วันนี้ (18 กันยายน 2024) เกิดเหตุระเบิดในประเทศเลบานอนและซีเรีย โดยแหล่งข่าวความมั่นคงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ (Hezbollah) เผยผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ว่า หน่วยข่าวกรองมอสซาด (Mossad) ของอิสราเอล ลักลอบฝังระเบิดในเพจเจอร์กว่า 5,000 เครื่องที่นำเข้าจากไต้หวัน ทำให้มีผู้บาดเจ็บนับพันชีวิต ขณะที่นานาชาติต่างหวาดกลัวว่า ความขัดแย้งครั้งนี้จะประทุบานปลายเป็นสงครามในภูมิภาค
เหตุการณ์ระเบิดเพจเจอร์: ห่วงโซ่ของความขัดแย้งที่อาจขยายสู่สงครามในภูมิภาค
เวลา 15.30 น. ของวันที่ 17 กันยายนตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่กรุงเบรุต (Beirut) และเมืองอื่นของเลบานอนพร้อมกัน หลังเพจเจอร์ที่ใช้สื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ระเบิดขึ้นคร่าชีวิตผู้คน 9 ราย โดยหนึ่งในนั้นมีเด็กหญิงวัย 10 ปี และลูกชายของ อาลี อัมมาร์ (Ali Ammar) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฮิซบอลเลาะห์ ขณะที่มีผู้บาดเจ็บกว่า 3,000 ราย โดย โมจตาบา อามานี (Mojtaba Amani) เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำเลบานอน เป็นหนึ่งในผู้บาดเจ็บ
นอกจากนี้เหตุระเบิดลักษณะเดียวกันยังเกิดขึ้นในประเทศซีเรีย โดยปัจจุบัน กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ส่วนหนึ่งได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงดามัสกัส (Damascus) ทว่าสำนักข่าวเซเบอริน (Saberin) ภายใต้กองพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps) รายงานว่า สมาชิกในกองกำลังถูกสังหารในพื้นที่เรียบร้อย
วิดีโอจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่เผยต่อรอยเตอร์แสดงให้เห็นว่า ระเบิดทำให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์บาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ โดยมีชายคนหนึ่งบาดเจ็บที่ใบหน้า นิ้วมือขาด และมีบาดแผลขนาดใหญ่ตรงสะโพก ส่วนที่ใกล้ชิดกับเพจเจอร์มากที่สุด
แม้ไม่มีท่าทีจากอิสราเอลหลังเกิดเหตุระเบิด แต่รายงานจากสำนักข่าวบีบีซี (BBC) เผยว่า ก่อนเกิดเหตุการณ์ คณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลหยุดการโจมตีฮิซบอลเลาะห์ในทางตอนเหนือของประเทศ โดยอ้างว่า เป็นการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยให้กับผู้อพยพได้เดินทางกลับอย่างปลอดภัย
ปัจจุบันกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กล่าวโทษอิสราเอลและประกาศ ‘แก้แค้น’ พร้อมระบุว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นการรุกราน ขณะที่แหล่งข่าวอิสราเอลเผยว่า ผู้นำระดับสูงอย่าง เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) และโยอาฟ แกลลันต์ (Yoav Gallant) รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงภายในอิสราเอล พร้อมด้วยสมาชิกผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง ประจำการที่ฐานคีรยา (Kirya) ในเมืองเทลอาวีฟ เพื่อประเมินสถานการณ์ทั้งการ ‘โต้ตอบ’ และ ‘โจมตี’
