แม้ตอนนี้ความสนใจของประชาคมโลกถูกเทไปยังความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน แทบจะทั้งหมด แต่เวลาเดียวกัน หลายพื้นที่ในโลกยังคงเผชิญกับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงและน่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ที่ตอนนี้ยังคงรุนแรง เห็นได้จากรายงานตัวเลขผู้ได้รับบาดเจ็บ ตัวเลขการละเมิดสิทธิมนุษยชน และตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2022 องค์การนิรโทษกรรมสากล หรือ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงาน 211 หน้า เนื้อหาทั้งหมดระบุถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งอิสราเอลกับปาเลสไตน์ บางช่วงบางตอนเขียนว่า ปาเลสไตน์กลายเป็นเหยื่อความรุนแรงและการเหยียดเชื้อชาติ ที่เกิดขึ้นเพราะอิสราเอลรุกคืบขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่ เมื่อไม่ยินยอมหรือพยายามตอบโต้ ก็จะถูกจับกุม ทำร้ายร่างกาย ถูกยึดทรัพย์สิน หรือถูกสังหาร คล้ายกับว่าอิสราเอลมองชาวปาเลสไตน์เป็นเชื้อชาติที่ด้อยกว่าชาวยิว และในหน้าท้ายๆ ของรายงาน แอมเนสตี้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) ออกมาตรการปิดล้อมทางอาวุธแก่อิสราเอล

สหรัฐอเมริกาที่เป็นพันธมิตรอันเหนียวแน่นกับอิสราเอล ส่ง เนด ไพรซ์ (Ned Price) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์โต้ตอบรายงานของแอมเนสตี้ ระบุว่ารายงานดังกล่าวเป็นการปิดป้ายกล่าวหาอิสราเอล มองสถานการณ์ความขัดแย้งในมุมเดียวจนเกินไป ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ จะต้องไม่ปฏิบัติตัวแบบสองมาตรฐาน ส่วนโฆษกกระทรวงต่างประเทศอิสราเอล โต้ตอบรายงานดังกล่าวว่า แม้ตอนนี้อิสราเอลจะไม่ใช่รัฐที่สมบูรณ์แบบ แต่ก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าอิสราเอลละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศหรือไม่ แต่ข้อมูลทั้งหมดในเอกสารของแอมเนสตี้ที่ถูกเผยแพร่ไปแล้ว รังแต่จะสร้างความเกลียดชังให้กับชาวยิว

หลังแอมเนสตี้ออกเอกสารและถูกสหรัฐฯ วิจารณ์เพียงไม่กี่วัน วันที่ 8 กุมภาพันธ์ มีรายงานว่า กระทรวงการต่างประเทศปาเลสไตน์ แถลงการณ์ประณามการกระทำของอิสราเอล เนื่องจากเจ้าหน้าที่อาวุธครบมือในเขตเวสต์แบงก์ โจมตีกราดยิงรถยนต์คันหนึ่ง ทำให้คนที่นั่งอยู่ในรถทั้งหมด 3 รายเสียชีวิตคาที่ ทางด้านโฆษกหน่วยความมั่นคงภายในของอิสราเอล ออกมาชี้แจงว่า ชาวปาเลสไตน์ที่นั่งอยู่ในรถมีอาวุธครบมือ ภายหลังสืบทราบว่าทั้งหมดเป็นสมาชิกของกองพลน้อยพลีชีพ อัลอักซอ เจ้าหน้าที่อิสราเอลจึงจำเป็นต้องโจมตีก่อน เช่นเดียวกับการแสดงความคิดเห็นของ นาฟตาลี เบนเนตต์ (Naftali Bennett) นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่ยืนยันว่าหน่วยความมั่นคงของอิสราเอลจะไม่ทำร้ายประชาชน แต่จะโต้ตอบใครก็ตามที่ทำร้ายเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล

ช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ปาเลสไตน์ออกแถลงการณ์อีกครั้ง คราวนี้เรียกร้องให้สอบสวนกรณีการเสียชีวิตของ โมฮัมเหม็ด เชดาเดห์ เด็กชายวัย 14 ปี หลังผู้สื่อข่าวท้องถิ่นในเขตอัลคาเดอร์ เมืองเบธเลเฮม รายงานว่าพบเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันอิสราเอลพยายามจับกุมโมฮัมเหม็ดที่บาดเจ็บสาหัส ด้วยการขวางรถพยาบาลไม่ให้วิ่งไปยังโรงพยาบาล จนเป็นเหตุให้เด็กชายเสียชีวิต

การแสดงความคิดเห็นของนายกฯ อิสราเอล และเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า แบบนี้เท่ากับว่าใครที่ดูท่าทางมีพิรุธ หนีการจับกุม และขัดขืนหรือโต้ตอบเจ้าหน้าที่ของอิสราเอล ทั้งหมดจะถูกพิพากษาไปก่อนแล้วว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่?

