วันนี้ (10 เมษายน 2567) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตั้งโต๊ะแถลงรายละเอียดนโยบาย 1 หมื่นบาทดิจิทัลวอลเล็ต ภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณานโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้วเสร็จ โดยเป็นการแจกแจงรายละเอียดของโครงการ หลักเกณฑ์ เน้นย้ำถึงความถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ในการดำเนินนโยบาย
เศรษฐาเน้นย้ำว่า โครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทดิจิทัลวอลเล็ตเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล ที่จะยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยประมาณร้อยละ 1.2-1.6 จากการใช้จ่ายของประชาชนในโครงการกว่า 50 ล้านคน โดยประชาชนและร้านค้าสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการในไตรมาส 3 ซึ่งเงินจะส่งตรงถึงพี่น้องประชาชนในไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้
สำหรับแหล่งที่มาของเงิน ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า ตามที่ได้รับมอบหมายให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือกวงเงินกว่า 5 แสนล้านบาท ว่าสามารถบริหารจัดการได้อย่างไรบ้าง ณ วันนี้มีคำตอบให้คณะกรรมการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตแล้วว่า วงเงิน 5 แสนล้านบาท สามารถบริหารจัดการผ่านงบประมาณได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และปี 2568 ควบคู่กันไป โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท ซึ่งขยายกรอบวงเงินงบประมาณในปี 2568 เรียบร้อย
ส่วนที่ 2 มาจากการดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยจะใช้ ม.28 ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวนประมาณ 17 ล้านคน ผ่านกลไก ม.28 ในปีงบประมาณ 2568
ส่วนที่ 3 จะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณของปี 2567 ของรัฐบาล เป็นเงินจำนวน 175,000 ล้านบาท โดยงบประมาณปี 2567 เพิ่งเริ่มใช้ไป ส่งผลให้รัฐบาลจะมีเวลาในการพิจารณาว่า รายการใดสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงอาจจะมีการนำงบกลางมาใช้เพิ่มเติมในส่วนนี้ หากวงเงินไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ปลัดกระทรวงการคลังเน้นย้ำว่า การดำเนินการจัดหาแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตราที่แบงก์ชาติแสดงความกังวล โดยในวันเริ่มโครงการดิจิทัลวอลเล็ตในช่วงปลายปี จะมีเงิน 5 แสนล้านบาทอยู่ในวันเริ่มต้นโครงการ
สำหรับ ‘หลักเกณฑ์’ ประชาชนและร้านค้าที่สามารถเข้าร่วมโครงการ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ภาพรวมมีการปรับเปลี่ยนบางส่วน คือการใช้จ่ายที่สามารถทำได้เฉพาะร้านค้าขนาดเล็กที่กำหนดโดยกระทรวงพาณิชย์เท่านั้น ส่วนเงื่อนไขอื่นยังคงเดิม ผู้เข้าหลักเกณฑ์เข้าร่วมโครงการ มีดังนี้
1. ผู้มีอายุเกิน 16 ปีขึ้นไป และไม่เป็นผู้มีรายได้พึงประเมิน 8.4 หมื่นบาทต่อปีภาษี มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งเป็นเกณฑ์เดิมที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
2. การใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
– กลุ่มประชาชนใช้จ่ายกับร้านค้า ใช้จ่ายได้ในพื้นที่ระดับอำเภอ กำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
– กลุ่มใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่ และขนาดของร้านค้าที่จะมีการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้นสินค้าอบายมุข น้ำมัน สินค้าบริการ ออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนด
4. สำหรับการใช้จ่ายในโครงการจะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นโดยรัฐ ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลร่วมกับกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เป็น ‘ซูเปอร์แอปพลิเคชัน’ ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายกับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ ‘Open Loop’
5. คุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถถอนเงินจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี 3 ประเภท ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตาม ม.40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นประชาชนผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขายเท่านั้น ส่วนการถอนเงินสดร้านค้าจะไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะถอนได้ต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงของการทุจริตของโครงการ และเพิ่มผลที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ
6. สำหรับระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการ ประชาชนและร้านค้าสามารถเข้าร่วมโครงการภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการ จุลพันธ์ระบุว่า คณะกรรมการเติมเงินหมื่นดิจิทัลวอลเล็ตแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นประธาน มีผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ และที่ประชุมมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีจุลพันธ์เป็นประธาน มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไข เป็นไปตามระเบียบ กฎหมาย และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประสานงานและประชาสัมพันธ์โครงการในประเด็นต่างๆ ด้วย
สำหรับแนวทางต่อไป คณะกรรมการจะมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ในฐานะเลขานุการและกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายเติมเงินหมื่น เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อภายในเดือนเมษายนนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการแจกเงินหมื่นของรัฐบาลผิดจากความตั้งใจแรกอย่างไร เศรษฐาระบุว่า “ระยะเวลาที่จะเกิดขึ้นได้ แต่แน่นอนว่าเราเป็นรัฐบาลที่รับฟังเสียงของพี่น้องประชาชนที่คาดว่า ทีแรกจะออกมาได้ต้นปีก็ดีเลย์ไปถึงปลายปี แต่อย่างที่เรียนว่า เราต้องฟังเสียงของทุกๆ คน ที่เข้ามาให้ข้อแนะนำ และเสนอแนะ ซึ่งการตั้งคณะกรรมการมาก็ต้องมีการดูอย่างดี อย่างละเอียด เพื่อให้เป็นโครงการที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ สุจริต ผลประโยชน์ทุกบาททุกสตางค์ตกอยู่กับพี่น้องประชาชน”
อย่างไรก็ตาม จากแถลงการณ์มีการคาดการณ์ว่า หลังจากเริ่มแจกจ่ายเงินให้ประชาชน เศรษฐกิจจะโตใกล้เป้าของรัฐบาลที่ 5% อีกทั้งจุลพันธ์ยังยืนยันว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเพียงหนึ่งในหลายโครงการที่รัฐบาลจะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างปี เพื่อสร้างกำลังซื้อ ให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย นำมาซึ่งการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจต่อไป
Tags: เศรษฐา, ดิจิทัลวอลเล็ต, แจกเงินหมื่น, Politic, รัฐบาล