การโจมตีดังกล่าวนับเป็นช่องโหว่ทางความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดของฮิซบอลเลาะห์ ท่ามกลางความขัดแย้งกับอิสราเอล แม้สายตาของโลกจะจับจ้องไปที่กาซา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังเหตุการณ์โจมตีสายฟ้าแลบของกลุ่มอิซบอลเลาะห์ต่ออิสราเอล โดยใช้ขีปนาวุธเพื่อสนับสนุนกลุ่มฮามาส (Hamas) เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ได้จุดประกายฉากความขัดแย้งหนึ่งในตะวันออกกลาง ที่อาจขยายวงกว้างไปสู่สงครามระดับภูมิภาค (Regional War)
ท่าทีของตัวแสดงที่เกี่ยวข้องต่อเหตุระเบิด
เบื้องต้น แมตทิว มิลเลอร์ (Matthew Miller) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา แสดงความเห็นต่อเหตุการณ์นี้ว่า ‘ยังเร็วเกินไป’ ที่จะบอกว่า สถานการณ์ดังกล่าวกระทบต่อการเจรจาหยุดยิงในกาซาหรือไม่ และออกตัวว่า สหรัฐฯ ไม่เกี่ยวข้องกับโจมตี รวมถึงไม่รู้ว่าฝ่ายไหนควรรับผิดชอบ ก่อนทิ้งท้ายว่า อิหร่านไม่ควรจุดไฟให้ความขัดแย้งบานปลาย
ด้านกลุ่มฮามาสกล่าวเตือนว่า การโจมตีครั้งนี้อาจกระตุ้นให้อิสราเอลเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ขณะที่โฆษกขององค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ระบุว่า เหตุการณ์ยังน่ากังวล โดยเฉพาะการเป็นจุดสุ่มเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความผันผวนในตะวันออกกลาง
ด้าน นาจิบ มิกาติ (Najib Mikati) นายกรัฐมนตรีเลบานอน ประณามการกระทำของอิสราเอลว่า เป็นการละเมิดอธิปไตยของเลบานอน และเข้าข่ายอาชญากรรมในทุกรูปแบบ
ขณะเดียวกัน อับบาส อารากห์ชิ (Abbas Araghchi) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ก็ออกมาแสดงท่าทีเดียวกัน โดยเรียกอิสราเอลว่าเป็นผู้ก่อการร้าย
อิสราเอลวางแผนอย่างไร?
เบื้องต้นแหล่งข่าวของเลบานอนเปิดเผยผ่านรอยเตอร์ว่า เพจเจอร์ทั้งหมด 5,000 เครื่อง ถูกนำเข้าจากโกลด์อะพอลโล (Gold Apollo) บริษัทสัญชาติไต้หวัน ในช่วงปีที่แล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้สื่อสาร เนื่องจากสามารถหลีกเลี่ยงการติดตามตำแหน่งของอิสราเอลได้
ทว่าอิสราเอลกลับใช้จุดอ่อนของตนเองให้เป็นประโยชน์ ด้วยการติดตั้งแผงควบคุมของเพจเจอร์สื่อสาร โดยมีรหัสคือการส่งข้อความเพื่อจุดชนวนพร้อมกัน ซึ่งยากต่อการตรวจจับด้วยวิธีการใดก็ตาม
นอกจากนี้หน่วยงานความมั่นคงที่ไม่เปิดเผยตัวตนยังระบุว่า พบระเบิดมากกว่า 3 กรัมในเพจเจอร์ แต่ไม่มีใครตรวจสอบได้ ทำให้ฝั่งแหล่งข่าวของฮิซบอลเลาะห์คาดเดาว่า การวางแผนครั้งนี้น่าจะเกิดขึ้นตั้งแต่กระบวนการผลิต
รายงานจากบีบีซียังวิเคราะห์ว่า แบตเตอรีของเพจเจอร์เป็นถ่านลิเธียม จึงสามารถลุกไหม้ได้หากร้อนเกินไป ทว่าอดีตผู้เชี่ยวชาญด้านยุทโธปกรณ์ของกองทัพอังกฤษซึ่งไม่เปิดเผยตัวตนระบุว่า องค์ประกอบข้างต้นไม่มีความสามารถทำให้เครื่องถึงกับระเบิด และคาดเดาว่า น่าจะมีระเบิดแรงสูงราว 10-20 กรัม ซ่อนอยู่ในเพจเจอร์แทน
