ย้อนความกลับไปเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขึ้นอภิปรายพร้อมหยิบยกประเด็นฉาวโฉ่ของวงการผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทยมาเปิดโปงอีกครั้ง โดยเจ้าตัวระบุว่า นี่คือมหากาพย์ ‘ตั๋วช้างภาค 2’ หัวข้อ ‘ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย’ กับการย้อนรอยคดีขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา เมื่อปี 2558 ที่พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน
“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ หลังสืบสวนไปเรื่อยๆ พบว่าขบวนการค้ามนุษย์นี้เกี่ยวข้องกับทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และนักการเมืองในพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำกันเป็นขบวนการใหญ่” ประโยคสำคัญที่รังสิมันต์กล่าวระหว่างการอภิปราย น่าจะอธิบายเหตุผลได้ทั้งหมดว่า เหตุใดเจ้าหน้าที่ตำรวจน้ำดีอนาคตไกลอย่างพลตำรวจตรีปวีณ ต้องเปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ไม่สมเหตุสมผลกับที่อุทิศชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของประเทศชาติ
จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 6 ปีเศษ ที่คดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจายังไร้บทสรุป เต็มไปด้วยปริศนาและข้อพิสูจน์หลักฐานที่ไม่สามารถสาวถึงตัวผู้ร่วมขบวนการรายใหญ่มาลงโทษ ขณะเดียวกัน พลตำรวจตรีปวีณยังคงตกเป็นจำเลยต่อความอยุติธรรม ไม่สามารถเดินทางกลับสู่บ้านเกิดมาพบหน้าครอบครัว ท่ามกลางคำถามฉงนสงสัยจากประชาชน หรือแม้แต่สื่อดังระดับโลกอย่าง Al Jazeera ว่าเหตุใดรัฐไทยปิดหูปิดตา มองไม่เห็นความมิชอบมาพากลเหล่านี้
ฉะนั้นเราจึงอยากชวนคุณผู้อ่านมาย้อนไทม์ไลน์ ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างตลอด 2 เดือนเศษที่ผ่านมา นับตั้งแต่การอภิปรายตั๋วช้างภาค 2 เพื่อไม่ให้คดีดังกล่าวเงียบหายไปกับสายลม
1.
จุดเริ่มต้นแท้จริงเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 หลังกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ประจำปี โดยลดระดับประเทศไทยจากกลุ่มเทียร์ 2 เป็นเทียร์ 2 วอชลิสต์ หรือเกือบแย่สุดจากทั้งหมด 4 ระดับ และจากรายงานยังระบุว่า ประเทศไทยเป็นทั้งประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ ทำให้เริ่มมีการขุดคุ้ยถึงประเด็นคดีการค้ามนุษย์ในไทยมากขึ้น จนนำมาสู่ขบวนการเปิดโปงบรรดานักการเมืองท้องถิ่น ตำรวจ และทหาร ว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา
2.
เรื่องเงียบหายไปนาน 6 ปี ทุกคนคิดว่าจะจบลงไปพร้อมๆ กับการขอลี้ภัยของ พลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ หลังจากจับกุม พลโท มนัส คงแป้น ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบกได้เมื่อปี 2558 แต่เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ขึ้นอภิปรายแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมหยิบยกประเด็น ‘ตั๋วช้างภาค 2’ หัวข้อ ‘ตำรวจเลวได้ดี ตำรวจดีต้องลี้ภัย’ โดยอ้างอิงคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา เมื่อปี 2558 ที่มีการค้นพบค่ายกักกันโรฮีนจาบนเทือกเขาแก้ว อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ซึ่งค่ายกักกันแห่งนี้บรรจุคนได้ราว 1,000 คน แต่เบื้องต้นคาดว่า มีผู้ลี้ภัยไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นคนที่ถูกจับมา ท่ามกลางสภาพความเป็นอยู่สุดเลวร้ายเกินพรรณนา จนแทบไม่เชื่อว่านี่คือสิ่งที่มนุษย์จะทำกับมนุษย์ด้วยกันเองลงคอ
3.
