รัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาออกมาขู่ว่าจะจับกุมข้อหาปลุกระดมและก่อการร้ายต่อใครก็ตามที่เข้าร่วมกิจกรรมประท้วงโดยการหยุดงานประท้วง ปรบมือ หรือเคาะหม้อ โดยเป็นความพยายามล่าสุดในการขจัดแผนการประท้วงของประชาชน เพื่อเตรียมฉลองครบรอบหนึ่งปีของการทำรัฐประหาร
ผ่านมาหนึ่งปีนับตั้งแต่กองทัพได้ทำการขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของอองซานซูจี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 แต่ปัจจุบัน รัฐบาลทหารยังคงเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชน ทั้งด้วยการประท้วงอย่างสันติ และการต่อต้านด้วยอาวุธ
วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ 2565) กลุ่มนักเคลื่อนไหววางแผนที่จะ ‘หยุดงานประท้วง’ และเรียกร้องให้ประชาชนอยู่บ้านระหว่างเวลา 10.00 น. ถึง 16.00 น. และในช่วงท้ายของกิจกรรม จะมีการขอให้ผู้คนปรบมือหรือเคาะหม้อ ซึ่งเป็นการกระทำตามประเพณีที่เชื่อจะขับช่วยไล่วิญญาณชั่วร้าย และมักใช้เป็นวิธีประท้วงต่อต้านกองทัพ
ส่วนฝั่งรัฐบาลทหารได้ออกประกาศเตือนประชาชนผ่านสื่อที่ควบคุมโดยกองทัพว่า อย่าเข้าร่วมในกิจกรรมการประท้วง และผู้ที่กระทำการดังกล่าวจะถูกตั้งข้อหาทางกฎหมายหลายข้อ ขณะที่มีรายงานในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่า ผู้บริหารท้องถิ่นได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังกลุ่มเจ้าของธุรกิจเพื่อย้ำถึงการเตือนดังกล่าว และขู่ว่าทรัพย์สินของพวกเขาอาจถูกยึด หากเข้าร่วมกิจกรรมประท้วง อีกทั้งยังบีบให้ลงนามในเอกสารเพื่อประกันข้อตกลง
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิรวดี ยังรายงานข้อมูลว่า มีเจ้าของธุรกิจบางรายที่กล่าวกับลูกค้าว่าจะร่วมกิจกรรมหยุดงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถูกจับกุมแล้ว ขณะที่ธุรกิจจำนวนมากก็มีความพยายามหลีกเลี่ยงการคุกคามจากทหารโดยการขึ้นราคาสินค้าให้สูงกว่าปกติ หรือเปิดร้านเพียงไม่กี่ชั่วโมง หรือเปิดร้านแต่ไม่ขายสินค้า เพื่อเป็นการประท้วง โดยไม่ต้องถูกจับตาจากกองทัพ
เมื่อวานนี้ (31 มกราคม 2565) ก่อนวันครบรอบการรัฐประหาร สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดาเปิดเผยว่า ได้คว่ำบาตรสามเจ้าหน้าที่เมียนมา คือ ธิดา อู (Thida Oo) อัยการสูงสุด, ตุน ตุน อู (Tun Tun Oo) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลฎีกา และ ทิน อู (Tin Oo) ประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริต ซึ่งสหรัฐฯ ระบุว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดในการดำเนินคดีกับอองซานซูจีผ่าน ‘แรงจูงใจทางการเมือง’
“เรากำลังประสานงานการดำเนินการเหล่านี้กับสหราชอาณาจักรและแคนาดา เพื่อยกระดับความรับผิดชอบต่อการทำรัฐประหาร และความรุนแรงที่กระทำโดยระบอบการปกครอง” รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) กล่าว
“สหรัฐฯ จะยังคงเดินหน้าจัดการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกดดันรัฐบาลเมียนมาให้ยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังอย่างไม่ยุติธรรม อนุญาตให้เข้าถึงด้านมนุษยธรรมโดยไม่มีการขัดขวาง และฟื้นฟูเส้นทางสู่ประชาธิปไตยของพม่า” เขากล่าวเสริม
แม้ว่าความรุนแรงทางทหารจะทำให้ผู้คนหวาดกลัวอันตรายจากการจัดชุมนุมใหญ่ตามท้องถนน รวมถึงผู้นำอย่างอองซานซูจีก็ยังคงถูกคุมขัง แต่ก็ยังมีการเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะการประท้วงแบบกองโจรของนักเรียน นักกวี และนักเคลื่อนไหว ทั่วเมียนมาร์
อองควงเซ็ตต์ (Aung Kaung Sett) ประธานสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยย่างกุ้ง ซึ่งเป็นผู้นำการประท้วงครั้งใหญ่ในย่างกุ้งหลังจากการรัฐประหารและปัจจุบันกำลังหลบหนีอยู่ กล่าวว่า ประชาชนจะไม่ละทิ้งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย “ตอนนี้ถอยหลังไม่ได้แล้ว มีแค่เราจะอยู่หรือตายเท่านั้น” เขากล่าว “การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิวัติต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
อองควงเซ็ตต์กล่าวว่า การทำรัฐประหารได้เปลี่ยนความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกองทัพเมียนมาไปอย่างสิ้นเชิง “ผู้คนเริ่มรู้สึกแบบเดียวกันกับที่เคยเผชิญการกดขี่จากกองทัพเมียนมาในอดีต” เขากล่าวและเสริมโดยอ้างการปราบปรามอย่างรุนแรงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 และความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ
ขณะที่ปัจจุบัน หนึ่งปีหลังจากรัฐประหาร เมียนมายังอยู่ในภาวะโกลาหล บริการสาธารณะ เช่น ด้านสุขภาพและการศึกษา ต้องล่มสลาย เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และอาจารย์จำนวนมากปฏิเสธที่จะทำงานในสถานพยาบาลที่ควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการ และกำลังปฏิบัติงานในชุมชน เศรษฐกิจก็กำลังล้มเหลว โดยองค์การสหประชาชาติประเมินว่าวิกฤตดังกล่าวจะทำให้ประชากรเกือบครึ่งต้องยากจนในปี 2565
อีกด้านหนึ่ง กองทัพยังคงใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้เห็นต่าง เผาหมู่บ้าน โจมตีทางอากาศ สังหารหมู่ และปิดกั้นความช่วยเหลือพลเรือน ตามข้อมูลของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง ซึ่งติดตามการเสียชีวิตและการจับกุมเรื่อยมา ระบุว่า นับตั้งแต่รัฐประหาร มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1,499 คน และมีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 11,801 คน
ที่มา
https://www.theguardian.com/…/myanmars-junta-threatens…
https://edition.cnn.com/…/myanmar-coup…/index.html
Tags: รัฐประหารพม่า, รัฐประหารเมียนมา, Report, เมียนมา