ฉับพลันที่กระทรวงมหาดไทยแก้ระเบียบว่าด้วย ‘เบี้ยผู้สูงอายุ’ จากการจ่ายแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ไปสู่การ ‘ตีเช็กเปล่า’ เกิดเป็นระเบียบที่ต้องพิสูจน์ความจน นำไปสู่การตั้งคำถามมากมายว่า รัฐบาลไทย ‘ถังแตก’ หรือไม่? งบประมาณส่วนอื่นทำไมถึงไม่ปรับลดลง และใครควรมีสิทธิได้รับเบี้ยผู้สูงอายุ ต้องเป็นคนจนเท่านั้นหรือควรเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อลดภาวะ ‘แก่แล้วจน’ ในสังคมผู้สูงอายุ
The Momentum สนทนากับ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาวิจัยด้านนโยบายสังคมและรัฐสวัสดิการ เพื่อตอบคำถามว่า ไทยควรออกแบบระบบสวัสดิการรัฐอย่างไร เพื่อให้ทุกคนได้รับสวัสดิการอย่างทั่วถึง
คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับการปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ ที่เปลี่ยนจาก ‘ทุกคนที่ไม่มีสวัสดิการจากหน่วยงานรัฐ’ เป็น ‘ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอ’
เป็นนโยบายที่ ‘ถอยหลัง’ เพราะสิ่งที่ทั่วโลกกำลังพยายามขับเคลื่อนกัน หากต้องการทำให้สังคมเป็นประชาธิปไตยและมีความเสมอภาค คือการพยายามทำให้ระบบสวัสดิการเข้าถึงง่ายและเป็นสวัสดิการถ้วนหน้า ประเทศไทยก่อนหน้านี้มีประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีเบี้ยผู้สูงอายุที่เป็นระบบถ้วนหน้า ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าทั้งสองระบบนี้ถูกส่งตรงไปยังคนที่ยากจนที่สุดได้ดีกว่าการมานั่งสงเคราะห์เขา
ขณะที่ระบบสวัสดิการอื่นๆ ของไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าเน้นไปที่ ‘การสงเคราะห์’ และจำเป็นต้อง ‘พิสูจน์ความจน’ ซึ่งล้มเหลวมาก แต่สิ่งที่พยายามอย่างยาวนานที่จะให้เกิดขึ้นตรงนี้ ทั้งในแง่วิชาการและแง่กระบวนการกำหนดนโยบาย คือเราเห็นทางการมักอ้างว่าไม่มีเงิน ไม่ว่าจะเป็นวินัยทางการคลัง หรือไม่ก็ว่าด้วยเรื่องสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตอนนี้จะทำให้งบประมาณส่วนนี้บานมากขึ้น แต่ที่จริงแล้วงบประมาณส่วนนี้แค่ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งคิดแล้วเป็นเพียงประมาณ 2% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีเท่านั้นเอง ต่อให้ผู้สูงอายุมากขึ้นกว่านี้ ก็ไม่ได้ทำให้เป็นภาระที่ใหญ่โตมากมาย
แต่เงื่อนไขสำคัญ คือทางการอาจต้องการให้สิ่งที่เป็นสวัสดิการต้องเข้าสู่ระบบสงเคราะห์เพื่อทำให้คน ‘ไร้อำนาจ’ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คือต้องการเพิ่มอำนาจ ‘ดุลยพินิจ’ ของหน่วยงานรัฐ ปัญหาคือเงินจะไม่ถูกส่งตรงต่อคนที่มีความต้องการมากที่สุด และในขณะเดียวกัน ก็เป็นปัญหาการคอร์รัปชัน เพราะก่อนหน้านี้ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ เป็นสิ่งที่โกงได้ยากมาก เพราะเป็นสิ่งที่ส่งตรงสู่คน ไม่อาจบิดพลิ้วได้ ทั้งหมดนี้สะท้อนความไม่เป็นประชาธิปไตยในสังคมนี้ที่วิกฤตและรุนแรงมาก
สิ่งเหล่านี้เรียกว่าเป็น ‘บทพิสูจน์ความจน’ หรือเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำจากภาครัฐได้ไหม