รังสิมันต์ยังระบุต่อไปว่า จากการรวบรวมสืบค้นข้อมูลตลอดหนึ่งเดือน ผนวกกับการปรึกษา พรรณิการ์ วานิช ที่เคยติดตามคดีค้ามนุษย์ และปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อร่วมพรรค ที่เคยอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์ในปี 2563 ก็พบความจริงว่า ขบวนการค้ามนุษย์มีวิธีการเรียกเก็บเงิน 1-7 หมื่นบาท กับชาวโรฮีนจาที่ต้องการผ่านทางไปยังมาเลเซีย หากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายได้ จะถูกนำไปขังรวมกันในคอกสัตว์ เพื่อเฆี่ยนตีทำร้ายร่างกาย ข่มขืนกระทำชำเรา ปล่อยให้อดอยากป่วยตายไม่น้อยกว่า 30 ราย บ้างถูกนำไปค้าแรงงานทาสประมง จนถึงค้าบริการทางเพศ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง คอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง คดีดังกล่าวจึงเงียบเฉย และไม่มีชาวบ้านท้องถิ่นรายไหนกล้าปริปากพูดออกมาแม้จะรู้เห็นชัดขนาดไหน
4.
การสืบค้นหาข้อมูลยังถลำลึกเข้าไปเรื่อยๆ รังสิมันต์อธิบายว่า กุญแจสำคัญของคดีนี้ คือพลตำรวจตรีปวีณ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ที่ถูกมอบหมายให้เป็นหัวหน้าชุดสืบคดี พร้อมกับได้พบความจริงว่า ขบวนการค้ามนุษย์นี้เกี่ยวข้องกับทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ และนักการเมืองในพื้นที่ โดยมี พลโท มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ศิษย์เก่าเตรียมทหารรุ่น 16 เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ทว่าทีมสืบสวนของพลตำรวจตรีปวีณ ณ เวลานั้น กลับไม่ได้รับความร่วมมือจากตำรวจที่รับผิดชอบคดีอยู่ คือพันตำรวจเอก ด. พันตำรวจเอก อ. และพันตำรวจเอก ฉ. เวลาขอข้อมูลก็ถูกปฏิเสธ จนต้องขยายผลเอง
ต่อมามีการค้นบ้านพักกลุ่มผู้ต้องหาในจังหวัดระนอง ที่มีพันตำรวจเอก อ. เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้น พบหลักฐานการโอนเงินของผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ ไปยังบัญชีของพลโทมนัส โดยมีรายการธุรกรรมเป็นวงเงินถึง 14 ล้านบาท หลักฐานสำคัญชิ้นนี้ พลตำรวจตรีปวีณก็เพิ่งมารู้ทีหลังจากนักข่าว เพราะพันตำรวจเอก อ. ที่เป็นหัวหน้าชุดตรวจค้นไม่ยอมส่งหลักฐานให้ แม้กระทั่งการขอออกหมายจับจำนวน 153 หมาย ซึ่งหนึ่งในนั้น มีการออกหมายจับพลโทมนัส เขายังต้องแจ้งคำร้องต่อศาลถึง 2 รอบ เพราะพลโทมนัสเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่และอยู่ใต้บังคับบัญชาของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ซึ่งกำกับดูแล ‘ตำรวจ’ ทั้งประเทศด้วย
ภายหลังพลโทมนัสเข้ามอบตัว พันตำรวจตรีปวีณได้รับโทรศัพท์จากนายตำรวจที่ใกล้ชิดกับพลเอกประวิตร พร้อมคำถามว่า พลโทมนัสจะได้รับการประกันตัวหรือไม่หากเข้ามอบตัว แต่ตำรวจน้ำดีรายนี้ปฏิเสธหนักแน่นว่านี่เป็นคดีร้ายแรงไม่สามารถยื่นขอประกันตัวได้ ถึงกระนั้น ชีวิตในเรือนจำของพลโทมนัสยังคงสุขสบายได้รับการดูแลจาก ‘ผู้ใหญ่’ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถึงขั้นมีอิสระเดินไปไหนก็ได้ตามอำเภอใจ สามารถเดินไปข่มขู่พยานถึงห้องสอบสวนได้จนกระทบต่อรูปคดี หรือฝากข้อความข่มขู่ไปยังพลตำรวจตรีปวีณให้ ‘ระวังตัว’ ไว้ด้วย
5.
