วันนี้ (24 กรกฎาคม 2566) ในการประชุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ได้ข้อสรุปว่า พรรคก้าวไกลยืนยันจะไม่ร่วมรัฐบาลที่มีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยให้เหตุผลว่า พรรคพลังประชารัฐที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหอกหลักในการยึดอำนาจทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และยังมีกระบวนการสืบทอดอำนาจจนถึงปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน พรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนต่อประเด็นการสืบทอดอำนาจ และประกาศตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่า จะไม่จับมือกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ และได้ประกาศย้ำต่อประชาชนในทุกรายการ ทุกเวทีหาเสียงเลือกตั้ง โดยผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นการประกาศเจตจำนงของประชาชนที่ชัดเจนว่าต้องการเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ด้วยการลงคะแนนเสียงเลือกพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยจนชนะเป็นอันดับหนึ่งและอันดับสอง เมื่อรวมกันได้ 8 พรรคการเมืองที่มีแนวทางยุติการสืบทอดอำนาจ ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรถึง 312 จาก 500 ที่นั่ง และมีคะแนนดิบสูงถึง 27 ล้านเสียง ไม่มีอะไรชัดเจนไปกว่าประชาชนต้องการพลิกขั้วเปลี่ยนข้างรัฐบาล ดังนั้น เป้าหมายสูงสุดในฐานะพรรคอันดับหนึ่ง คือการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้สำเร็จเพื่อหยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเดิม

สำหรับภารกิจขณะนี้ของพรรคก้าวไกล คือการจัดตั้งรัฐบาลที่ประกอบด้วย 8 พรรคตามมติของประชาชน พรรคก้าวไกลจึงเปิดทางให้พรรคอันดับสองคือพรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เดินหน้าหาเสียงสนับสนุนตามที่ปรากฏเป็นข่าว

“แม้การจัดตั้งรัฐบาลให้ได้โดยเร็วที่สุด จะมีความสำคัญต่อการเดินหน้าแก้ไขปัญหาของประชาชน แต่เราเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่บิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้ง จะนำไปสู่วิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อระบอบประชาธิปไตย จนอาจยากต่อการเรียกกลับคืน

“พรรคก้าวไกลจึงขอยืนยันสัจจะที่ให้ต่อประชาชน เราไม่สามารถร่วมรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐหรือพรรครวมไทยสร้างชาติ และจะพยายามอย่างถึงที่สุดในการผนึก 8 พรรคการเมืองที่สะท้อนเสียงของประชาชนกว่า 27 ล้านเสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน พาประเทศไปสู่เส้นทางที่ถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”

วันเดียวกัน ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยในการเปิดโต๊ะเจรจาหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยยืนยันจะรอฟังพรรคเพื่อไทยนำเสนอแนวทางหลังการเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงช่วงเที่ยงนี้จะมีการประชุมภายในของ ส.ส.พรรคก้าวไกลเช่นกัน จึงไม่สามารถตอบอะไรได้มากในขณะนี้ เพราะต้องรอมติจาก 8 พรรคร่วมรัฐบาลก่อน

ชัยธวัชกล่าวต่อว่า โดยส่วนตัวคิดว่าการหยิบยกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเพียงแค่ข้ออ้างมาโดยตลอด เพราะสุดท้าย หลายพรรคการเมืองก็กล่าวอย่างชัดเจนว่า จะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล เพราะมีอุดมการณ์ทางการเมืองและวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ตอนนี้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งรัฐบาล อำนาจในการตัดสินใจจึงอยู่ที่พรรคเพื่อไทย

สำหรับแนวทางในการตกลงกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้ยกมือเลือกแคนดิเดตนายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทยยังมีความเป็นไปได้ ส่วนตัวไม่อยากให้ละทิ้งแนวทางดังกล่าว เพราะมองว่า ส.ว.ก็ไม่อยากให้สถานการณ์ยืดเยื้อไร้ทางออก

“ผมคิดว่า สิ่งที่ต้องกังวลคือประชาชนที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาแล้ว คงไม่อยากให้พรรคที่ชนะเลือกตั้งทำให้ประชาชนผิดหวัง อีกอย่างตอนนี้เรายังเชื่อว่า ถ้าพรรคอันดับหนึ่งและสอง รวมถึงอีก 6 พรรคที่เหลือจับมือกันแน่น การจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจะเป็นไปได้ยากกว่า แต่ก็เป็นสิทธิของเพื่อไทยที่จะตัดสินใจว่าจะไปทางไหน” ชัยธวัชกล่าวปิดท้าย

Tags: , ,