ผู้กำหนดนโยบายของเราไม่มีฐานความคิดว่า เรื่องพวกนี้ต้องเป็นสิทธิพื้นฐาน เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นคนใช้ ลองไปดูสิว่าพวกเขาเดือดร้อนกับเรื่องพวกนี้ไหม พวกเขาไม่เคยเดือดร้อน แค่เงิน 600 บาท หายไป เพราะเขามีเงินบำนาญ หรือหากเขาเป็น ส.ส.ก็เงินเดือนหลักแสน ซึ่งอาจไม่รู้สึกว่าเรื่องนี้สำคัญ
เขาอาจคิดเหมือนกับเล่นบอร์ดเกม หรือเล่น The Sims เพื่อทดลอง ‘โปรแกรม’ พิสูจน์ความจน ให้คนยืนยันความจน แล้วก็พูดเป็นนิยายว่า สุดท้าย เราจะสามารถหาคนที่จนที่สุด ช่วยเขามากเป็นพิเศษ เป็นเหมือนรายการวงเวียนชีวิต นี่คือมโนทัศน์ของพวกเขาเกี่ยวกับรัฐสวัสดิการ
ปัญหาที่เกิดขึ้นตามหลังก็คือ เมื่อพวกเขาไม่เคยใช้สวัสดิการส่วนนี้ ก็ไม่เคยรู้สึกถึงความเจ็บปวด ยกตัวอย่าง พ่อเฒ่าแม่เฒ่าจากศรีสะเกษ ลูกหลานมาทำงานในเมืองที่ชลบุรีหรือระยอง ถ้า 600 บาทหายไป และตอนนี้อายุ 59 ปี ปีหน้าจะไม่ได้ 600 บาทแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น ก็หมายความว่า 600 บาท ที่บางคนอาจมองว่าเล็กน้อย แต่สำหรับบางคนคือการทำงานโอที 2 วัน
นี่คือการเสียสละเวลานอนที่น้อยนิดของชนชั้นแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยที่เขาไม่ได้นอน ไม่ได้อยู่กับลูก ไม่ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ได้กินอาหารดีๆ เพราะต้องเจียดเนื้อ 600 บาท ส่งไปให้พ่อแม่ แต่ถ้าถามว่าพ่อแม่ต้องพิสูจน์ความจนแล้วจะผ่านไปได้ไหม สมมติว่าหากมีที่นาอยู่สัก 10 ไร่ มีรถเก๋งเก่าๆ อยู่สัก 1 คัน มีบ้านที่เป็นโฉนดตัวเองมูลค่าสัก 1 ล้านบาท ก็ไม่ถือว่าจนสำหรับรัฐบาลแล้ว แต่ชีวิตของพวกเขาก็ลำบากไง
เกณฑ์การวัดความจนนี่ละที่กีดกันให้คนที่ลำบากจริงๆ ที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการนี้ได้ ซึ่งตลกมาก และเราก็พิสูจน์กันมาแล้วว่า ประเทศไทยเราใช้กลไกการพิสูจน์ความจนมาหลายนโยบาย ซึ่งล้มเหลว
อย่างช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 เห็นชัดว่ากลไกพิสูจน์ความจนเพื่อรับเงินเยียวยาที่ธนาคารกรุงไทย หรือที่ไหนก็แล้วแต่ ล้มเหลวทั้งหมดเลย เทียบกับกลไกการให้แบบถ้วนหน้าที่พิสูจน์แล้วว่าสำเร็จ ซึ่งดีกว่าและประหยัดงบประมาณด้านการพิสูจน์มาก คนที่ต้องการจริงๆ ก็ไม่ตกหล่นไปด้วย คนที่ไม่ได้ต้องการจริงๆ ซึ่งมีส่วนน้อยมากและเราใช้กลไกอย่างอื่นได้ เช่น การเก็บภาษีต่างๆ ไปเก็บภาษีคนรวยให้มากขึ้นได้ ซึ่งคุณควรไปเก็บภาษีเงินได้อัตราก้าวหน้าจากพวกเขา มากกว่าจะกันออกด้วยเงื่อนไขแบบนี้
คุณคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงอะไรได้บ้าง
ผมว่าสะท้อนชัดเจนเลย ผมพูดอย่างตรงไปตรงมาเลยนะ คือว่าพอพรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง มีนโยบายบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาท ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับภาคประชาชนมาก่อนหน้านี้ มาเป็นข้อเสนอส่วนนี้ แต่ปรากฏว่าตอนแรกในช่วง 2 เดือนหลังการเลือกตั้ง ผมเห็นหน่วยงานราชการก็มีการศึกษาเรื่องพวกนี้ด้วย รวมถึงบำนาญต่างๆ และการยกระดับการเพิ่มเงิน