ผลพวงจากการสืบสวนคดีทำให้พลตำรวจตรีปวีณถูกเตือนจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายรายว่า ทางกองทัพไม่พอใจเป็นอย่างมาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เองก็ไม่พอใจเช่นกันที่มีการจับกุมตัวพลโทมนัสและนายทหารคนอื่นๆ กระทั่งสิ้นเดือนกันยายน 2558 เขาต้องยุติภารกิจสอบสวนเนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุนและถูกบีบจากสถานการณ์การเมือง ซึ่งในเวลานั้น คสช. ยังทรงอำนาจในฐานะคณะรัฐประหาร และพลเอกประยุทธ์ยังทรงอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ แม้ยังลากต้นตอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีขบวนการค้ามนุษย์มาลงโทษไม่หมด
กระทั่งวันที่ 21 ตุลาคม 2558 มีคำสั่งย้ายพลตำรวจตรีปวีณ จากรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ไปอยู่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) สถานที่ที่ตำรวจต่างรู้กันดีว่าเป็นเหมือน ‘ใบสั่งตาย’ พลตำรวจตรีปวีณจึงตัดสินใจยื่นใบลาออกจากราชการตำรวจ อย่างไรก็ตามพลอากาศเอก ส. ได้ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ ให้พลตำรวจตรีปวีณเพื่อทำเรื่องถอนใบลาออก คือ 1. มาทำงานกับเขาแบบใบสมัครพิเศษ ที่จะส่งให้เฉพาะคนที่ถูกจับตามองและเลือกเข้าไปทำงานในหน่วยพิเศษที่สูงมากๆ ชื่อย่อหน่วยว่า สนง.นรป.904 ภายใต้สังกัดฝ่ายราชองครักษ์ และ 2. เข้ารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อรับผิดชอบคดีลักลอบค้ามนุษย์ต่อไป
เช่นนั้น พลตำรวจตรีปวีณจึงตัดสินใจยกเลิกใบลาออกและเลือกข้อเสนอที่ 2 เพราะเชื่อว่า ผู้ใหญ่ในวงการยังหนุนหลังสนับสนุนให้ความคุ้มครองขณะดำเนินคดีค้ามนุษย์ต่อไป ทว่าในคืนเดียวกัน พลตำรวจตรีปวีณกลับถูกเรียกให้ไปพบผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในวันถัดไป เมื่อได้ไปพบปรากฏว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา กล่าวกับพลตำรวจตรีปวีณว่า “พี่กับผมไม่มีอะไรกันนะครับ พี่ต้องลาออก แล้วอยู่เงียบๆ” จากนั้นก็ต่อสายถึง พลตำรวจเอก จุมพล มั่นหมาย ที่ก่อนหน้านั้นเคยแนะนำให้พลตำรวจตรีปวีณลาออกแล้วอยู่เงียบๆ
ภายในหัวของพลตำรวจตรีปวีณเต็มไปด้วยความสับสน เขาเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเสมือนบีบให้ตนเองเสี่ยงต่อการถูกธำรงวินัยหรือถูกยัดข้อหาคดีอาญา มาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เพราะปฏิเสธเข้าร่วมหน่วย 904 และผลสุดท้ายวันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 พลตำรวจตรีปวีณก็ตัดสินใจยื่นเอกสารขอลี้ภัยและเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย
6.
