วันนี้ (3 กรกฎาคม 2567) ที่อาคารรัฐสภามีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นขอหารือกับวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในประเด็นความคืบหน้าข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย (MOU) เรื่องตำแหน่งประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 หรือ 1 ปีที่ผ่านมา
พิธาได้ทวงถามความคืบหน้า 3 ประเด็น ได้แก่
- การทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง
- ความคืบหน้าการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเพื่อความยุติธรรม นิติรัฐ นิติธรรม แก้ไขวิกฤตทางการเมือง และแก้ไขปัญหาประชาชนเห็นต่างที่ต้องติดคุกและลี้ภัย
- การแก้ไขกฎหมายเพื่อปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมของพรรคก้าวไกล ซึ่งสถานะปัจจุบันถูกบรรจุในวาระของสภาฯ เรียบร้อยแล้ว, ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันติดอยู่ที่นายกรัฐมนตรีเพราะเป็นร่าง พ.ร.บ.การเงิน
“ทั้งหมดนี้เพื่อปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัย ให้เป็นของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งหมด 3 ประเด็นที่กล่าวมานั้นไม่ใช่เรื่องอื่นไกล แต่เป็นเนื้อหาในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่พรรคการเมืองต่างๆ เคยทำร่วมกันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 หรือวันนี้เมื่อปีที่แล้วพอดี
“กระผมขอปรึกษาหารือประธานสภาฯ เพื่อฝากไปยังนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ผู้แทนราษฎร รวมทั้งพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ให้ร่วมผลักดันตามที่เคยสัญญาไว้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด” พิธากล่าวทิ้งท้าย
สำหรับเนื้อหาตอนหนึ่งในข้อตกลงระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันที่มีข้อตกลงหลังเกิดข้อพิพาทเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยพรรคก้าวไกลได้เตรียม ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เนื่องจากมีเสียง ส.ส.มากเป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทย ได้เตรียม สุชาติ ตันเจริญ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้ดำรงตำแหน่ง จนได้ข้อสรุปให้ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งแทน โดยส่วนหนึ่งในข้อตกลงระบุไว้ดังนี้
ข้อ 2 บุคคลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ พร้อมผลักดันวาระที่ทำให้รัฐสภาไทยก้าวหน้า ให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีประสิทธิภาพ และเป็นของประชาชน
และข้อ 4 พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยยืนยันร่วมกันให้ความเห็นชอบกฎหมายสำคัญเพื่อประชาชน ซึ่งรวมถึงการนิรโทษกรรมคดีแสดงออกทางการเมือง และการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับปฏิรูปกองทัพ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ร่างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก และร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ตามที่พรรคก้าวไกลเสนอ
Tags: เพื่อไทย, ปฏิรูปกองทัพ, นิรโทษกรรม, ก้าวไกล, พิธา, MOU