วันนี้ (8 มกราคม 2566) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งถึงคำตอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรื่องการทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตว่า คณะกรรมการกฤษฎีการะบุชัดว่าอยู่ในอำนาจของกระทรวงการคลัง ทว่ามีข้อเสนอแนะให้ปฏิบัติตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติวินัยการการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ฉะนั้น ต้องชัดเจนว่าเป็นวิกฤตหรือไม่ และต้องประเมินเรื่องความคุ้มค่าทั้งก่อนและหลังโครงการ ซึ่งเป็นภาระตามข้อกฎหมาย เป็นภาระของกระทรวงการคลังและฝ่ายนโยบายที่จะดำเนินการให้ครบถ้วน
นอกจากนี้ อีกข้อที่ต้องจัดการคือฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน ซึ่งในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายต้องเชิญทุกฝ่ายมา รวมถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ ก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย โดยทั้งหมดเป้าหมายคือภายในเดือนพฤษภาคม ยังคงไม่มีเหตุผลให้เลื่อน
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท จะมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแน่นอน โดยวันที่ประกาศโครงการก็มีตัวเลขจากธนาคารแห่งประเทศไทยแล้วว่า จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ถึง 4.4% โดยถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ ซึ่งถ้าหากเงินพอ มีเวลาเพียงพอ ก็คาดว่าจะไปถึง 4% กว่าได้ ยังไม่นับรวมเรื่องอื่น เช่น เรื่องการลงทุนและการท่องเที่ยว ขณะส่วนที่เหลือ 3% กว่า เพราะกระบวนการเริ่มต้นถูกเลื่อนไปอีก คือไปเริ่มในช่วงปลายไตรมาสสอง
ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า อาจเรียกว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาไฟเขียวไม่ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ตั้งไว้ค่อนข้างเยอะ และว่ากันตามจริง หากดูเงื่อนไขแทบจะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการตีความครั้งนี้
“เรายังรอคำตอบเรื่องรายงานการศึกษาความคุ้มค่าว่าเป็นอย่างไร เราไม่ได้มีข้อมูลเชิงลึก เราได้แต่ตั้งคำถามว่าหลายๆ ประเทศที่ผ่านมา วิธีนี้ไม่ใช่วิธีกระตุ้นที่ดีที่สุด ไม่ได้คุ้มค่าที่สุด เรากำลังรอคำตอบว่าคุ้มค่าขนาดไหน กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีเพียงใด กระทั่งเรายังไม่รู้ว่าถ้ากระตุ้นด้วยห้าแสนบาท จะกระตุ้นได้เท่าไร เม็ดเงินหมุนเวียนเท่าไร มีเพียงการคาดการณ์จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ดูว่าผลทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร”
Tags: กระทรวงการคลัง, จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์, ดิจิทัลวอลเล็ต, จุลพันธ์