ในตอนหนึ่งของการอภิปราย รังสิมันต์ระบุว่า คนที่เคยอยู่ร่วมห้องขังกับพลโทมนัสได้เล่าให้ฟังว่า พลโทมนัสมักพูดถึงสาเหตุที่ตัวเองถูกจับเสมอว่า “ตอนทำก็รับผลประโยชน์กันทุกคน ตอนโดนทำไมกูโดนคนเดียว ถ้าออกไปได้จะเอาคืนให้หมด” กระทั่งช่วงหัวค่ำของวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีข่าวแจ้งออกมาจากกรมราชทัณฑ์ว่า พลโทมนัสนอนหมดสติไม่หายใจและเสียชีวิตในเวลาต่อมา
จากผลชันสูตรศพที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ แพทย์ได้วินิจฉัยลงความเห็นว่า พลโทมนัสเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว เพราะหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจแข็งตีบตัน ที่เป็นโรคประจำตัวของพลโทมนัส ทั้งๆ ที่ตลอดมาเป็นคนสุขภาพแข็งแรงมาตลอด รังสิมันต์จึงถามไปยังพลเอกประยุทธ์และพลเอกประวิตรว่า คำพูดดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้พลโทมนัสเสียชีวิตใช่หรือไม่
หลังจากเสร็จสิ้นการอภิปราย ส.ส.พรรคก้าวไกล เผยว่า ได้วิดีโอคอลคุยกับพลตำรวจตรีปวีณ เพื่อถามว่ารู้สึกอย่างไร สิ่งที่ได้คือรอยยิ้มของพลตำรวจตรีปวีณและคำตอบว่า ตลอดช่วง 6 ปี สิ่งที่เก็บงำอยู่ในใจของเขาได้ถูกพูดถึงแล้ว เขารู้สึกผ่อนคลายขึ้น และเมื่อถามถึงความกังวลว่าครอบครัวจะรู้สึกอย่างไร ปวีณได้ตอบกลับว่าครอบครัวรู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นรังสิมันต์อภิปรายเรื่องนี้
“ผมคิดว่าเวลาหกปี นานพอที่จะทำให้คนคนหนึ่งรู้สึกไม่อยากจะอยู่กับความกลัวแบบนั้นอีกแล้ว เขาอยู่กับความกลัวนี้มานานเกินไปแล้ว และพอหกปีผ่านไป ก็ยังรู้สึกกลัวเหมือนเดิม เผลอๆ กลัวมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะว่าสักวันหนึ่งข้อมูลเหล่านี้จะยังคงไม่เคยถูกเปิดเผย แล้วผู้คนก็จะไม่ได้จดจำคุณอย่างถูกต้องอีกต่อไป”
สุดท้าย รังสิมันต์หวังให้สังคมได้เห็นขบวนการค้ามนุษย์อย่างโหดเหี้ยมอำมหิตถูกพิพากษาตามกฎหมายให้สาสมกับสิ่งที่กระทำต่อชาวโรฮีนจาและผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งบรรดา ‘ปลาซิวปลาสร้อย’ ปลายแถว หรือแม้กระทั่ง ‘ปลาตัวใหญ่’ ที่อยู่ต้นสายขบวนการ แม้ลึกๆ แล้วเขาจะหวาดวิตกต่อสวัสดิภาพความปลอดภัยของชีวิตตนเองและครอบครัว แต่เขายังยืนยันว่า ถ้าเขาไม่ทำแล้วใครจะทำ ถ้าทุกคนกลัว เลือกที่จะเงียบ อนาคตประเทศนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป
“ผมคิดว่าหมดยุคที่คุณคิดว่าจะฝังกลบสิ่งต่างๆ แล้วทุกคนก็จะลืมมันไป วันหนึ่งสังคมจะรู้ว่าปลาตัวใหญ่ชื่อว่าอะไร สังคมจะจดจำว่าคุณทำอะไร ก่อกรรมทำเข็ญอะไรไว้กับสังคมไทยบ้าง ผมเชื่อว่าวันเวลาอยู่ข้างพวกเรา อยู่ข้างความเปลี่ยนแปลง อยู่ข้างคนรุ่นใหม่ และเมื่อวันนั้นมาถึง ก็จะถึงเวลาที่คุณต้องชดใช้ในสิ่งที่ได้ทำเอาไว้กับมนุษยชาติ”
7.
