึกมันเขี้ยวต่อเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด แต่มันคือการทำงานของระบบประสาทในร่างกาย ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าสนใจว่าปฏิกิริยาทางธรรมชาติดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือทดลองต่อยอดในด้านใดต่อไปบ้าง
ที่มา