วันนี้ (12 มีนาคม 2567) KKP Research ธนาคารเกียรตินาคิน ออกรายงานวิเคราะห์พัฒนาการการส่งออกของไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงความท้าทายจากหลายด้าน ที่ทำให้ไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียจุดยืนในการแข่งขันในโลกใหม่

ทั้งนี้ ภาคการส่งออกถือเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย นับตั้งแต่หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ไทยปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาเป็นประเทศที่ภาคการส่งออกมีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบกับการที่มีเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งออก

จากรายงานสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้ดังนี้

  1. ‘ไทยเป็นฐานการผลิตของสินค้าที่โลกกำลังจะลืม’ กล่าวคือ สินค้าที่ไทยมีความสามารถการผลิตกลับมีความต้องการในตลาดโลกลดน้อยลง เช่น รถยนต์สันดาป, ผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive (HDD) และผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เทรนด์โลกเปลี่ยนไปตามเศรษฐกิจสีเขียว
  2. ‘ไทยไม่มีสินค้าดาวรุ่งในโลกใหม่’ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดสินค้าที่เป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ตโฟน (Smartphone) และแผงวงจรไฟฟ้าลดลง
  3. ‘สินค้าที่อาจยังไปต่อได้กระจุกในกลุ่มสินค้าซับซ้อนต่ำ’ สินค้าที่ไทยมีส่วนแบ่งในตลาดมากขึ้น คือกลุ่มสินค้าเกษตรและสินค้าที่ไม่มีความซับซ้อนในการผลิต เช่น ผลไม้สด เนื้อสัตว์แปรรูป และยางรถยนต์ อย่างไรก็ดี สินค้ากลุ่มนี้ไม่ได้มีมูลค่ามากนักในตลาดโลก และไม่ได้มีสัดส่วนความต้องการที่เปลี่ยนไป นอกจากนั้น ไทยยังมีแนวโน้มสูญเสียโอกาสการแข่งขันให้กับเวียดนามและอินเดียมากขึ้น

ในอนาคตภาคการส่งออกของไทยต้องเผชิญกับความท้าทายที่มากขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงที่สินค้าโลกเก่าอาจหมดความต้องการอย่างไม่ทันตั้งตัว ขณะที่ไทยยังไม่สามารถผลิตสินค้าตามที่โลกต้องการมากขึ้นได้

นอกจากนั้น KKP Research ยังระบุอีกว่า ภาคการผลิตของไทยได้รับผลกระทบจากการเข้ามาของสินค้าจากประเทศจีน โดยที่ผ่านมา สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้นจาก 15% มาอยู่ที่ 25% ซึ่งการนำเข้านั้นรวมไปถึงสินค้าประเภทอุปโภคบริโภคด้วย ส่งผลกระทบหลักต่อประเทศไทยดังนี้

  1. ภาคการผลิตไทยได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง: สินค้าจากจีนทั้งในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ เหล็ก และยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เข้ามาตีตลาดในไทยอย่างรวดเร็ว ทำให้สินค้าไทยแข่งขันด้านราคาได้ยาก จึงทำให้ไทยขาดดุลการค้ากับจีนในสินค้ากลุ่มนี้อย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการผลิตสินค้าหมวดนี้ของไทยที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจนำไปสู่การปิดโรงงานและการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมนี้ได้ในอนาคต
  2. มูลค่าเพิ่มการส่งออกไทยจะลดลง: เมื่อสหรัฐอเมริกาลดการนำเข้าสินค้าโดยตรงจากจีน ทำให้ผู้ประกอบการของจีนโยกย้ายไปลงทุนต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นช่องการทางส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ (Re-Routing) เช่น การส่งออกแผงโซลาร์เซลล์ของไทยที่โตขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะไทยนำเข้าจำนวนแผงโซลาร์เซลล์จากจีนเป็นจำนวนใกล้เคียงกับที่ส่งออก ซึ่งประเด็นนี้อาจสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไทยน้อยมาก
  3. จีนเข้ามาทำธุรกิจในอาเซียนโดยตรงมากขึ้นเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ: ในปัจจุบัน การลงทุนโดยตรง (Foreign Direct Investment: FDI) จากจีนในไทยเร่งตัวจนขึ้นเป็นอันดับ 1 ในปี 2022 ทำให้ธุรกิจในไทยต้องเร่งปรับตัวแข่งขัน อย่างไรก็ตาม ธุรกิจจีนยังได้เปรียบด้านต้นทุนและสิทธิประโยชน์มากกว่า

โดย KKP Research ประเมินถึงผลกระทบที่ประเทศไทยจะได้รับจากความท้าทายดังกล่าวไว้ 3 มิติ คือ

  1. ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง เป็นผลจากปัจจัยเชิงวัฏจักร (Cyclical Slowdown) เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าลดลงชั่วคราว และเป็นผลจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้ครัวเรือน ภาวะวัฏจักรขาลงของสินเชื่อ และปัญหาสังคมสูงอายุ
  2. แรงงานในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลต่อเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย เพราะในไทยมีสัดส่วนแรงงานประมาณ 16% ของแรงงานทั้งหมด แม้ทิศทางการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ในไทยยังคงมีอยู่บ้าง แต่ก็มีการจ้างงานที่ต่ำเพราะใช้เครื่องจักรแทนแรงงานมากขึ้น
  3. ผลกระทบต่อดุลการค้าอาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าในระยะยาว เป็นผลจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกและแนวโน้มการนำเข้าสินค้าจากจีนที่เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนการบริโภคสินค้าในประเทศ กระทบต่อค่าเงินบาทใน 2 มิติ คือค่าเงินบาทจะไม่กลับไปแข็งค่าเช่นในอดีตจากดุลการค้าที่ลดลงในระยะยาว และความผันผวนของค่าเงินบาทจะเพิ่มสูงขึ้น เคลื่อนไหวตามการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

ทั้งนี้ KKP Research เสนอว่า ไทยต้องเร่งปรับตัวโดยผลักดันนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจเชิงโครงสร้าง (Supply-Side Structural Reform Policy) เพื่อรักษาความสามารถการแข่งขันในประเทศ โดยดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับระดับการพัฒนาและจุดแข็งของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ ยังต้องเร่งเพิ่มศักยภาพแรงงานให้มีความสามารถในการรองรับการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และเร่งให้มีการเคลื่อนย้ายทักษะแรงงาน เพื่อลดข้อจำกัดของการขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งควรลดข้อจำกัดและกฎระเบียบในการทำธุรกิจ

KKP Research เสนอว่า นโยบายเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญในการช่วยศักยภาพที่อ่อนลงของเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเติบโตในระยะยาว เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ได้

Tags: , , , , ,