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอกประยุทธ์ได้ออกโรงตอบคำถามสั้นๆ กับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล
ใจความว่า สถานการณ์คดีค้ามนุษย์มีการแก้ไขอยู่ต่อเนื่องตลอดและมีท่าทีดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งใดที่เป็นเรื่องอดีตก็มีคำชี้แจงออกมาแล้ว ผ่านไปแล้วด้วยกฎหมายระเบียบต่างๆ ส่วนเรื่องของพลตำรวจตรีปวีณที่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศออสเตรเลีย เรื่องความไม่เป็นธรรมของการแต่งตั้งตำแหน่ง ก็ขอให้ไปร้องทุกข์เอาตามช่องทาง
“ทุกคนเวลาไปก็ไปเอง สมัครใจไปเอง พอจะกลับกันบอกไม่ปลอดภัย ถ้าคิดว่าไม่มีอะไรก็กลับมา เขาไม่ได้มีคดีกับผมไม่ใช่เหรอ ไม่ได้มีคดีกับใครไม่ใช่เหรอ”
ขณะที่ พลตำรวจเอก สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ออกมาตอบคำถามเช่นกัน โดยกล่าวว่า ในนามตัวแทนของตำรวจ 2 แสนนาย หากพลตำรวจตรีปวีณต้องการเดินทางกลับไทยยินดีจะให้ความช่วยเหลือด้านความปลอดภัย เพราะพลตำรวจตรีปวีณไม่มีหมายจับ ไม่มีคดีติดตัว ส่วนการทำงานคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาก็ยังมีสำนวนคดีครบถ้วน มีพนักงานสอบสวนและอัยการสูงสุดดูแลคดีอีกเป็นร้อย ไม่มีใครถูกกดดัน ข่มขู่ และยังมีผู้ต้องหาอีก 30 ราย จาก 155 ราย ที่ตำรวจต้องจับกุมตัวมาดำเนินคดี (เสียชีวิตแล้ว 2 ราย)
อย่างไรก็ดี รังสิมันต์ยืนยันหนักแน่นว่า สิ่งเดียวที่จะทำให้พลตำรวจตรีปวีณกลับบ้านได้ คือ ‘เปลี่ยนรัฐบาล’ เพราะหากยังมีเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ร่วมอยู่ในรัฐบาล ความยุติธรรมนั้นยากที่จะเกิดขึ้น และปัญหาการค้ามนุษย์ก็คงจะไม่มีวันได้รับการแก้ไขแน่นอน
8.
