อย่างที่รู้กันว่า ‘นิวยอร์ก’ เปรียบเสมือนมหานครแห่งความหวัง เต็มไปด้วยโอกาสทางสายอาชีพ รวมถึงมีสถานะเป็น ‘เมืองหลบภัย’ (Sanctuary City) กล่าวคือ เป็นเมืองที่โอบรับและปกป้องสิทธิผู้อพยพทุกคน ดังนั้น คนมากหน้าหลายตาจึงพากันหลั่งไหลเข้ามาที่นี่เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
ข้างต้นคือมายาคติเมื่อหลายสิบปีก่อน ทว่าในปัจจุบัน ไฟแห่งความหวังของนิวยอร์กเริ่มริบหรี่และใกล้ดับเต็มที
นับตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิปี 2022 เป็นต้นมา นิวยอร์กต้อนรับผู้อพยพใหม่กว่า 9 หมื่นคน และในบรรดาผู้อพยพทั้งหมด มีเกือบ 5.5 หมื่นคน ที่ยังหาที่อยู่ของตัวเองไม่ได้ จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ
เมื่อรวมกับจำนวนคนไร้บ้านชุดเดิมประมาณ 6-7 หมื่นคน สรุปได้ว่า นิวยอร์กมีคนไร้บ้านทะลุ 1 แสนคน
“เราไม่เหลือพื้นที่ในเมืองนี้อีกแล้ว” เอริก อดัมส์ (Eric Adams) นายกเทศมนตรีนิวยอร์ก แถลงเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2023
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา นายกฯ อดัมส์เลือกออกนโยบายบังคับให้คนไร้บ้านที่บรรลุนิติภาวะและไม่มีครอบครัว จำเป็นต้องยื่นเอกสารขอที่พักพิงจากรัฐใหม่ทุก 60 วัน
หากรัฐไม่สามารถจัดสรรที่พักพิงใหม่ให้ได้ ก็ต้องอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวไปก่อน
หากศูนย์พักพิงชั่วคราวไม่เหลือพื้นที่ สุดท้ายอาจลงเอยด้วยการนอนข้างถนน
นโยบายดังกล่าวเรียกเสียงวิจารณ์มากมาย หลายคนมองว่าเป็นการทอดทิ้งประชาชนทางอ้อม และเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนพื้นฐานในการมีที่อยู่อาศัย (Rights to Shelter)
เท่านั้นไม่พอ นอกเหนือจากนโยบายใหม่ ทางการนิวยอร์กยังเดินหน้าแจกใบปลิวแก่ผู้อพยพด้วย
อัปเดตถึงผู้เสาะหาที่พักอาศัยในนิวยอร์ก
- ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2022 เป็นต้นมา มีผู้อพยพมากกว่า 9 หมื่นคน เข้ามาที่มหานครนิวยอร์ก
- ไม่มีอะไรการันตีได้ว่า เราจะมีที่อยู่และบริการสำหรับผู้มาใหม่
- ค่าที่พักในนิวยอร์กแพงมาก
- ค่าอาหาร ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายสำหรับสิ่งจำเป็นอื่นๆ ในนิวยอร์กแพงที่สุดในสหรัฐอเมริกา
- หากคุณกำลังคิดจะย้ายมาสหรัฐอเมริกา กรุณานึกถึงเมืองอื่นแทน
ทางการนิวยอร์กเผชิญกระแสตีกลับอย่างรุนแรง เพราะใบปลิวมีโทนการสื่อสารเชิงขับไสไล่ส่ง ปิดกั้นโอกาสของผู้อพยพและผู้มีรายได้น้อย ซึ่งหลายคนมองว่าขัดกับจุดยืนดั้งเดิมของนิวยอร์กที่ควรจะเป็นเมืองเสรี เมืองแห่งความฝันสำหรับทุกคน
ด้านองค์กร NYC Health + Hospitals ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรที่พักฉุกเฉินให้แก่ผู้อพยพ กล่าวว่า “เรามีความเห็นอกเห็นใจคนเหล่านี้อย่างไม่จำกัด เพียงแต่มีพื้นที่จำกัด” สอดคล้องกับประโยคของนายกฯ อดัมส์ก่อนหน้านี้
แต่คำถามคือ นิวยอร์กไม่เหลือพื้นที่แล้วจริงหรือ?
รายงานที่พักอาศัยในแมนแฮตตันปี 2023 ผลิตโดย มาร์ก เลอวีน (Mark Levine) นายกฯ เขตแมนแฮตตัน ระบุว่า ในแมนแฮตตันมีพื้นที่ว่าง (Vacant) หรือพื้นที่ที่ไม่ได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ (Underutilized) มากมาย สามารถแปลงเป็นที่พักคนไร้บ้านได้ 7.3 หมื่นยูนิต ส่วนมากเจ้าของพื้นที่เหล่านี้คือภาครัฐและนายทุน
ยกตัวอย่าง มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ปัจจุบันครอบครองพื้นที่ในนิวยอร์กมากถึง 13.95 ล้านตารางฟุต เป็นอาคารประมาณ 216 หลัง โดยรายงานของเลอวีนระบุว่า มหาวิทยาลัยโคลัมเบียยังเหลือพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ว่างอื่นๆ เพียงพอให้สร้างเป็นที่พักคนไร้บ้านได้มากถึง 849 ยูนิต ถึงกระนั้น มหาวิทยาลัยกลับไม่มีทีท่าจะใช้พื้นที่เหล่านี้ช่วยเหลือผู้ยากไร้
ข้างต้นเป็นข้อมูลเฉพาะเขตแมนแฮตตันเท่านั้น ยังมีเขตอื่นในนิวยอร์กอีก 4 เขต ได้แก่ บรูคลิน, ควีนส์, เดอะบร็องซ์ และเกาะสแตเทน ฉะนั้น คำกล่าวของอดัมส์ที่ว่า นิวยอร์กไม่เหลือพื้นที่แล้ว คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว
แท้จริงนิวยอร์กยังเหลือพื้นที่ ขึ้นอยู่กับว่าผู้มีอำนาจจะตัดสินใจทำอย่างไรกับพื้นที่เหล่านั้น
ในขณะที่มีคนเป็นหมื่นต้องนอนข้างถนน ยังมีเศรษฐีอีกมากที่ซื้อที่เปล่าๆ ไว้รอเก็งกำไร ในขณะที่เงินของชนชั้นอีลีทเพิ่มพูนขึ้นทุกวันจนใช้ไม่หมด แต่คุณภาพชีวิตของชาวนิวยอร์กโดยเฉลี่ยกลับลดต่ำลง
สุดท้าย อนาคตของมหานครแห่งนี้ก็อยู่ในเงื้อมมือภาครัฐและนายทุน ไม่ใช่ประชาชนส่วนใหญ่ เป็นที่น่าจับตามองว่า นิวยอร์กในอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า จะมีสภาพเป็นอย่างไร
อ้างอิง
https://www.coalitionforthehomeless.org/basic-facts-about-homelessness-new-york-city/
https://www.lirs.org/what-are-sanctuary-cities-why-do-they-exist/
https://www.manhattanbp.nyc.gov/wp-content/uploads/2023/01/Housing-Report-01.31.2023.pdf
Tags: สหรัฐอเมริกา, ผู้อพยพ, นิวยอร์ก, คนไร้บ้าน, โฮมเลส