วันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2568) ที่อาคารอนาคตใหม่ กรุงเทพฯ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงจุดยืนกรณี 44 สส.พรรคประชาชน รวมทั้งอดีต สส.พรรคก้าวไกล ถูกเรียกให้รับทราบข้อกล่าวหา ปมยื่นแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ว่ามีความผิดจริยธรรมร้ายแรง โดยระบุว่า ยังไม่หวั่นไหวและยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อทั้งในและนอกสภาฯ โดยเฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้น
ณัฐพงษ์ระบุว่า ภายหลังการเดินทางเข้าชี้แจงและรับทราบข้อกล่าวหากับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะมีกรอบระยะเวลาเหลืออีก 15 วัน ซึ่งพรรคประชาชนจะขอขยายกรอบเวลาเพิ่ม เนื่องจากอยู่ในช่วงเตรียมการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างไรก็ตามยังคงมี สส.ของพรรคประชาชนบางส่วนที่จะเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในเบื้องต้น เพื่อดูรายละเอียดและหลักฐานจากทางคณะกรรมการ ป.ป.ช.
สำหรับการทำงานของพรรคประชาชน ณัฐพงษ์ยืนยันว่า ข้อกล่าวหาผิดจริยธรรมร้ายแรงในการยื่นแก้ไขมาตรา 112 นั้น ไม่ได้ทำให้พรรคประชาชนเสียสมาธิในการทำงาน และยังคงเดินหน้าทำงานให้กับประชาชนต่อไป เพราะนอกจากจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยังมีชุดกฎหมายที่พรรคประชาชนเตรียมยื่นเข้าสภาฯ ในปีนี้ ทั้ง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า, พ.ร.บ.การศึกษา รวมถึงกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน ในขณะที่การบริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูนยังคงเดินหน้าทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ทั้งยังมีสนามเทศบาลที่จะเตรียมเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม
“พวกเรายืนยันว่าไม่ได้ทำผิดอะไร ไม่หวั่นไหว ไม่กระทบสมาธิในการทำงาน” ณัฐพงษ์ระบุ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีภาพ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ประธาน ป.ป.ช. เดินทางเข้าพบ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีบางช่วงบางตอนคล้ายกับมีการเจรจาขอให้ประธานสภาฯ ถอนเรื่องของ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ล่ารายชื่อประชาชนยื่นถอดถอนตนออกจากตำแหน่งประธาน ป.ป.ช.นั้น
ณัฐพงษ์ให้ความเห็นว่า ตามคลิปที่มีการเผยแพร่ออกมานั้น เห็นได้ชัดว่า ประธาน ป.ป.ช.รับรู้ว่ามีการเข้าชื่อเพื่อร้องเรียนตัวเอง โดยการเข้าไปพบประธานรัฐสภาเป็นซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในกระบวนการร้องเรียนต่างๆ นั้น มองว่าเป็นเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจเป็นการเข้าพบเพื่อขอความเห็นจากประธานสภาฯ ขอเป่าคดีหรือไม่ อย่างไรก็ตามในฐานะของพรรคฝ่ายค้านจะไม่นิ่งเฉยต่อกรณีดังกล่าว
สำหรับเรื่องการสอบจริยธรรม 44 สส.นั้น เกิดขึ้นจากคำร้อง ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ขอให้ไต่สวนดำเนินคดีกับ สส.พรรคก้าวไกลจำนวน 44 คน ในฐานฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีร่วมกันเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการ ‘ล้มล้าง’ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งหนังสือลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เรื่องขอเชิญให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาส่งไปยัง สส.พรรคประชาชน และอดีต สส.พรรคก้าวไกล โดยระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แต่งตั้งกรรมการไต่สวน เพื่อไต่สวนกรณีกล่าวหาว่า มีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงกรณีเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา โดยชี้ว่า บัดนี้คณะกรรมการไต่สวนได้ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและพิจารณาแล้วเห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนว่าข้อกล่าวหามีมูลความผิด
ด้าน สส.พรรคประชาชนจำนวน 25 คนที่ต้องเดินทางรับทราบข้อกล่าวหา ได้แก่
-
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ
-
ศิริกัญญา ตันสกุล
-
นิติพล ผิวเหมาะ
-
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล
-
ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์
-
ณัฐวุฒิ บัวประทุม
-
วรภพ วิริยะโรจน์
-
คำพอง เทพาคำ
-
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
-
องค์การ ชัยบุตร
-
มานพ คีรีภูวดล
-
วาโย อัศวรุ่งเรือง
-
วรรณวิภา ไม้สน
-
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
-
สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ
-
รังสิมันต์ โรม
-
สุรวาท ทองบุ
-
ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์
-
เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร
-
ธีรัจชัย พันธุมาศ
-
ญาณธิชา บัวเผื่อน
-
จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์
-
จรัส คุ้มไข่น้ำ
-
ศักดินัย นุ่มหนู
-
วุฒินันท์ บุญชู