วันนี้ (1 ตุลาคม 2567) ที่อาคารรัฐสภา มีพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 11 ตามประกาศแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
ในประกาศระบุข้อความไว้ว่า ตามที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้เข้าบริหารประเทศและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12-13 กันยายน 2567 และพรรคประชาชน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เลือก ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นหัวหน้าพรรคแล้วนั้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 106 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ขณะที่ณัฐพงษ์ได้กล่าวขอบคุณประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.ที่ให้ความไว้วางใจ โดยหลังจากนี้ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านจะเดินหน้าหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านถึงแนวทางการทำงานในสภาฯ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
หัวหน้าพรรคประชาชนยังยืนยันอีกว่า จะทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาที่สุดให้คุ้มค่าภาษีของประชาชน ให้สมกับได้รับการเลือกตั้งมา แม้ว่าจะทำในฐานะฝ่ายค้านก็ตาม
ทั้งนี้พรรคประชาชนพร้อมที่จะดำเนินการเสนอร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคน และพร้อมสนับสนุนผลักดันกฎหมายทุกฉบับ ไม่ว่าจะเสนอจากฝ่ายใดก็ตาม ตราบใดที่เป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ
“แม้เป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่ผมเชื่อว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในระบอบประชาธิปไตย หลังจากนี้กระบวนการทำงานของรัฐสภาจะครบถ้วนสมบูรณ์ ในฐานะที่วันนี้ผมได้รับตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการ” ณัฐพงษ์ระบุ
หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวถึงแนวทางการทำงานในสัปดาห์นี้ต่อว่า จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การแข่งขันทางการค้า ที่ปัจจุบันมีร่างจากพรรครวมไทยสร้างชาติเข้ามาประกบเพิ่มเติมด้วย ซึ่งทั้ง 2 ร่าง เขามองว่า เป็นประโยชน์ที่จะกำกับดูแลธุรกิจขนาดใหญ่ของประเทศไม่ให้เกิดการกินรวบตลาด โดยใจความสำคัญของร่างดังกล่าวคือ ‘ที่มาของคณะกรรมการ’ ว่าจะทำอย่างไรให้มีหน้าที่เป็นกลางมากที่สุด โดยทางพรรคประชาชนเสนอแนวทางไว้ว่า ที่มาของคณะกรรมการจะต้องมีสัดส่วนของฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสัดส่วนที่คณะกรรมการที่ผ่านการเห็นชอบของสภาฯ เสนอเข้ามา
ขณะที่การอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ มาตรา 152 และอภิปรายไม่ไว้วางใจ มาตรา 151 ตามรัฐธรรมนูญ ณัฐพงษ์คาดว่า จะอยู่ในช่วงต้นปี 2568 อย่างไรก็ตามต้องรอที่ประชุมร่วมของพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียก่อน โดยจะมีการแถลงข่าวภายหลังอีกครั้งหนึ่ง
ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จากกรณีที่เมื่อวานนี้ (30 กันยายน 2567) ในที่ประชุมวุฒิสภามีมติ 167 ต่อ 19 เสียงให้กลับไปใช้ ‘เสียงข้างมาก 2 ชั้น’ (Double Majority) หัวหน้าพรรคประชาชนกล่าวแสดงความกังวลว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอาจจะไม่ทันต่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2570 หาก พ.ร.บ.ประชามติแล้วเสร็จไม่ทัน เนื่องจากจะต้องมีการตั้งกรรมาธิการอีกครั้ง จะทำให้กระบวนการแก้ไขยืดเยื้อออกไปอีก
อย่างไรก็ตามณัฐพงษ์กล่าวต่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับยังมีหนทางการดำเนินการได้อยู่ หากพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคยืนยันว่า การทำประชามติเพียง 2 ครั้งก็สามารถทำได้ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นแล้วจะต้องมีการหารือภายในที่ประชุมสภาฯ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดให้มีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เข้าสู่วาระการประชุมร่วมของรัฐสภา โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน
Tags: พรรคประชาชน, ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ, ณัฐพงษ์, ผู้นำฝ่ายค้าน, รัฐสภา