เหตุการณ์หนึ่งที่อยู่ในความสนใจของสังคมตั้งแต่ช่วงวันเสาร์ (11 พฤศจิกายน 2566) ที่ผ่านมา คือ ‘การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30’ ที่สนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย) ระหว่าง 4 โรงเรียนชายล้วน ได้แก่ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ โดยจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน 2566

‘การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี’ เป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระดับมัธยมศึกษาระหว่าง 4 โรงเรียนชายล้วนที่กล่าวไปข้างต้น โดยจัดขึ้นทุก 2 ปี มีวัตถุประสงค์หลัก คือเพื่อเสริมสร้างความสามัคคีของนักเรียนชายทั้ง 4 โรงเรียน ซึ่งนอกจากการแข่งขันฟุตบอล อีกหนึ่งไฮไลต์ของกิจกรรมคือ ‘การแปรอักษร’ ที่มักเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอยู่เสมอ

อย่างไรก็ดี แม้ ‘การแปรอักษร’ จะเป็นการแสดงถึงความประณีตและความสามัคคีของเหล่านักเรียน เป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้ชมในแต่ละปี มากจนถึงเป็น ‘ธรรมเนียม’ ที่ปฏิบัติมาจากรุ่นสู่รุ่น แต่อีกมุมหนึ่งที่ถูกสะท้อนผ่านกิจกรรม คือการขึ้นสแตนด์เชียร์ค่อนข้างมีความยากลำบากในหลายจุด ทั้งการต้องเผชิญและอดทนกับสภาพอากาศที่ร้อน การสละเวลาส่วนตัวเพื่อมาทำหน้าที่นี้ ยังไม่รวมถึงเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล ที่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากขึ้นสแตนด์เชียร์

The Momentum ชวนย้อนไทม์ไลน์เหตุการณ์ทั้งหมดอีกครั้งว่า มีสิ่งใดที่เกิดขึ้นบ้าง เกี่ยวกับเหตุการณ์ #เลิกบังคับแปรอักษร ที่เป็นกระแสในขณะนี้

Call Out แรกจากหน้าโรงเรียนเทพศิรินทร์ฯ

ในวันแรกของการเปิดงานฟุตบอลประเพณี (11 พฤศจิกายน 2566) ผู้สื่อข่าวหลายสำนักต่างรายงานตรงกันว่า มีกลุ่มนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์และกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน รวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องให้ยกเลิกบังคับนักเรียนขึ้นแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีครั้งนี้

โดยผู้ที่อ้างว่าเป็นศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ให้ข้อมูลว่า งานฟุตบอลประเพณีนี้มี 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่

1. การแข่งขันฟุตบอล

2. การแปรอักษรบนอัฒจันทร์

3. พาเหรดและโชว์พิเศษ

จากองค์ประกอบที่กล่าวมา การแปรอักษรบนอัฒจันทร์ถือเป็นจุดที่ ‘อันตราย’ มากที่สุด เนื่องจากนักเรียนที่ขึ้นอัฒจันทร์ถูกบังคับให้ขึ้น อีกทั้งยังต้องตากแดดเป็นเวลานาน ห้ามเข้าห้องน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพ

มากกว่านั้น บนโลกโซเชียลฯ ยังลือว่า โรงเรียนในเครือจตุรมิตรบังคับให้นักเรียนเข้าร่วมงานฟุตบอลประเพณีด้วยการอ้างว่า มีผลต่อคะแนนกิจกรรมผู้เรียน และมีผลต่อการจบการศึกษา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และขัดต่อกฎหมาย

แต่ข้อมูลข้างต้นจะจริงเท็จประการใดนั้น กลุ่มดังกล่าวยังคงเดินหน้าเสนอข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการของโรงเรียนทั้ง 4 ในฐานะผู้จัดงานว่า ขอให้ปรับปรุงการจัดงานฟุตบอลประเพณีให้เป็นไปตาม ดังนี้

1. ให้ยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้นเชียร์และแปรอักษร ต้องเป็นไปตามความสมัครใจเท่านั้น

2. ให้เพิ่มเวลาพักสำหรับผู้ขึ้นแปรอักษร รวมถึงให้มีเวลารับประทานอาหาร เข้าห้องน้ำ พักหลบแดด มีมาตรการควบคุมคนให้สามารถเดินเข้าออกโดยง่าย ทั้งขณะปกติและเมื่อฉุกเฉิน

3. ให้มีสวัสดิการปัจจัยอื่นที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมี ‘ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์’ บนอัฒจันทร์ เช่น ครีมกันแดดทั้งสำหรับใบหน้าและร่างกาย

ขณะเดียวกัน มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากเหล่า ‘ศิษย์เก่าจตุ’ ในทำนองว่า เด็กรุ่นใหม่ไม่มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่ต้องทำ ซ้ำยังไร้ความสามัคคี และมีบางส่วนถึงกับบอกว่า หากตัวเองสามารถขึ้นอัฒจันทร์แทนได้ก็จะทำ

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ #เลิกบังคับแปรอักษร คุกรุ่นในสื่อสังคมออนไลน์

กระแสแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร ถูกพูดถึงในสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแอปพลิเคชันเอ็กซ์ (X) โดยมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นในประเด็นนี้จำนวนมาก และกระแสส่วนมากไปในทางวิพากษ์วิจารณ์

นี่คือตัวอย่างบางส่วนจากนักกิจกรรมเยาวชนที่แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้

