โครงการ ‘เสียงประชาชน’ นำโดยเครือข่ายนักวิชาการ 8 มหาวิทยาลัยคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และสื่อมวลชน 8 สำนัก ได้แก่ เนชั่น ไทยรัฐทีวี ข่าวเวิร์คพอยท์, พีพีทีวี, THE STANDARD, The MATTER, The Momentum และ The Reporters ชวนประชาชนลง ‘เสียงประชาชน’ ในคำถามที่ว่า

“การวินิจฉัยว่า​ พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ จะพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ​ 8​ ปี​ ในวันที่​ 24​ สิงหาคม​ 2565​ หรือไม่​ เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ​ แต่ในฐานะประชาชน​ ท่านเห็นว่า​ พล.อ.​ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ ควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิน​ 8​ ปีหรือไม่?”

สำหรับวิธีการโหวต ให้ประชาชนเลือกจากสองคำตอบคือ ‘ควร’ และ ‘ไม่ควร’ โดยการโหวตจะดำเนินการโดยสื่อโทรทัศน์ดิจิทัลและสื่อโซเชียลมีเดียที่ร่วมโครงการจะนำคิวอาร์โค้ดขึ้นหน้าจอและหน้าเพจให้ประชาชนสแกนเพื่อโหวตทางโทรศัพท์มือถือ เริ่มโหวตตั้งแต่ เวลา 06.00 น. ของวันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม และปิดโหวตเวลา 24.00 น. ของวันอาทิตย์ที่ 21 สิงหาคม 2565 และจะประกาศผลในวันถัดมาคือ วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม 2565

ทั้งนี้ โทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องหรือหมายเลขไอพีหนึ่งหมายเลข จะโหวตได้เพียงหนึ่งครั้งเช่นเดียวกับในครั้งแรก แม้อาจจะมีปัญหาว่ามีคนที่มีโทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่องทำให้จะมีคนที่โหวตได้มากกว่าหนึ่งครั้งก็ตาม แต่ในเรื่องนี้นั้นทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด ทุกคนและทุกฝ่ายมีโอกาสเสมอกันในการโหวต หรือชวนคนมาโหวต หรือแม้กระทั่งจะใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าหนึ่งเครื่องในการโหวต ทุกฝ่ายก็มีโอกาสอย่างเสมอกันเช่นกัน

สำหรับโครงการเสียงประชาชนจัดขึ้นเป็นครั้งที่สอง หลังจากครั้งแรกที่ให้ประชาชนโหวตลงมติไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีรวม 11 คนคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 22-23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกติกาคือโทรศัพท์มือถือหนึ่งเครื่องโหวตได้หนึ่งครั้งนั้น มีผู้เข้าร่วมโหวตถึง 524,806 หมายเลข

แม้จะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่เป็นครั้งแรกที่มีการดำเนินการลักษณะนี้ที่ประชาชนทั้งประเทศ รวมถึงประชาชนทึ่อยู่ต่างประเทศสามารถโหวตได้โดยใช้คิวอาร์โค้ด และทำให้ ‘เสียงประชาชน’ ที่เป็นเจ้าของประเทศดังขึ้น และมีความหมายมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออกด้วยการชุมนุมแต่เพียงอย่างเดียว

ขณะเดียวกัน ยังมิได้มุ่งหมายที่จะดำเนินการในทางที่จะเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่นายกรัฐมนตรี หรือต่อผู้ใด หากประสงค์ที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญได้แสดงออกซึ่ง ‘เสียงประชาชน’ ซึ่งมิได้มีผลทางกฎหมาย แต่คือ ‘เสียงประชาชน’ ที่ทุกฝ่ายควรจะได้รับฟัง เพื่อให้ ‘เสียงประชาชน’ ได้ดังยิ่งขึ้นในวาระอื่นๆ และเรื่องสาธารณะอื่นๆ และนำไปสู่การมี ‘ประชาธิปไตยโดยตรง’ มากยิ่งขึ้นในอนาคตต่อไป

ร่วมโหวตได้ทาง https://bit.ly/3c5tOuh