ขณะที่เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (The Wall Street Journal) เผยว่า การขนส่งเพจเจอร์เพิ่งมาถึงไม่กี่วันที่ผ่านมา และเจ้าหน้าที่บางคนรู้สึกว่า ‘เครื่องร้อน’ ผิดปกติก่อนจะระเบิด
อย่างไรก็ตามโกลด์อะพอลโลออกมาปฏิเสธว่า เพจเจอร์ที่ระเบิดไม่ได้มาจากการผลิตของไต้หวัน แต่เป็นบริษัททางยุโรปที่ได้รับสิทธิจากบริษัทแม่ โดย ซู ชิงฮวง (Hsu Ching-Kuang) CEO ยังไม่ได้ระบุชื่อของบริษัทที่ผลิตเพจเจอร์ดังกล่าวออกมา
น่าสนใจว่า ผู้นำระดับสูงของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เมื่อมีความพยายามปฏิรูปแผนการทำสงคราม หลังนักบิน 170 คนถูกสังหารจากการโจมตีของอิสราเอล โดย ฮัสซัน นาสราลาห์ (Hassan Nasrallah) เลขาธิการของพรรคฮิซบอลเลาะห์ ประกาศว่า ให้กลุ่มสมาชิกระวังโทรศัพท์ของตนเองไว้ ซึ่งอันตรายกว่าการพบสายลับอิสราเอล เพราะมันอาจจะคร่าชีวิตพวกเขาได้
ขณะเดียวกันอัลจาซีรา (Al Jazeera) ยังตั้งข้อสังเกตว่า การระเบิดครั้งนี้ไม่เกิดขึ้นในกลุ่มนักรบกาซา เป็นเพราะฮามาสมีความรู้ด้านโทรคมนาคมมากกว่าฮิซบอลเลาะห์ หลังพึ่งพาอุปกรณ์สื่อสารและอินเทอร์เน็ตของตนเอง พร้อมทั้งยังมีรหัสลับที่ใช้สื่อสารภายในอีกด้วย
สถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อ?
แน่นอนว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ส่งผลดีต่อตะวันออกกลาง หรือแม้แต่สหรัฐฯ ที่ไม่ต้องการให้เกิดสงครามขนาดใหญ่ในภูมิภาค โดยแหล่งข่าวเผยว่า วอชิงตันมีความหวาดหวั่นเกรงกลัว หากเนทันยาฮูเปิดฉากบุกเลบานอนสายฟ้าแลบ หลังรัฐบาลอิสราเอลประกาศขยายเขตสงคราม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจกระทบต่อการเจรจาหยุดยิงในกาซาที่ไร้ความคืบหน้า
ขณะที่การโจมตีครั้งนี้อาจสั่นสะเทือนการสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ในทั้งแง่ปฏิบัติการ เครื่องมือ หรือสภาพร่างกายของกองกำลังบางส่วนที่ได้รับบาดเจ็บจนถึงขั้นพิการ ดังนั้น ในอีกแง่หนึ่ง สถานการณ์จึงอาจเป็นประโยชน์กับอิสราเอล ทั้งในแง่ของการโจมตีหรือการชะลอเวลาช่วยตั้งรับความรุนแรงหลังจากนี้
หรือสมการที่ซับซ้อนกว่านั้นคือ การร่วมวงของตัวแสดงอื่นๆ เพื่อตอบโต้อิสราเอล โดยเฉพาะมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างอิหร่าน หลังมี ‘แค้นที่ต้องชำระ’ จากการลอบสังหารผู้นำสูงสุดของฮามาสในกรุงเตหะราน ที่แสดงความหละหลวมและอ่อนแอของหน่วยข่าวกรองอิหร่าน
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/articles/cd7xnelvpepo
https://www.theguardian.com/world/2024/sep/17/lebanon-pager-explosions-what-we-know-so-far
https://www.aljazeera.com/news/2024/9/17/how-did-hezbollahs-pagers-explode-in-lebanon
Tags: อิสราเอล, เลบานอน, ตะวันออกกลาง, ความมั่นคง, ฮามาส, สงครามอิสราเอล-ฮามาส, ฮิซบอลเลาะห์, เพจเจอร์ระเบิด, การเมืองระหว่างประเทศ, อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา