วันที่ 22 กันยายน 2024 สำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย (Radio Free Asia: RFA) รายงานว่า รัฐบาลทหารเมียนมามีแผนประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง 5 คน โดยอ้างความผิดฐานสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจในปี 2021 ท่ามกลางการประณามของนานาชาติ และสมาชิกรัฐสภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights: APHR) ขณะที่ประเทศไทยยังไร้ท่าทีต่อเหตุการณ์นี้

ก่อนหน้านี้ข้อมูลจากเทเลแกรม (Telegram) ของกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการเมียนมาเผยว่า เรือนจำอินเซน (Insein) ในเมืองย่างกุ้ง มีแผนประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง 5 คน โดยประกอบด้วยผู้ชาย 4 คน และผู้หญิง 1 คน ได้แก่ กอง เพียะ โซน โอ (Kaung Pyae Sone Oo),  วิน โซ (Kyaw Win Soe), ซาน มิน อ่อง (San Min Aung), เซยยาร์ พโย (Zayyar Phyo) และเมียะ พโย พวิน (Myat Phyo Pwint) ในฐานความผิดยิงเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิตในวันที่ 14 สิงหาคม 2021

เบื้องต้นแหล่งข่าวเปิดเผยผ่าน RFA ว่า ยังไม่มีกำหนดการแน่ชัดว่า รัฐบาลทหารจะลงมือประหารชีวิตนักโทษทั้ง 5 คนเมื่อไร และเผยต่อว่า เหล่านักโทษได้รับอนุญาตให้พบปะครอบครัว ขณะที่สำนักข่าวไม่สามารถติดต่อญาติ หรือแม้แต่ พลเอกอาวุโส ซอ มิน ตุน (Zaw Min Tun) โฆษกรัฐบาลทหาร หลังปฏิเสธผ่านบีบีซีเมียนมา (BBC Myanmar) ว่าไม่มีการประหารชีวิตนักโทษการเมือง

นอกจากนี้ทางเรือนจำยังอ้างว่า ไม่ได้รับแจ้งถึงการประหารชีวิต ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) กำลังจับตาดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเมื่อช่วงต้นสัปดาห์

แม้ยังไร้ความคืบหน้า ทว่ากลไกสอบสวนอิสระเพื่อเมียนมาแห่งสหประชาชาติ (United Nations’ Independent Investigative Mechanism for Myanmar: IIMM) และสมาชิกรัฐสภาสิทธิมนุษยชนอาเซียน ออกโรงประณามการกระทำข้างต้น โดย IIMM ระบุว่า การกำหนดโทษประหารชีวิต และการคุมขังที่ไร้ความยุติธรรม ถือเป็นอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และอาชญากรรมสงคราม

APHR แถลงการณ์ว่า การประหารชีวิตนักโทษทางการเมืองเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้กองทัพเมียนมาหยุดยั้งแผนการดังกล่าว โดย หว่อง เฉิน (Wong Chen) สมาชิกชาวมาเลเซียกล่าวว่า การใช้โทษประหารชีวิตปราบปรามผู้เห็นต่าง เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และต้องถูกประณามให้ถึงที่สุด ขณะที่รัฐบาลไทยยังไม่มีท่าทีตอบโต้ หรือเคลื่อนไหวถึงประเด็นดังกล่าวแต่อย่างใด

นับตั้งแต่รัฐประหารในปี 2021 กองทัพเมียนมาได้ประหารชีวิตนักโทษทางการเมือง 4 คน ด้วยการแขวนคอในปี 2022 ฐานความผิดก่อการร้าย ได้แก่ โค จิมมี (Ko Jimmy) นักเขียนชื่อดัง, โค พโย เซยา ตอว์ (Ko Phyo Zeya Thaw) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค สันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy), โค หลา เมียว อ่อง (Ko Hla Myo Aung), และ โค อ่อง ตุล ซอว์ (Ko Aung Thura Zaw) นักเคลื่อนไหว

ทั้งนี้สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมือง ( Assistance Association for Political Prisoners) เผยว่า มีนักโทษการเมืองมากกว่า 100 คนที่ถูกควบคุมตัวในแดนประหารชีวิต ขณะที่ศาลทหารได้ตัดสินให้มีการประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวถึง 42 คน

อ้างอิง

https://www.irrawaddy.com/news/myanmars-crisis-the-world/international-groups-condemns-myanmar-junta-execution-plans.html

https://www.rfa.org/english/news/myanmar/executions-death-penalty-09222024230055.html

Tags: , , , , , , ,