วันนี้ (11 พฤศจิกายน 2567) นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงข่าวต่อกรณีข้อร้องเรียนจากภาคประชาชนถึงการถ่ายทำละคร ‘แม่หยัว’ ที่เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ช่องวัน ถึงฉากวางยาสลบแมวนับว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์หรือไม่ ด้านกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงจัดการประชุมขึ้นมา เพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวว่าเข้าข่ายหรือไม่ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า ใครเป็นผู้กระทำความผิด
นายสัตวแพทย์บุญญกฤชชี้แจงว่า ที่ประชุมได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 มาตรา 25 (1) และ (4) ในการเชิญสถานีโทรทัศน์ดังกล่าว พร้อมทั้งผู้จัดทำละครและทีมงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ถ้อยคำและนำหลักฐานมาแสดง ให้กรมปศุสัตว์รวบรวมข้อมูล เพื่อประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น หากระหว่างการถ่ายทำอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทย์ ก็จะดำเนินการเชิญสัตวแพทยสภาเข้ามาให้ความเห็นว่า มีความเกี่ยวข้องกับความผิดทางจรรยาบรรณหรือไม่
อย่างไรก็ตามการนำสัตว์มาใช้ในการแสดง นายสัตวแพทย์บุญญกฤชระบุว่า แม้ว่าในจะมีการบัญญัติมาตรา 25 ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ว่าด้วย “การขนส่งสัตว์ หรือการนําสัตว์ไปใช้งานหรือใช้ในการแสดง เจ้าของสัตว์หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกําหนด” แต่ปัจจุบันข้อกำหนดต่อเรื่องสัตว์และการแสดงยังไม่มีการประกาศไว้ มีเพียงแต่ข้อกำหนดว่าด้วยเรื่องการขนส่งเท่านั้น ทำให้กรมปศุสัตว์ต้องรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ว่า จะมีการวางกรอบข้อกำหนดอย่างไรให้ครอบคลุมต่อการดูแลสัตว์
ในหนังสือเชิญบุญญกฤชระบุว่า มีเนื้อหาให้ผู้ที่ถูกร้องเรียนนำหลักฐานการถ่ายทำว่าเป็นอย่างไร ดำเนินการตามคำกล่าวอ้างที่แถลงออกมาก่อนหน้าจริงหรือไม่ หรือมีผู้เชี่ยวชาญดูแลหรือไม่
“ตอนนี้เรายังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ ผู้จัด หรือเจ้าของสัตว์ หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องโดยตรงว่า เขาทำตามกระบวนการขั้นตอนหรือไม่” นายสัตวแพทย์บุญญกฤชกล่าว
รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ยังเผยอีกว่า กรมปศุสัตว์มีจะมีการชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมผ่านทางเฟซบุ๊กเป็นระยะ เนื่องจาก พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มีเนื้อหาที่ยังไม่ครอบคลุม ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงหรือออกกฎหมายลูกต่อไป
“ผมเชื่อว่า คดีนี้จะเป็นตัวอย่างให้ผู้ทำละครในอนาคต พึงสังวรว่า จะทำอะไรกับสัตว์ต้องคำนึกในทุกด้าน และในอนาคตอาจจะมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้ฉากละครเป็นไปอย่างสมจริง โดยไม่ต้องนำสัตว์ตัวจริงมาแสดงอีกต่อไป” นายสัตวแพทย์บุญญกฤชกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีดังกล่าวถ้าเกิดเป็นความผิดจริงจะเข้าข่ายความผิดฐานใด รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ให้คำตอบว่า ถ้าเป็นเรื่องของการวางยาโดยไม่มีสัตวแพทย์ จะเข้าข่ายการทารุณกรรมสัตว์อย่างแน่นอน ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสัตวแพทยสภาที่ต้องเป็นเจ้าทุกข์ อีกทั้งหากการกระทำให้สัตว์ทุรนทุรายจะเข้าข่ายตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ มาตรา 31 ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
Tags: ช่องวัน, กรมปศุสัตว์, ทารุณกรรม, แมว, แม่หยัว, วางยา