กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ‘Just Stop Oil’ ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานกีดขวางการจราจรในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทำให้ผู้ใช้ยานพาหนะต่างๆ เดินทางไม่ได้ หลังจากกลุ่มผู้ชุมนุมนั่งประท้วงหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ (Natural History Museum) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงลอนดอน เมื่อเดือนตุลาคม 2022
กลุ่ม Just Stop Oil ที่ตกเป็นผู้ต้องหา ประกอบด้วยสมาชิก 7 คน มีตั้งแต่วัยทำงานจนถึงวัยชรา ได้แก่ สตีเฟน จาร์วิส (Stephen Jarvis) วัย 67 ปี, ลอรา จอห์นสัน (Lora Johnson) วัย 38 ปี, เบนจามิน ลาร์เซน (Benjamin Larsen) วัย 25 ปี, ราเชล เพนย์ (Rachel Payne) วัย 71 ปี, แอนนา รีทาลัก (Anna Retallack) วัย 58 ปี, เบเนดิกต์ ซานแซม (Benedict Sansam) วัย 38 ปี, และชีเลีย แชตฟอร์ด (Shelia Shatford) วัย 67 ปี
แม้ว่าสมาชิกของ Just Stop Oil ปฏิเสธข้อกล่าวหาในเบื้องต้น แต่ศาลเขตเวสต์มินสเตอร์ (Westminster) ตัดสินว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิด
“เป็นที่เข้าใจตรงกันว่า ผู้ชุมนุมไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในการประท้วงครั้งนี้ และรัฐบาลไม่ได้เปลี่ยนนโยบายตามคำเรียกร้อง อย่างไรก็ตาม การชุมนุมครั้งนี้จงใจทำให้เกิดความปั่นป่วน แม้เป็นการประท้วงที่สันติ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งอื่นใด นอกเหนือเจตนากีดขวางการจราจร
“และไม่มีข้อโต้แย้งอื่นใดว่า พวกเขากระทำโดยสุจริต สำหรับกรณีนี้พบว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดจากการกระทำจำเลย ดังนั้น ศาลจึงตัดสินว่าพวกเขามีความผิดในข้อกล่าวหาดังกล่าว” จอห์น ลอว์ (John Law) ผู้พิพากษาประจำเขต ให้เหตุผล
แดเนียล วูดลี (Daniel Wooley) ตำรวจและพยานในชั้นศาลอธิบายเหตุการณ์ว่า เขาไปถึงที่เกิดเหตุ หลังได้รับแจ้งจากประชาชนในพื้นที่ว่า มีคนนั่งกีดขวางการจราจรบนถนน ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนขับรถ และมีคำพูดทำนองว่า “คุณช่วยไล่พวกมันไปได้ไหม?” หรือ “พวกมันก็ทำแบบนี้เมื่อวานก่อน”
คนขับรถบางส่วนเรียกผู้ชุมนุมว่า ‘ไอ้พวกไร้ประโยชน์’ อีกทั้งยังมีผู้คนตะโกนถามว่า ทำไมเขาถึงขับรถทับผู้ประท้วงไม่ได้ ในขณะที่เจ้าหน้าที่วูดลีพูดติดตลกเพื่อบรรเทาความตึงเครียดของเหตุการณ์ว่า “จะดีกว่านะ ถ้าคุณไม่ทำแบบนั้น”
ความวุ่นวายของสถานการณ์ทวีคูณไปอีก เมื่อมีชายวัย 90 ปี ซึ่งเป็นบุคคลที่ต้องมีแพทย์ดูแลอย่างใกล้ชิด ติดอยู่บนถนนที่ถูกกีดขวาง อย่างไรก็ตาม ในภายหลัง พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยรายนี้ได้รับอนุญาตให้กลับรถเพื่อเปลี่ยนเส้นทางได้
กลุ่มผู้ประท้วงบางส่วน เช่น จาร์วิส นั่งร้องไห้บริเวณท่าเรือ และระบายความในใจว่า การปิดถนนครั้งนี้สำคัญกับเขาในฐานะคริสต์ศาสนิกชนคนหนึ่ง เพราะกำลังทำหน้าที่สนับสนุนการต่อสู้ของพระสันตะปาปาเรื่องวิกฤตการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
สุดท้ายแล้ว จาร์วิสและลอร์เรนถูกปรับคนละ 200 ปอนด์ (ประมาณ 8,513 บาท) และศาลมีคำสั่งให้จ่ายเพิ่มอีก 200 ปอนด์ รวมถึงค่าชดใช้สำหรับเหยื่อ 80 ปอนด์ (ประมาณ 3,405 บาท) ในขณะที่คนอื่นๆ ถูกปล่อยตัวตามเงื่อนไขของศาล 12 เดือน ทว่าต้องชำระค่าปรับให้ศาล 200 ปอนด์ และเหยื่ออีก 26 ปอนด์ (ประมาณ 1,106 บาท)
กลุ่ม Just Stop Oil คือใคร?
