กรุงปารีสเตรียมปราบ ‘กราฟิตี’ ในเมือง เผยเป็นอาชญากรรม หลังทำลายอนุสรณ์สำคัญของประเทศ พร้อมตามตัวผู้ก่อเหตุ ลงโทษทั้งปรับเงินและจำคุก ทว่า บางส่วนแสดงความคิดเห็นว่า ทางการยังจริงจังไม่มากพอจนผู้ทำความผิดลอยนวล

แคมเปญดังกล่าวผุดจากความคิดของ แอเรียล วีล (Ariel Weil) นายกเทศมนตรีกรุงปารีสประจำเขตกลาง (เขต 1-4) ที่เปิดเผยว่า เขารู้สึกไม่พอใจที่เห็นรูปปั้นมารีอาน (Marianne) สัญลักษณ์หญิงสาวที่เป็นตัวแทนของฝรั่งเศส ในจัตุรัสแห่งสาธารณรัฐ (Place de la République) ถูกทำลายด้วยกราฟิตี ‘อนาธิปไตย’ บนใบหน้าของเธอ ขณะที่รอบด้านถูกขีดเขียนด้วยข้อความมากมาย

ทั้งนี้มีการเปิดเผยว่า คดีทำลายสถานที่ด้วยกราฟิตีเพิ่มขึ้นจาก 317 คดี เป็น 479 คดี หรือคิดเป็น 51% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยมาตรการเบื้องต้นของทางการคือ ติดกล้องวงจรปิดตรวจสอบ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด คือการนำตัวขึ้นศาลและลงโทษขั้นสูงสุดด้วยการจำคุกเป็นเวลา 2 ปี รวมถึงปรับเป็นเงิน 3 หมื่นยูโร (ประมาณ 1.1 ล้านบาท) สำหรับผู้ที่ทำความผิดร้ายแรง

“ทุกคนต้องช่วยกันกำจัด ทั้งทางการกรุงปารีส เจ้าหน้าที่ตำรวจ และศาล ทุกคนต้องรู้ว่า การทำลายอาคารสาธารณะไม่ใช่เรื่องธรรมดา” วีลเผยกับสำนักข่าว Le Parisien

ในช่วงที่ผ่านมา กราฟิตีกำลังระบาดหนักในฝรั่งเศส โดยคดีที่โด่งดังและเป็นเรื่องใหญ่โตในระดับนานาชาติคือ การทำลายกำแพงของอนุสรณ์สถานโฮโลคอสต์โชอาห์ (Mémorial de la Shoah) หลังปรากฏรอย ‘มือสีแดง’ ราว 20 รอย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการดูหมิ่นเหยื่อและผู้ที่ช่วยเหลือชาวยิวในช่วงนาซียึดฝรั่งเศสในปี 1941-1944 ทำให้ แอนน์ ฮีดัลโก (Anne Hidalgo) นายกเทศมนตรีกรุงปารีส ออกโรงประณามว่า การกระทำดังกล่าวแฝงด้วยความเกลียดชังชาวยิว (Antisemitism) ขณะที่ เอ็มมานูเอล มาครง (Emmaneul Macron) โพสต์บนแอปพลิเคชัน X ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นน่ารังเกียจ และทำลายความทรงจำของผู้ช่วยเหลือชาวยิวในสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้จะมีความพยายามจับผู้กระทำความผิดมาลงโทษ แต่ ฟรองซัว หลุยส์ (François Louis) ประธานสมาคมปารีเซียงเผยว่า เขารับรู้เรื่องพวกนี้มาหมดแล้ว ต่อให้ใช้แอปพลิเคชันของทางการกรุงปารีสอย่าง DansMaRue เพื่อแจ้งเหตุไม่พึงประสงค์ก็ไม่ช่วยอะไร พร้อมอ้างว่า การก่ออาชญากรรมกราฟิตีทั้งหมด มีผู้ก่อเหตุมากกว่า 50 ราย แต่พวกเขากลับไม่ได้รับโทษอย่างที่ควรจะเป็น

“ผู้ก่อเหตุบางคนถูกจับตัว แล้วก็ปล่อยออกมาก่อเหตุซ้ำๆ ในวันถัดไป บางคนถึงกับถ่ายภาพหรืออัดคลิปของตนเองที่กำลังทำกราฟิตีลงโซเชียลมีเดีย แต่กลายเป็นว่า พวกเขาปลอดความผิด” 

หลุยส์แสดงความคิดเห็นว่า เหตุการณ์เหล่านี้เหมือน ‘สุนัขฉี่ใส่กำแพง’ ทำลายภาพจำผู้มาเยือนกรุงปารีส และเรื่องพวกนี้ไม่น่าเกินความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะดำเนินการสอบสวน เพราะง่ายมากที่จะตามสืบหลักฐานจาก CCTV หรือแกะรอยบนโซเชียลฯ เพื่อล่าขบวนการก่อเหตุทั้งหมด 

หากย้อนกลับไปกรุงปารีสดำเนินคดีกราฟิตีเพียง 1 คดีในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา หลังในปี 2022 ศาลตัดสินจำคุกผู้ต้องหาที่ชื่อว่า ‘Six Sax’ เพียง 2 เดือน และปรับเงินเป็นจำนวน 1.7 หมื่นยูโร (ประมาณ 6.4 แสนบาท) ขณะที่ เอ็มมานูเอล เกรกัวร์ (Emmanuel Grégoire) อดีตรองนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ว่าที่ผู้สมัครนายกเทศมนตรีในปี 2026 เปิดเผยว่า เขาวางแผนจะรวบรวมข้อมูลของผู้ก่อเหตุที่ร้ายแรงที่สุด เพื่อดำเนินคดีในชั้นศาลต่อไป

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2025/apr/17/they-act-with-total-impunity-paris-city-hall-declares-war-on-graffiti-vandals

https://www.newindianexpress.com/world/2024/May/14/paris-holocaust-memorial-hit-with-red-hand-graffiti

https://www.theguardian.com/world/article/2024/may/22/france-russia-paris-holocaust-memorial-graffiti-red-hand



Tags: , , ,