วันนี้ (24 มีนาคม 2568) ที่รัฐสภา ในการประชุมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน อภิปรายถึงปัญหา ‘ปลาหมอคางดำระบาด’ ตอนหนึ่งว่า
ครั้งนี้ในน้ำมีหายนะครั้งยิ่งใหญ่ ด้วยการระบาดของปลาหมอคางดำ เป็นอาชญากรรมครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีประเทศไทย โดยพื้นที่การระบาดของปลาหมอคางดำกินพื้นที่ 76 อำเภอ 19 จังหวัดทั่วประเทศ ประชาชน 5.2 แสนรายกำลังเผชิญวิกฤตหนัก ฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 1.79 หมื่นแห่งกำลังได้รับผลกระทบโดยตรง สร้างความเสียหายต่ออาชีพและความมั่นคง รวมถึงประชาชนจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อในการเลี้ยงดูปากท้อง
ทั้งนี้คนมีบ่อส่วนตัวและที่ดินส่วนตนก็ขายบ่อเพื่อประทังชีวิต ส่วนใครที่เช่าบ่อก็หมดสิ้นหนทางว่าจะเลี้ยงสัตว์อย่างไรต่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความเสียหายกว่า 2.4 หมื่นล้านบาทต่อปี เมื่อคูณกับจำนวนเกษตรกรที่ต้องเผชิญหน้าคือความเจ็บปวด ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ต้องขาดดุลทางการค้าจากต่างประเทศต่อไป โดยในอนาคตปลาสลิดบางบ่ออาจไม่มีอีกต่อไป เช่นเดียวกับปลาทูแม่กลอง นับจากนี้คนไทยอาจต้องกินปลาจากต่างประเทศทั้งหมด ไม่ก็ปลาจากห้างสรรพสินค้า ปลาที่เลี้ยงในบ่อปูนฟาร์มใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้
สำหรับมาตรการของรัฐบาลที่ออกมายืนยันว่า ไม่เพียงพอ เพราะแม้มีการเอาไปใช้ประโยชน์ ไปทำน้ำหมัก ไปแปรรูป ก็ไม่ทัน เนื่องจากปลาหมอคางดำกินทุกชั่วโมง และเกิดใหม่ทุก 22 วัน จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน
ณัฐชายังระบุด้วยว่า ปัญหาปลาหมอคางดำมีการรายงานในคณะกรรมาธิการของกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งนำเสนอผ่านสภาฯ ไปแล้ว และมีผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยในรายงานพบหลักฐานชิ้นสำคัญ ก็คือการขออนุญาตนำเข้าปลาหมอคางดำเพียงรายเดียวคือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพีเอฟ) และมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้อนุญาต แต่รายงานฉบับนี้กลับหายเข้ากลีบเมฆ
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 ชาวบ้านและเกษตรกรเดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ฝากถึงรัฐบาล 4 ข้อ ได้แก่ 1. ตั้งกรรมการอิสระสอบสวนหาผู้กระทำผิด 2. กำจัดปลาหมอคางดำใน 1 ปี 3. ประกาศเขตภัยพิบัติ และ 4. ให้หน่วยงานรัฐฟ้องร้องดำเนินคดีผู้กระทำผิด เรื่องแค่นี้นายกฯ กลับไม่ออกไปฟังเสียงชาวบ้าน มีเพียงไปรับช่อดอกไม้จากกลุ่มประมงพาณิชย์ ซึ่งสร้างความช้ำใจให้คนทั้งชาติ
นอกจากนี้ณัฐชายังโชว์ภาพความสนิทสนมระหว่างรัฐบาลกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยมีการร่วมโต๊ะกันระหว่างผู้ต้องสงสัยกับอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน รวมถึงยังมีภาพที่นายกฯ แพทองธารไปเยี่ยมชมทะเลสาบสงขลากับซีพีเอฟ แทนที่จะดูปัญหาปลาหมอคางดำ กลับเดินทางไปดูควายน้ำ โดยมีผู้บริหารของกลุ่มซีพีเอฟบรรยายสรุปให้อย่างสนิทชิดเชื้อ มีการอำนวยความสะดวกเต็มที่ มีกิจกรรมประชาสัมพันธ์ภาครัฐร่วมกับหน่วยงานผู้ต้องสงสัย ทั้งกรมประมงและซีพีเอฟ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2568
“ปัญหานี้จะแก้ไขปัญหาได้กี่โมง มีแต่งานพีอาร์ประชาสัมพันธ์กิจกรรมของบริษัทเอกชนทั้งสิ้น แล้วอธิบดีกรมประมงบอกว่า ไม่สามารถหาผู้กระทำผิดได้ เพราะเรื่องเกิดมา 14 ปีแล้ว เรื่องมันมีแค่นี้ยังบอกประชาชนได้อีกว่า หาตัวการไม่เจอ หาหลักฐานไม่ได้ พูดแบบนี้ได้ได้อย่างไร”
ณัฐชายังระบุด้วยว่า ปัจจุบันชาวบ้านรวมตัวฟ้องไปยังศาลแพ่งและศาลปกครอง ซึ่งยังไม่รู้จะจบสิ้นเมื่อไร แต่ทุกวินาทีมีความเป็นความตายของประชาชนเป็นเดิมพัน
“ผมในฐานะ สส.รับรู้เรื่องราว ใช้ทุกองคาพยพ ทุกกลไก สุดความสามารถ แต่ตันได้แค่นี้” ณัฐชาระบุ พร้อมกับฝากให้นายกฯ ใช้กลไกของฝ่ายบริหารแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ตามหาผู้กระทำผิด และช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างสุดความสามารถ
Tags: อภิปรายไม่ไว้วางใจ, ประชุมสภา, ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์, ปลาหมอคางดำ, คางดำ