วันนี้ (7 กรกฎาคม 2568) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน นำคณะ สส.ของพรรคยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มาขององค์กรอิสระต่อ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ณัฐพงษ์กล่าวว่า ขณะนี้พรรคประชาชนเข้าใจถึงวิกฤตเฉพาะหน้าของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นวิฤกตเศรษฐกิจในเรื่องของการเจรจาภาษีสหรัฐอเมริกา รวมถึงสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา ซึ่งวิกฤตเหล่านี้จะได้รับการป้องกันและแก้ไข จำเป็นต้องมีรัฐบาลและระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ ตลอดจนการมีกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็ง

หัวหน้าพรรคประชาชนระบุต่อว่า หลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา เช่น กระบวนการนิติสงครามถอดถอนนักการเมือง การตรวจสอบการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน คดีฮั้วเลือก สว.ตลอดจนความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ตึกสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม สังคมต่างตั้งคำถามถึงการทำงานขององค์กรอิสระว่า ทำงานอย่างตรงไปตรงมาและมีความยึดโยงกับประชาชนหรือไม่

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ณัฐพงษ์กล่าวว่า เป็นที่มาที่ทำให้พรรคประชาชนจำเป็นต้องยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ควบคู่ไปกับการแก้ไขทั้งฉบับ เพื่อให้อำนาจผูกขาดการเลือกและการถอดถอนองค์กรอิสระไม่ถูกจำกัดไว้เพียงที่ สว.

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขยายความในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า วันนี้จะมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราทั้งหมด 3 ร่าง แต่มีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ‘ไม่เป็นอิสระ’ จากประชาชน

ในร่างฯ ที่ 1 พริษฐ์กล่าวว่า เป็นร่างฯ ที่มีเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่

1. ต้องการให้ที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมีความหลากหลายมากขึ้น โดยปรับกระบวนการสรรหา ‘การเพิ่มช่องทาง’ ให้มีคณะกรรมการสรรหาจากหลายฝ่าย เช่น ฝ่ายศาล, ฝ่าย สส.ของรัฐบาล, ฝ่าย สส.ของฝ่ายค้าน หรือ สว.เพื่อให้ได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีความหลากหลายทางความคิดและประสบการณ์

2. ต้องการเปลี่ยนคัดเลือก รับรอง ไม่ให้ผูกขาดไว้กับ สว. เพื่อให้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่มีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยเสนอให้เปลี่ยนการคัดเลือก รับรอง จากเดิมที่ สว.มีอำนาจชี้ขาดให้เป็นการ ‘พิจารณาร่วมของทั้ง 2 สภา’ และจะต้องได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา, มีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายรัฐบาล และมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของ สส.ฝ่ายค้าน

3. ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระถูกตรวจสอบจากประชาชนได้ โดยเสนอให้มีการคืนสิทธิให้ สส.และประชาชน 2 หมื่นรายชื่อเข้ายื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หากมีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ มีการทุจริตต่อหน้าที่ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ขณะที่ร่างที่ 2 และ 3 สส.พรรคประชาชนระบุว่า เป็นร่างฯ ที่ปรับ ‘เฉพาะจุด’ โดยร่างที่ 2 เป็นการแก้ไขการคัดเลือก รับรอง จากเดิมที่ต้องเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภา มาเป็นการพิจารณาร่วมของทั้ง 2 สภาและให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ส่วนร่างที่ 3 จะเป็นการให้สิทธิ สส.และประชาชนเข้าสู่กระบวนการริเริ่มถอดถอนองค์กรอิสระ

“ทั้ง 3 ร่างนี้มุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราหวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะเห็นชอบ คือการทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระนั้นไม่เป็นอิสระจากประชาชน แต่เป็นอิสระจากการถูกครอบงำโดยกลุ่มก้อนทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“เราหวังว่า ทุกพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะเห็นตรงกันว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็ก แต่เป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่เราต้องมาช่วยกันปลดชนวน” พริษฐ์กล่าว

Tags: , , , , , ,