วันที่ 16 มีนาคม 2565 ภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร รังสิมันต์ได้เปิดเผยว่า ตนรู้สึกผิดหวังเนื่องจากองค์ประชุมที่กรรมาธิการเชิญ ไม่ได้มาตามคำนัดเพื่อชี้แจงประเด็นคดีค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ไล่ตั้งแต่ พลตำรวจเอก สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ส่ง พลตำรวจโท อำนวย นิ่มมะโน ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ส.ว. มาแทน และเมื่อถามถึงการให้ประกันตัวพลโทมนัสที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย กลับได้รับคำตอบให้ไปถาม พลตำรวจเอก เอก เอกอังสนานนท์ ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแทน ทั้งที่ได้มีการซักถามข้อมูลจนครบถ้วนแล้ว ด้านประเด็นการโยกย้ายพลตำรวจตรีปวีณที่พลตำรวจเอกจักรทิพย์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้นเป็นผู้สั่งการ ได้ทำหนังสือชี้แจงต่อกรรมาธิการว่า ปัจจุบันไม่ได้อยู่ในตำแหน่งราชการจึงไม่ขอเข้าร่วมประชุม ฟากกองทัพเรือก็ไม่สามารถให้คำตอบใดๆ ได้ชัดเจน มีแค่คำตอบกลับมากว้างๆ ว่า กองทัพไม่มีส่วนขยายผลเพิ่มเติม จึงเกิดคำถามถึงศักยภาพของกองทัพเรือว่า เพียงเรือประมงลำเดียวยังไม่สามารถจัดการกันได้
ส่วนคำชี้แจงของพลตำรวจเอกสุวัฒน์ ระบุว่า สำนวนคดีนี้สิ้นสุดแล้วด้วยการจับกุมตัวพลโทมนัส และจากข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา รวมถึงการพูดคุยกับพลตำรวจตรีปวีณพบว่า มีเครือข่ายผู้สมรู้ร่วมคิดมากกว่านั้นเพียงแต่มีหลักฐานไม่มากพอ ยกตัวอย่าง ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแต่จังหวัดระนองถึงสงขลาที่ปล่อยให้มีแคมป์ชาวโรฮีนจา เหตุใดจึงไม่มีการเรียกตัวสอบสวน ทั้งที่จากการสอบถามชาวบ้านล้วนรู้เห็นผ่านตากันหมด หากไม่สามารถเปิดโปงคดีนี้ได้จะกลายเป็นผลเสียกระทบถึงความเชื่อมั่นของต่างประเทศ กับการใช้แรงงานประมงและยางพารา
9.
หากยังจำกันได้ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 รังสิมันต์ได้เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (กมธ.ป.ป.ช.) ที่รัฐสภา ผ่านพลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธาน กมธ. หลังจากเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ทางเจ้าหน้าที่ สน.บางขุนนนท์ ได้ออกหมายเรียกดำเนินการส่งฟ้องอัยการฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจมูลนิธิป่ารอยต่อฯ ว่าเป็นศูนย์รวมสายสัมพันธ์ระหว่างพลเอกประวิตรกับนักธุรกิจชั้นนำอีกหลายราย เมื่อต้นปี 2563 ทั้งที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 การออกหมายเรียกในสมัยประชุมนั้น ไม่สามารถทำได้ และต้องทำหนังสือมาขอตัวให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้อนุมัติ แต่ สน.บางขุนนท์ยังคงออกหนังสือเรียกให้เข้าพบซ้ำในวันที่ 4 มีนาคม 2565
ถัดมาวันที่ 18 มีนาคม 2565 รังสิมันต์ได้เดินทางเข้ารายงานตัวกับ สน.บางขุนนนท์ หลังมีการส่งฟ้องคดีไปยังศาลฎีกา โดย ส.ส.พรรคก้าวไกลยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาบิดพริ้วหนีคดี เพียงแต่ติดวาระการประชุมสภา จึงไม่สามารถเดินทางเข้ารายงานตัววันที่ 11 มีนาคม ตามหมายเรียก ขณะเดียวกันยังระบุว่า ศาลไม่น่าจะมีการรับคำร้องเนื่องจากมีอัตราโทษค่อนข้างต่ำ
รังสิมันต์ยังเผยว่า ทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจพาดพิงถึงพลเอกประวิตร คดีของตนเองจะมีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ล่าสุดคือการอภิปรายเรื่องค้ามนุษย์ จึงมีความรู้สึกว่า นี่เป็นความพยายามในการดำเนินคดี เพื่อหวังไม่ให้ประกันตัว และบีบให้หลุดพ้นจากความเป็น ส.ส.
10.
ล่าสุดวันที่ 23 มีนาคม 2565 สำนักข่าว Al Jazeera ได้เผยแพร่สารคดี Thailand’s Fearless Cop มีเนื้อหาเป็นบทสัมภาษณ์พลตำรวจตรีปวีณ ถึงการเปิดโปงขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาจนเสี่ยงชีวิตและต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง ทั้งนี้ฟุตเทจส่วนใหญ่มีการฉายให้เห็นถึงเบื้องหลังการทำคดีสมัยยังรับราชการ การเตรียมข้อมูลขึ้นอภิปรายเรื่องตั๋วช้างภาค 2 ของรังสิมันต์ โรม รวมถึงเรื่องใหม่ๆ อย่างความพยายามของนายตำรวจ นายทหารระดับสูง และคนในรัฐบาล คสช. ทุกคนที่ขัดขวางกระบวนการสืบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา จนทำให้พลตำรวจตรีปวีณต้องลงเอยในฐานะผู้ลี้ภัยที่ออสเตรเลีย
และเรื่องราวชีวิตหลังกลายเป็นผู้ลี้ภัยของพลตำรวจตรีปวีณ ที่ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการติดกระดุมเบาะรถยนต์ในโรงงานแห่งหนึ่งของเมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยช่วงแรกที่มาถึงต้องทำงานอยู่ในโรงเรือนเพาะชำ ขณะเดียวกัน ก็ยังรู้สึกค้างคาใจต่อคดีค้ามนุษย์อยู่ตลอด เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตตนพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน 3 วัน ที่ถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นฝีมือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รัฐบาล รวมถึงบรรดาผู้มีอำนาจ สาเหตุเพราะคดีได้รับการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาให้คนไทยและทั่วโลกได้รับรู้”
พลตำรวจเอกปวีณยังระบุอีกว่า หลังมีการอภิปรายรื้อฟื้นคดีดังกล่าวบ่อยครั้ง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจวนเวียนไปมาอยู่รอบบ้านของครอบครัวตนเอง ก่อนสุดท้ายจะพูดถึงความฝันสูงสุดของเขาด้วยน้ำเสียงสั่นเครือและเเววตาโศกเศร้า นั่นคือการได้กลับบ้านเกิด
“จากความรู้สึกที่แท้จริง ผมอยากกลับบ้าน แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติกรรมที่ผ่านมาของนายกรัฐมนตรี และ ผบ.ตร. ไม่มีความน่าเชื่อถือใดๆ ทั้งสิ้น มีผู้ออกมาพูดความจริงจำนวนมากถูกยิงเสียชีวิตไปแล้วหลายราย จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผมจะได้กลับบ้านเร็วๆ นี้”
กระนั้นเอง ปริศนาที่ยังคงอยู่ก็คือ ในสายธารการค้ามนุษย์นั้น ยังมี ‘ปลาตัวใหญ่’ ตัวไหนอีก ที่ยังไม่ได้ถูกเอ่ยถึง และหากขั้วอำนาจเกิดพลิกขึ้นมา คดีดังกล่าวจะสามารถเอาผิดใครได้อีก และจะสาวไปถึง ‘ผู้มีอำนาจ’ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลหรือยังอยู่ในรัฐบาลได้หรือไม่
ย้อนอ่านบทความ รังสิมันต์ โรม อภิปรายด้านตรงข้ามตั๋วช้าง เมื่อตำรวจจับทหารและไม่ยอม ‘นาย’ จนสุดท้ายต้องลี้ภัย และบทความ ขบวนการค้ามนุษย์ของรัฐไทยในมุมมอง รังสิมันต์ โรม ได้ที่
https://themomentum.co/report-rome-trafficking-and-more/
https://themomentum.co/closeup-rome-rohingya-trafficking/
Tags: รังสิมันต์ โรม, ค้ามนุษย์, ปวีณ พงศ์สิรินทร์, โรฮีนจา, คดีค้ามนุษย์, Report, ประวิตร วงษ์สุวรรณ