Just Stop Oil คือกลุ่มรณรงค์ปัญหาสิ่งแวดล้อม ก่อตั้งขึ้นโดยมีผู้นำจากกลุ่มนักเคลื่อนไหว Extinction Rebellion และ Insulate ทำงานประสานกัน จุดประสงค์เพื่อประท้วงรัฐบาลอังกฤษ ให้ยุติการออกใบอนุญาตและการพัฒนาพลังงานฟอสซิล
การเคลื่อนไหวของพวกเขาได้รับความสนใจจากสาธารณชนเป็นครั้งแรก เริ่มจากการชุมนุมหลายครั้งเดือนมีนาคม 2022 และการบุกรุกสนามฟุตบอลในการแข่งขันพรีเมียร์ลีก (Premier League) โดยนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งเคยผูกคอของตนเองกับเสาประตูของกูดิสันพาร์ก (Goodison Park) สนามเหย้าของทีมเอฟเวอร์ตัน เมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ระหว่างการแข่งขันกับนิวคาสเซิลยูไนเต็ด
การประท้วงที่โดดเด่นของพวกเขาคงหนีไม่พ้น เหตุการณ์ชะงักคลังน้ำมันใหญ่ที่สุดของประเทศอังกฤษ และการเทซุปมะเขือเทศใส่ภาพดอกทานตะวันของ แวน โกะห์ (Van Gough) ณ หอศิลป์แห่งชาติกรุงลอนดอน (London National Gallery) จนกลายเป็นไวรัลดังในโลกทวิตเตอร์ ซึ่ง แอนนา ฮอลแลนด์ (Anna Holland) หนึ่งในสมาชิก ให้เหตุผลว่า เป็นการกระทำที่ปลุกผู้คนให้กลับมาสนใจปัญหาทางสังคมและตั้งคำถามมากขึ้น
“ฉันใช้วิธีการนี้เพื่อให้ผู้คนในโลกโซเซียลฯ พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ และเรารู้ดีว่า การต่อต้านโดยสันติวิธีมันได้ผล ประวัติศาสตร์สอนพวกเรามาตลอด” แอนนากล่าว
“อะไรมีค่ามากกว่ากัน ศิลปะหรือชีวิต? … มันมีค่ามากกว่าอาหาร? มีค่ามากกว่าความยุติธรรม? พวกคุณกังวลเรื่องการปกป้องรูปวาดมากกว่าการปกป้องโลกและผู้คนด้วยกันอีกเหรอ” โฟบี พลัมเมอร์ (Phoebe Plummer) นักเคลื่อนไหวอีกรายตั้งคำถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเซียลฯ
กระแสตอบรับการเคลื่อนไหว: เสียงชื่นชม VS เสียงวิพากษ์วิจารณ์?
แม้ว่าการเคลื่อนไหวของ Just Stop Oil สร้างความไม่พอใจและทำให้หลายคนโกรธแค้น จนอาจกล่าวได้ว่า เสียงของคำด่าทอดังกว่าเสียงชื่นชมพอสมควร เริ่มจากนักวิจารณ์ศิลปะ วัลเดมาร์ ยานุสแซก ( Waldemar Januszczak) ทวีตข้อความว่า “เอาขบวนการของพวกxึงไปใช้กับบริษัทน้ำมันนะ ไอ้ปัญญาอ่อน ไม่ใช่เอามาลงกับศิลปะที่ไร้เดียงสา” ผู้คนใช้รถบนท้องถนน ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม ตะโกนด้วยถ้อยคำหยาบคายใส่ว่า “หลีกทางหน่อยไอ้เวร! … สาบานต่อหน้าพระเจ้าเลยว่า xูจะทุบหน้าของพวกxึงให้แตก” รวมถึงคำวิจารณ์การเคลื่อนไหวของพวกเขา ซึ่งหลายคนมองว่า Just Stop Oil ประท้วงแบบฉาบฉวยเกินไป
อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงชื่นชมว่า Just Stop Oil ทำให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และการเคลื่อนไหวของพวกเขายังกระตุ้นกลุ่มอื่นๆ ทั่วโลกมากขึ้น เช่น กลุ่มเคลื่อนไหวชาวเยอรมันปามันบดใส่ภาพเขียนชุดกองฟาง (Monet Les Meules) เพื่อประท้วงปัญหาการใช้ฟอสซิล ในขณะที่นักเคลื่อนไหวชาวออสเตรเลีย 2 คนถูกจับกุมตัวเพราะแตะรูปภาพ ‘Massacre in Korea’ ของปิกัสโซ (Picasso) ซึ่งมีกระจกกั้นในหอศิลป์แห่งชาติวิกตอเรีย (National Gallery of Victoria)
นอกเหนือจากนั้น ยังมีบทความ ‘ถ้าพวกคุณไม่พอใจกลุ่ม XR และ Just Stop Oil ลองนึกถึงวิกฤตการณ์การแปรปรวนของอากาศจะเลวร้ายเพียงใด?’ วิพากษ์วิจารณ์ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของ Just Stop Oil โดย แอนดี้ เบ็กเก็ตต์ ( Andy Beckett) คอลัมนิสต์ของเดอะการ์เดียน (The Guardian) ซึ่งพูดถึงความน่ากลัวของปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจน การถูกจำกัดเสรีภาพของประชาชน ท่ามกลาง ‘ความดัดจริต’ ของคนบางกลุ่มในสังคม
“พวกเขาถูกเรียกว่า ‘เห็นแก่ตัว’ ทั้งๆ ที่เสียสละเพื่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพวกนั่งวิจารณ์ พวกเขาถูกเรียกว่า ‘พวกสุดโต่ง’ แม้ว่าอากาศโลกนี้จะเลวร้ายไปแค่ไหนแล้ว…” ส่วนหนึ่งของบทความ ซึ่งเบ็กเก็ตต์อ้างข้อความจาก มาร์ก ออสติน (Mark Austin) ผู้สื่อข่าวของสกายสปอร์ต (Sky Sports)
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/uk-63543307
Tags: Environment, สิ่งแวดล้อม, การชุมนุม, Just Stop Oil