เมื่อวานนี้ (26 กันยายน 2024) เม็กซิโกปฏิเสธเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีเฟลิเปที่ 6 แห่งสเปน (Felipe VI) เข้าร่วมพิธีการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ประมุขแห่งสเปนไม่ขอโทษต่อสิ่งที่กระทำกับเม็กซิโกในช่วงการล่าอาณานิคม ท่ามกลางกระแสจับตามองว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศอาจตึงเครียดอีกครั้ง
เคลาเดีย ไชน์บัม ปาร์โด (Claudia Sheinbaum Pardo) ว่าที่ประธานาธิบดีหญิงคนใหม่ของเม็กซิโก แถลงการณ์ว่า เหตุผลในการไม่เชิญกษัตริย์เฟลิเปมาเข้าร่วมงาน เป็นเพราะสเปนไม่แสดงท่าทีขอโทษถึงการกดขี่เม็กซิโกในช่วงอาณานิคม หลัง โลเปซ โอบราดอร์ (López Obrador) อดีตประธานาธิบดีเม็กซิโก เขียนจดหมายหาประมุขแห่งสเปน และพระสันตะปาปาฟรานซิส (Pope Francis) ในปี 2019 โดยเรียกร้องให้ทั้ง 2 คนกล่าวสำนึกผิดถึงอดีตที่ผ่านมา ทว่าเนื้อหาของจดหมายลับจากโอบราดอร์ถึงสเปนรั่วไหลไปในหน้าสื่อ
“ผมส่งจดหมายหากษัตริย์แห่งสเปนและโป๊ป เพื่อเรียกร้องให้พวกเขาอธิบายการข่มเหงในอดีต และกล่าวขอโทษต่อชนพื้นเมืองเม็กซิโก ที่เคยล่วงละเมิดสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า สิทธิมนุษยชนในตอนนี้” ส่วนหนึ่งจากวิดีโอของอดีตผู้นำเม็กซิโกที่เรียกร้องต่อประเทศอดีตเจ้าอาณานิคม
ขณะที่ทางการสเปนตอบโต้เพียงว่า ขออภัยอย่างสุดซึ้งต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และการที่สเปนไปเหยียบดินแดนของเม็กซิโกเมื่อ 500 ปีก่อน ไม่สามารถนำมาตัดสินเหตุการณ์ในปัจจุบันได้ รวมถึงคนทั้ง 2 ประเทศต่างเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกันอย่างปราศจากความโกรธแค้น
ล่าสุดว่าที่ประธานาธิบดีหญิงแห่งเม็กซิโกให้นัยสำคัญในแถลงการณ์ครั้งนี้ว่า สเปนควรตอบจดหมายกลับมา เพราะนี่คือแนวปฏิบัติที่เหมาะสมทางการทูต และเม็กซิโกไม่ได้รับคำตอบหรือข้อมูลเพิ่มเติมจากอดีตเจ้าอาณานิคมเลย
แม้กษัตริย์เฟลิเปไม่ได้รับเชิญร่วมงาน ทว่าเม็กซิโกเชิญ เปโดร ซานเชซ (Pedro Sánchez) นายกรัฐมนตรีสเปนฝ่ายสังคมนิยม เข้าร่วมพิธีแต่งตั้งประธานาธิบดีตามกำหนดการในวันที่ 1 ตุลาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตามซานเชซปฏิเสธการเข้าร่วม โดยเขาให้สัมภาษณ์กับสื่อในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (United Nations General Assembly) ว่า สเปนและเม็กซิโกต่างมีความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น แต่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำในอดีต
“สเปนกับเม็กซิโกเป็นดังบ้านพี่เมืองน้อง และนั่นก็เป็นสาเหตุว่า การกีดกันประมุขแห่งรัฐของเราเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ อย่าลืมว่า ประมุขแห่งรัฐก็ได้รับการสาบานตนเหมือนกัน ทั้งในฐานะเจ้าชาย กษัตริย์ และประมุขแห่งรัฐ
“เราถึงยอมรับไม่ได้ และจำเป็นต้องบอกรัฐบาลเม็กซิโกว่า จะไม่มีตัวแทนทางการทูตของสเปนอย่างใดก็ตาม” ชานเซชกล่าวก่อนเสริมว่า ทั้ง 2 ประเทศจะได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงมุมมอง
ทั้งนี้เคลาเดียอายุ 61 ปี เป็นผู้นำหญิงเม็กซิโกคนแรกและมีเชื้อสายยิว ก่อนหน้านี้เคยเป็นนักฟิสิกส์ด้านวิศวกรรมพลังงาน และอดีตผู้ว่าการกรุงเม็กซิโกซิตี (Mexico City) โดยเธอชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงถึง 60% ซึ่งมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเม็กซิโก
