หนึ่งในกระแสข่าวที่อยู่ในความสนใจของสังคมตั้งแต่เมื่อวานนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) คือการที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า (ร่าง) พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. …. หรือ ‘กฎหมายสมรสเท่าเทียม’ ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และอยู่ในขั้นตอนการเตรียมพร้อมนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาในวาระแรกของการเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 โดยมี ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นผู้เสนอร่าง ซึ่งขณะนี้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว
นอกเหนือไปจากเรื่องสมรสเท่าเทียม นายกรัฐมนตรียังเผยอีกว่า มีอีก 2 เรื่องที่พร้อมผลักดันต่อ คือเรื่องกฎหมายการรับรองอัตลักษณ์และเพศสภาพ ที่สามารถเลือกคำนำหน้าชื่อได้เอง และอีกเรื่องหนึ่งคือการยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 (พ.ร.บ.ค้าประเวณีฯ) โดยเศรษฐาระบุเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวอยากให้เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ แต่ก็อาจจะมีความยากและความซับซ้อน ดังนั้น จึงต้องฝากให้เหล่า ส.ส.ช่วยกันผลักดันและออกความคิดเห็นในประเด็นเหล่านี้ร่วมกันต่อ
ทั้ง 3 ข้อเสนอ ไม่ว่าจะเป็น สมรสเท่าเทียม, การรับรองเพศสภาพ และยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณีฯ ล้วนเป็น 3 ข้อเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขและยกเลิกกฎหมายจากภาคประชาชนที่รวมตัวขับเคลื่อนกันในนามภาคีกฎหมายภาคประชาชน 3 ฉบับ เพื่อความเป็นธรรมทางเพศ โดยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา มีการพบปะระหว่างภาคประชาชนกับนายกรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า ‘สมรสเท่าเทียม’ เป็น ‘สิ่งแรก’ ที่ ครม.เลือกทำ ซึ่งนี่อาจเรียกได้ว่าเป็น ‘ก้าวแรก’ ในการสนับสนุนสิทธิความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศใน ครม.เศรษฐา
อันที่จริง เส้นทางการเดินทางของกฎหมายสมรสเท่าเทียมมีมายาวนาน ทั้งในแง่ของการต่อสู้ในภาคประชาชนและการนำเสนอร่างจากพรรคการเมือง
หากให้พูดถึงสมรสเท่าเทียมร่างล่าสุดก่อนหน้าร่างปัจจุบันนี้ ในตอนนั้นร่างดังกล่าวถูกปัดตกไปเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566 ด้วยเหตุผลว่า เป็นเวลาครบ 60 วัน หลังจากการประชุมรัฐสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า ภายในกรอบระยะเวลา 60 วัน หลังการประชุมรัฐสภาครั้งแรก หาก ครม.ไม่มีมติมาดำเนินการร้องขอต่อรัฐสภา กฎหมายหลายฉบับที่ค้างอยู่ในรัฐสภาชุดก่อนจะไม่ถูกหยิบมาพิจารณาต่อ โดยกรอบเวลาดังกล่าวส่งผลให้กฎหมายอีกหลายฉบับที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต้องหยุดชะงัก ไม่ได้ไปต่อ แม้ว่าจะเข้าสภาฯ ในสมัยก่อนหน้า ผ่านวาระแรกแล้วก็ตาม จนมาถึงวันนี้ที่สมรสเท่าเทียมถูกหยิบขึ้นพร้อมดันสู่สภาฯ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง
สมรสเท่าเทียม ฉบับ ‘ครม.เศรษฐา’
รายละเอียดเบื้องต้นเท่าที่เปิดเผยในร่างนี้ คือการแก้ไขเพื่อให้ ‘บุคคลสองคน’ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม สามารถหมั้นและสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมาย และจะได้สิทธิ หน้าที่ และสถานะทางครอบครัวทัดเทียมกับคู่สมรสชายหญิง โดยจะเปลี่ยนจากคำว่า ‘ชาย-หญิง’ ให้เป็น ‘บุคคล-บุคคล’
ในส่วนของหลักการและเหตุผล คือเพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งและจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อเป็นเครื่องมือด้านกฎหมาย เช่น สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน สิทธิในการจัดการมรดก หรือกระทั่งเรื่องจิปาถะอื่นๆ ที่สำคัญกับการใช้ชีวิต เช่น สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดู และสิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล
หากผลักดันร่างสมรสเท่าเทียมสำเร็จในวาระการเปิดสภาฯ ดังที่กล่าวไปข้างต้น นี่อาจจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการยกระดับบรรทัดฐานในการโอบรับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในแง่ของการเป็นคู่สมรสเพศเดียวกันและครอบครัว ที่อาจจะไม่ได้มีสถานะเป็น ‘พ่อและแม่’ ตามบรรทัดฐานหลักในสังคม
หาก ‘สมรสเท่าเทียม’ ผ่าน ไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และประเทศที่สามในเอเชีย ถัดจากไต้หวันและเนปาล ที่มีกฎหมายรองรับการแต่งงานของคู่สมรสเพศเดียวกัน
หากมองย้อนไปถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในด้านสิทธิการสมรสในภูมิภาคเอเชียจะพบว่า นอกเหนือจากประเทศไทย ก็มีไต้หวันและเนปาลที่มีการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้เช่นกัน
ทั้งนี้ ‘ไต้หวัน’ เป็นประเทศแรกในเอเชียที่ให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา
แรกเริ่มเดิมที การสมรสระหว่างเพศเดียวกันถือเป็น ‘ข้อห้าม’ ตามกฎหมายของไต้หวัน จนกระทั่งในปี 2560 ที่ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันพิจารณาและตัดสินว่า กฎหมายดังกล่าวถือเป็นการละเมิดสิทธิและความเสมอภาคของพลเมือง ดังนั้น รัฐสภาไต้หวันจึงดำเนินการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2562 ที่รัฐสภาไต้หวันเริ่มนำร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมมาใช้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากฝ่ายอนุรักษนิยม จนนับเป็น ‘ประเทศแรก’ ในเอเชีย ที่มี ‘สมรสเท่าเทียม’ เกิดขึ้น
ตอนแรกที่ไต้หวันเริ่มใช้กฎหมายนี้ คู่สมรสเพศเดียวกันในไต้หวันยังไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมทุกประการหากเทียบกับคู่สมรสต่างเพศ โดยยังถูกจำกัดสิทธิอย่างน้อย 2 แง่ หนึ่ง คือแง่ของการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม ที่ยังมีเงื่อนไขว่าผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรมได้ต้องเป็นคู่สมรสระหว่างชาย-หญิงเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้ก็คล้ายเป็นการบีบให้เลือกระหว่างการจดทะเบียนสมรส กับการอุปการะเลี้ยงดูบุตร
และสอง คือเรื่องการแต่งงานกับชาวต่างชาติ ในกฎหมายตอนแรกระบุว่า จะสามารถสมรสกับคนเพศเดียวกันได้ก็ต่อเมื่ออีกฝ่ายมาจากประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตการสมรสระหว่างเพศเดียวกันเช่นกันเท่านั้น แต่สิ่งนี้ก็ถูกปรับเปลี่ยนในช่วงเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มสิทธิการรับรองเพิ่มเติมสำหรับชาวไต้หวันที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ โดยที่อีกฝ่ายไม่จำเป็นต้องมาจากประเทศต้นทางที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียม (ยกเว้นเพียงเงื่อนไขเดียว คือยังไม่สามารถรับรองคู่รักจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดในขั้นตอนของกระบวนการ)
หากเทียบในแง่ของประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับล่าสุดที่กำลังจะมีการพิจารณาในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ก็ต้องรอดูว่านอกเหนือจากการแก้ไขคำ จาก ‘ชาย-หญิง’ หรือ ‘สามี-ภรรยา’ ให้เป็น ‘บุคคล’ เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมมากขึ้นแล้ว ในแง่ของสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้างและมากน้อยเพียงใด
ในส่วนของ ‘เนปาล’ ถึงแม้ว่าประมวลกฎหมายแพ่งปัจจุบันจะยังระบุว่า การสมรสจะถูกต้องตามกฎหมายก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นระหว่าง ‘ชาย-หญิง’ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ดิล ปราสาด เศรษฐา (Til Prasad Shrestha) ผู้พิพากษาสูงสุดของเนปาล ก็ได้มีคำสั่งชั่วคราวให้รัฐบาลอนุญาตการจดทะเบียนสมรสแก่คู่รักเพศเดียวกัน โดยระบุให้เป็นการจดทะเบียนแบบ ‘ชั่วคราว’ จนกว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายใหม่หรือแก้ไขกฎหมายในส่วนนี้
ทั้งนี้ แม้กฎหมายจะยังไม่แก้ที่ตัวบทแต่ก็นับว่าเป็นสมรสเท่าเทียมในทางปฏิบัติ อีกทั้งยังเป็นการเกิดขึ้นของสมรสเท่าเทียมท่ามกลางบรรยากาศการต่อต้านการสมรสระหว่างเพศเดียวกันในประเทศอื่นๆ แถบเอเชียใต้ เช่น อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน ภูฏาน และมัลดีฟส์
ในแง่ศาสนาและความเชื่อจะมีผลกระทบหรือไม่
เมื่อวานนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) ในที่ประชุม ครม. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แสดงความกังวลว่า หากออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมฉบับนี้ จะส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวมุสลิมในเขตพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ โดย ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้เสนอร่างได้ชี้แจงตอบว่า สามจังหวัดมีการใช้กฎหมายชะรีอะฮ์ ซึ่งเป็นกฎหมายอิสลามที่ว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกเป็นเฉพาะอยู่แล้ว จึงคิดว่าร่างสมรสเท่าเทียมฉบับนี้จะไม่กระทบกับชาวมุสลิมในพื้นที่
ร่างสมรสเท่าเทียมทั้งหมด 3 ฉบับ จะมุ่งสู่จุดหมายเดียวกันในการพิจารณาที่สภาฯ
ในขณะนี้มีร่างสมรสเท่าเทียมทั้งหมด 3 ฉบับ จากการยื่นแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจาก 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม) เสนอโดย ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และคณะ
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สมรสเท่าเทียม) ที่เสนอโดยภาคประชาชน
3. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….(สมรสเท่าเทียม) เสนอโดยคณะรัฐมนตรี จัดทำโดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม
ซึ่งตามขั้นตอนแล้วทั้ง 3 ร่างนี้ จะมีการพิจารณาร่วมกันในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ เส้นทาง ‘สมรสเท่าเทียม’ ของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป เดือนธันวาคมนี้คงได้รู้กัน
Tags: สภาผู้แทนราษฎร, รัฐสภา, สมรสเท่าเทียม, กฎหมายรับรองเพศสภาพ, ยกเลิก พ.ร.บ.ค้าประเวณี