วันนี้ (24 มีนาคม 2568) วรภพ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ขึ้นอภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่พรรคเพื่อไทยเคยกล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า จนเป็นต้นเหตุให้ค่าไฟราคาแพง ทำเศรษฐกิจล้มเหลว แต่แพทองธาร แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทยกลับลงนามในสัญญานั้นเสียเอง แต่ขณะที่วรภพกำลังอภิปรายนั้นกลับถูกประท้วงจาก วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ว่า อย่ากล่าวถึงชื่อพรรคการเมืองอื่น เพราะไม่เป็นธรรมกับสมาชิกพรรคที่มีอยู่ทั่วประเทศ

“ไม่ได้ว่าอยากจะขัดขวางการอภิปราย แต่ผมได้กล่าวไปเมื่อสักครู่ครับ ผมมองว่าการพูดถึงพรรคการเมืองมันไม่เป็นธรรมกับสมาชิกเขา ในญัตติก็ไม่ได้มีพูดถึงพรรคการเมือง ญัตติคือ แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ขอให้อยู่ในประเด็นในญัตติ เดี๋ยวต่อไปพวกเราเป็นรัฐบาลแล้ว พวกเราไปพูดถึงมันก็ไม่ได้ครับ เพราะฉะนั้นก็ขอความกรุณา เรื่องพรรคเราไม่ได้อภิปรายพรรค เราอภิปรายตัวนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีพรรคอื่นก็ไม่ได้ครับ เดี๋ยวมันไม่เป็นธรรม” วันมูหะมัดนอร์กล่าว

ขณะเดียวกัน ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ลุกขึ้นประท้วงประธานรัฐสภาว่า “ผมขอประท้วงท่านประธานในข้อประท้วงที่ 9 ตามการควบคุมการประชุม ท่านประธาน ผมถามคำถามท่านประธานคำเดียว ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นแคนดิแดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย มาตรฐานของท่านประธานคือ ท่านนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนโยบายหาเสียงที่รัฐบาลทำไว้เลยใช่หรือไม่ นี่มันเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดเจน ผมถามคำถามนี้คำถามเดียวครับว่า มันยึดโยงกันหรือไม่อย่างไร ระหว่างท่านนายกรัฐมนตรีกับคำหาเสียงพรรคเพื่อไทย ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ขอให้ท่านประธานวินิจฉัยด้วย”

ด้านประธานรัฐสภาวินิจฉัยตอบกลับว่า “ผมขอวินิจฉัยครับ ผมก็ไม่ใช่ต้องการที่จะโต้วาที แต่ข้อบังคับก็ให้พูดเฉพาะในญัตติ เรื่องพรรคผมก็เคยอภิปรายเหมือนกัน ประธานเขาก็ไม่ให้พูดเพราะไม่เป็นธรรมกับสมาชิก เขาอาจจะมีสมาชิกเป็นแสน แล้วสมาชิกก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง มันเป็นเรื่องบุคคลของพรรคนั้นมาเป็นรัฐบาล คุณก็พูดเฉพาะบุคคลนั้น พรรคไม่เป็นธรรม เดี๋ยวถ้ามีใครไปกล่าวหาพรรคของท่าน ผมก็ไม่ยอมเหมือนกัน”

ทั้งนี้ปกรณ์วุฒิประท้วงประธานรัฐสภาต่อว่า “ในญัตติระบุไว้ว่า ไม่ได้ระบุไว้ตามที่แถลงไว้ แล้วนโยบายนั้นเป็นนโยบายของอะไร ต้องเป็นนโยบายของพรรคาการเมืองหรือเปล่าครับ เราลงเลือกตั้งในฐานะพรรคการเมืองหรือเปล่าครับ แล้วถ้าเราพูดชื่อพรรคการเมืองนี้ในสภาฯ ไม่ได้ผมไม่รู้ว่ามีสภาฯ ไว้แล้วทำไมนะครับท่านประธาน”

หลังจากนั้นประธานรัฐสภาจึงสรุปปิดท้าย หลังจากโดนประท้วงจากหลายคนว่า “ไม่ใช่ว่าไม่ได้ แต่ในทางที่ไม่เกิดความเสียหายอะไร อย่าเถียงเลยครับ ผมวินิจฉัยแล้วว่า ขอให้อย่าเอ่ยชื่อพรรคในการกล่าวจะทำให้มีผู้ประท้วง เขามีสมาชิก เมื่อประธานเขาวินิจฉัยก็เป็นเรื่องประธานในตอนนั้น มาตรฐานอยู่ที่ข้อบังคับ ขอความกรุณา”