ประเด็นดังกล่าวถูกถกเถียงหลายต่อหลายครั้ง แต่ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะร้อนแรงกว่าที่ผ่านมา เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่ทำให้เจ้าหน้าที่อิสราเอลถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง กับเรื่องราวของเด็กหญิงไม่ทราบอายุ (คาดว่าอยู่ในระหว่าง 9-11 ปี) ถูกสะเก็ดระเบิดที่เจ้าหน้าที่อิสราเอลยิงใส่ชาวปาเลสไตน์กลางจัตุรัสในกรุงเยรูซาเลม ก่อนผู้อยู่ในเหตุการณ์จะอุ้มร่างของเด็กผู้หญิงที่เลือดอาบท่วมศีรษะวิ่งไปยังรถพยาบาล ท่ามกลางประชาชนคนทั่วไปที่เดินหนีความวุ่นวาย ทั้งคนแก่ ผู้หญิง และเด็กๆ ที่เล่นกันอยู่ในบริเวณนั้น ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่ยิงระเบิดทำไม

นอกจากนี้ ยังมีคลิปตำรวจอิสราเอลเข้าจับกุมเด็กผู้หญิงวัย 11 ปี ที่ประตูดามัสกัส เมื่อเด็กผู้หญิงขัดขืน เจ้าหน้าที่หลายคนเข้าล็อกตัว ล็อกคอ และกดลงกับพื้น ขณะที่ตำรวจคนอื่นๆ ชูกระบองกันไม่ให้คนในเหตุการณ์เข้ามาช่วยเหลือ รวมถึงคลิปเจ้าหน้าที่อิสราเอลผลักชายสองคนจนล้มลงกลางตลาดในย่านเมืองเก่า รุมทุบตีเพื่อจับกุม เกิดความวุ่นวายอยู่หลายนาที และทำให้ทรัพย์สินของประชาชนที่กำลังทำมาค้าขายในละแวกนั้นได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพความรุนแรงถูกนำไปเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดีย มีผู้คนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เกิดการตั้งคำถามว่าบุคคลที่ถูกทำร้าย ทั้งผู้ชายที่ไม่สามารถโต้ตอบเจ้าหน้าที่ที่กระทำรุนแรงกับตัวเองได้ เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่หมดสติเพราะระเบิด หรือใครอีกหลายคนที่ถูกวิสามัญกลางถนน บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ก่อการร้ายหมดทุกคนจริงหรือ

รัฐบาลอิสราเอลเคยระบุถึงความจำเป็นที่ต้องทำไว้ว่า การจับกุมคุมขังหรือทำลายที่พักของผู้ก่อการร้าย เป็นสิ่งที่จะช่วยยับยั้งไม่ให้ผู้ก่อการร้ายไปการทำผิดซ้ำได้อีก ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขององค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มองว่าการตัดสินใจของอิสราเอลถือเป็น ‘ความรุนแรงแบบเหมารวม’ ส่งผลเสียต่อประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย โดยที่อิสราเอลก็ไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริสุทธิ์ได้เลย และปัญหาที่แก้ไม่ตกนี้ยังคงเกิดขึ้นทุกวันในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

 

ภาพ: Reuters

 

อ้างอิง

https://www.amnesty.org/en/latest/news/2022/02/israels-apartheid-against-palestinians-a-cruel-system-of-domination-and-a-crime-against-humanity/

https://www.reuters.com/world/middle-east/israeli-forces-kill-palestinian-west-bank-clash-palestinian-health-ministry-says-2022-02-14/

https://www.aljazeera.com/news/2022/2/22/palestinian-teen-killed-by-israeli-forces-ministry?taid=6215677000131e0001dcf8e0&utm_campaign=trueAnthem%3A+Trending+Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=twitter

https://twitter.com/Rehan_Alfarra98/status/1498274409387339777

https://twitter.com/HaidarAkarar/status/1498335293925175303

https://twitter.com/cjwerleman/status/1498477038063484928

Tags: , , , , , , ,