นอกจากดำรงตำแหน่งต่อจาก โลเปซ โอบราดอร์ ชายผู้เป็นดังขวัญใจฝ่ายซ้ายเม็กซิกัน และผู้เชิดชูสวัสดิการสังคม เธอยังมาจากพรรคโมรานา (Morana) พรรคการเมืองเดียวกับอดีตประธานาธิบดี ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่ได้รับความนิยมล้นหลามอีกด้วย
ย้อนรอยความสัมพันธ์ตึงเครียดระหว่างสเปน-เม็กซิโก
ในอดีตที่ผ่านมา แม้ความสัมพันธ์ของสเปน-เม็กซิโกจะยาวนานถึง 500 ปี ทว่าการปะทะเรื่องอดีตในยุคอาณานิคม กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศแย่ลง นับตั้งแต่การปฏิบัติต่อเม็กซิโกในฐานะ ‘อาณาจักรสเปนแห่งใหม่’ มากกว่าการเป็นประเทศใต้อาณานิคม การปราบปรามทางวัฒนธรรม จนถึงการสังหารชาวแอชเท็ก (Aztec) ชนพื้นเมืองเม็กซิโก
อย่างไรก็ตาม โทมัส เปเรซ เวโฆ (Tomás Pérez Vejo) ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติมนุษยวิทยาและประวัติศาสตร์เม็กซิโก (National School for Anthropology and History in Mexico) ให้ข้อมูลผ่านสำนักข่าววิทยุเสียงอเมริกา (Voice of America: VOA) ว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศค่อนข้างกำกวม เพราะมีฝ่ายที่มองว่า ประเทศของตนถือกำเนิดก่อนสเปนเข้ามา
แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า เม็กซิโกถือกำเนิดขึ้นเพราะการพิชิตของสเปนจากสงครามกลางเมือง ซึ่งต่างจากชาวอังกฤษที่ล่าอาณานิคมในสหรัฐอเมริกา ด้วยวิธีการกลืนชาติและสังหารชนพื้นเมือง เพราะคนสเปนแต่งงานกับคนพื้นเมือง ทำให้พลเมืองเม็กซิโกเต็มไปด้วยเชื้อสายสเปนหรือลูกครึ่ง
ทั้งนี้สเปนนับเป็นอีกประเทศหนึ่งที่ไม่ตอบโต้กับอดีตในยุคอาณานิคม โดยครั้งหนึ่ง พาโบล คาซาโด (Pablo Casado) ผู้นำฝ่ายขวาจัดเคยพูดว่า สเปนไม่ได้ล่าอาณานิคม แต่นี่คือวิธีการที่ทำให้สเปนใหญ่โตขึ้น
อย่างไรก็ตามในทางธุรกิจก็ยังนับว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศมีความแนบแน่น เพราะปรากฏบริษัทสเปนหลายแห่งเข้าไปลงทุนในเม็กซิโก รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือความรู้ทางธุรกิจระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เม็กซิโกก็ลงทุนกับสื่อของสเปนเช่นเดียวกัน
กระแสเรียกร้องการขอโทษจากประเทศอดีตอาณานิคม เริ่มแพร่หลายในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 1995 ที่สมเด็จพะราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizabeth II) ผู้ล่วงลับเคยขอโทษที่อังกฤษเคยสังหารชนเผ่าเมารี (Maori) ในนิวซีแลนด์หรือรัฐบาลอังกฤษออกแถลงการณ์ในปี 2013 ต่อชาวเคนยา
รวมถึง บารัก โอบามา (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวยอมรับถึงการกระทำของบรรพบุรุษอเมริกัน (คนอังกฤษ) ต่อชนพื้นเมือง ซึ่งนับเป็นคำขอโทษทางการ ที่บรรจุเป็นส่วนหนึ่งของร่างกฎหมายการจัดสรรงบประมาณกลาโหมในปี 2009
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2024/06/03/americas/mexico-claudia-sheinbaum-profile-intl-hnk/index.html
https://www.theguardian.com/world/article/2024/jun/10/claudia-sheinbaum-mexico-climate
Tags: เม็กซิโก, ล่าอาณานิคม, เฟลิเปที่ 6, สเปน, ลาตินอเมริกา, อาณานิคม