มิน-ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ นักกิจกรรมกลุ่มนักเรียนเลว ระบุว่า “เห็นป้าย #เลิกบังคับแปรอักษร อยู่หน้าสนามศุภในวัน #จตุรมิตรครั้งที่30 ได้ยินมาจากเพื่อนที่เรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ในวันแปรอักษร ทั้งร้อนแดด และยังโดนว๊าก บางคนก็ต้องฉี่ใส่ขวด ไม่ได้ลงจากสแตนด์เลยตั้งแต่เช้ายันมืด ใครไม่เข้าร่วมก็ติด มผ นี่คือชีวิตจริงที่อยู่หลังภาพสวยงามบนแสตนด์” 

ในขณะที่ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ระบุว่า “#เลิกบังคับแปรอักษร ถ้าอ้างเป็นความภูมิใจ เด็กคงขึ้นแสตนด์เองโดยไม่ต้องบังคับเนอะ อีโก้, ความมักง่ายต้องทิ้งให้เป็น ทั้งนักเรียนทั้งครู เพราะเคยเป็นคนที่บังคับเด็ก ม.ต้นขึ้นแสตนด์ วันนี้เลยขอเตือน ถ้าเด็กเป็นอะไรไป คุณรับผิดชอบไม่ไหวหรอก มันแทบไม่ต่างจากรับน้องโหดเลย หรือไม่จริง”

นอกจากนี้ ยังมีการแสดงความคิดเห็นจากคนทั่วไปในทำนองเดียวกันคือ

1. การตั้งคำถามว่า ‘ขนบธรรมเนียม’ และ ‘ประเพณี’ ที่ปฏิบัติสืบทอดกันมานี้มีปัญหาอย่างไร

2. หากอ้างว่าเป็น ‘ความภาคภูมิใจ’ ในสถาบันจริงๆ ทำไมต้องมีการบังคับ

3. นอกเหนือไปจากหน้าตาของสถาบัน สิ่งเหล่านี้ถูกทำให้เป็น ‘ความสัมพันธ์เชิงพาณิชย์’ อย่างแยกไม่ขาด เพราะหากสังเกตจะมีการโฆษณา หรือออกตัวสนับสนุนถึงตัวบุคคลซึ่งเป็นศิษย์เก่า โดยความเห็นบางส่วนระบุว่า คล้ายกับการเป็น ‘การพาณิชย์จากแรงงานฟรี’ เพราะว่าเด็กนักเรียนแทบจะไม่ได้อะไรตอบแทนจากสิ่งเหล่านี้เลย

‘ศิษย์เก่า’ บางส่วน ‘ซื้อใจ’ เด็กรุ่นใหม่ ผ่านการซื้อของกำนัลแจก แลกกับการขึ้นอัฒจันทร์แปรอักษร

ความเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวานนี้ (14 พฤศจิกายน 2566) มีศิษย์เก่าโรงเรียนในเครือจตุรมิตร โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งภายในหมู่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง รวมถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากคนนอก ที่มีความกังวลเรื่องสวัสดิภาพเเละสิทธิมนุษยชนของเยาวชน

ตนเอง (ผู้โพสต์) ก็ไม่เห็นด้วยกับการบังคับให้ใครทำอะไรที่ไม่เต็มใจ แต่อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวยังคิดว่า ในฐานะศิษย์เก่าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ยังอยากเห็นอัฒจันทร์แปรของโรงเรียนตัวเองที่ ‘ต้องเต็ม’ และ ‘ต้องเต็มเป็นโรงเรียนแรก’ ดังนั้น จึงคิดหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้เด็กสวนกุหลาบขึ้นอัฒจันทร์ โดยการระดมทุนเพื่อการจัดซื้อของรางวัลใหญ่มาจับฉลากกับนักเรียนบนอัฒจันทร์ที่เเปรอักษรของโรงเรียนสวนกุหลาบฯ โดยรางวัลมีทั้ง ไอโฟน 15 (iPhone15), กล้อง DJI OSMO Pocket 3, Nintendo Switch ฯลฯ รวมเเล้วกว่า 10 รางวัล

ทั้งนี้ ในส่วนของวิธีดังกล่าวผ่านการหารือกับหลายฝ่าย ทั้งจากครูในโรงเรียน นายกสมาคมผู้ปกครอง ประธานชมรมเชียร์ และทีมงานชมรมเชียร์ มาแล้ว โดยเปิดบัญชีเงินฝากสำหรับสมทบทุนซื้อของรางวัล และหากใครเป็นผู้โชคดีได้รับรางวัลจะมีการจัดส่งรางวัลให้ถึงโรงเรียน

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่น่าจับตาว่า ในวันพิธีปิดของงานฟุตบอลประเพณีที่จะถึงในวันเสาร์นี้ (18 พฤศจิกายน 2566) จะเป็นไปอย่างไร อัฒจันทร์จตุรมิตรทั้ง 4 โรงเรียนจะเต็มอัฒจันทร์ดังที่คาดหวังหรือไม่ 

ภาพ: Jaturamitr by AC

 

ที่มา:

https://www.matichon.co.th/education/news_4278071

https://ch3plus.com/news/exclusive/ch3onlinenews/374164

https://today.line.me/th/v2/article/605EpY6

 https://www.facebook.com/100000779523663/posts/pfbid02wvhCBiuENDPViRhDxj74X9wCBfYKKQcGMfQR8K1xvayUuHyJP1jhUEssSKQexmDel

https://x.com/itsminute/status/1723165745566425206

https://x.com/panusayas/status/1723192810386698306

Tags: ,