แต่ว่าพอพรรคก้าวไกลจะไม่ได้ร่วมรัฐบาล พวกเทคโนแครตในกระทรวงการคลัง ในกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ก็ออกมาตีปีกจะผลักดันนโยบายที่สะท้อนความล้าหลังออกมา ที่ผมอยากย้ำให้เห็น คือแม้กระทั่งพรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ได้มีจุดยืนในการรักษาระบบถ้วนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ได้มีจุดยืนในเรื่องนี้แบบเด่นชัด พรรคเพื่อไทยออกแนวคล้ายคลึงลักษณะว่า จะไปปรับเกณฑ์ให้ดูทันสมัยขึ้น แต่ก็ไม่ได้มีจุดยืนในการรักษาระบบถ้วนหน้าแบบจริงจัง
แล้วอย่าง พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ที่บอกว่า มีบำนาญแล้วก็ยังได้ หรือคุณธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่บอกว่า ‘เจ้าสัว’ ต่างก็ได้เบี้ยผู้สูงอายุเหมือนกัน จะตอบส่วนนี้อย่างไร
ประเด็นแรก คือสำหรับคนที่ได้รับเงินบำนาญเกณฑ์เก่า เขาก็ไม่ได้ให้อยู่แล้ว คนอย่างคุณอนุพงษ์ เกณฑ์เก่าเขาก็ไม่ได้รับ ส่วนที่ถามว่า เถ้าแก่ร้านทองหรือว่าเจ้าสัวเซ็นทรัลควรจะได้รับไหม ถ้าถามผมนะ ผมว่าควรได้รับ เพราะคุณก็เสียภาษีให้กับประเทศนี้มา คนที่เข็นผักในตลาดไล่มาจนถึงกระทั่งเถ้าแก่ร้านทอง เจ้าสัวเซ็นทรัล เจ้าสัวซีพี คุณก็เสียภาษี คุณก็ทำอะไรให้แก่สังคมนี้มา นี่แหละคือสำนึกความเป็นสังคม เพราะเราไม่ได้เป็นมนุษย์ถ้ำ ฉะนั้น คุณก็ควรได้ คนจนก็ควรได้ นั่นแหละคือความเป็น Solidarity (ความเป็นปึกแผ่น) ในสังคม ความเป็นพี่เป็นน้องกัน ความเป็นมนุษย์คือแบบนี้
เราอยู่ในสังคมเดียวกัน เราควรได้ แต่ถามว่าเจ้าสัวเซ็นทรัล เถ้าแก่ร้านทองควรจะทำอะไรที่มากกว่า เพราะคุณใช้ทรัพยากรมากกว่า คุณก็ควรจะเสียภาษีมากกว่า ประเทศเราทรัพยากรล้นเหลือมากพอ กระทรวงการคลังไม่ต้องมากล้าหาญกับคนแก่ตามต่างจังหวัดหรือชนชั้นกลางระดับล่าง คุณไปจัดเก็บภาษีที่ดินภาษีมรดกอัตราก้าวหน้ากับคนพวกนี้ดีกว่า ไม่ต้องใช้เป็นข้ออ้างในการที่จะตัดสวัสดิการจนกลายเป็นการกันคน 5 ล้านคนทิ้งไป
เพราะฉะนั้น ผมบอกเลยว่า คนรวยสมควรได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า และกระทรวงการคลังไม่ต้องมาเฉไฉเรื่องนี้ ใช้ความกล้าหาญที่คุณมีไปเก็บภาษีคนพวกนี้ แล้วก็เอาสวัสดิการมากระจายให้เท่าเทียมกัน นี่คือสิ่งที่โลกอารยะเขาทำกัน เพราะคุณก็ไม่รู้ว่าคุณจะรวยหรือจนเมื่อไรในชีวิต นี่คือสิ่งที่สำคัญ และวันหนึ่งหากคุณเกิดจนขึ้นมาตอนเป็นผู้สูงอายุ สมมติว่าวันนี้คุณทำงานได้แล้วคุณเกิดหัวใจวายทำงานไม่ได้ล่ะ บริษัทเชิญให้ออกตอนอายุ 63-64 ปี คุณต้องต่อแถวพิสูจน์ความจน หรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นหายไป มันไม่ยากไม่ลำบาก มันประหยัดเงินไปได้ไม่กี่พันกี่หมื่นล้านหรอกจากกระเป๋าสตางค์ของประเทศ ไม่ซื้อเรือดำน้ำคุณก็สามารถมาจ่ายอะไรพวกนี้ได้แล้ว เพราะฉะนั้น อย่าเอามาใช้เป็นข้ออ้าง คุณไม่เคยกล้าหาญกับกระทรวงกลาโหม ไม่เคยกล้าหาญกับตำรวจกับทหาร แต่คุณกล้าหาญกับคนแก่ เด็ก นักศึกษา
คุณโพสต์สเตตัสไปเมื่อวันก่อนว่า “กระทรวงการคลัง เก่งกับเรื่องทบทวนสวัสดิการผู้สูงอายุ มุ่งสู่ระบบสงเคราะห์ ให้เฉพาะคนจน กระทรวงชอบห่วงเรื่องงบประมาณ แต่ไม่เคยเก่งกับกลาโหม เรื่องให้เลิกซื้ออาวุธราคาแพง ไร้ประโยชน์” ช่วยอธิบายตรงนี้ให้ฟังหน่อย
ผมว่าชัดเจนนะ เวลาที่เราบอกว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วสิ้นเปลืองเงิน แต่ว่านโยบายพวกนี้ถือเป็นนโยบายที่ทุกคนได้ใช้ ทุกคนจะได้แก่ ซึ่งสวัสดิการถ้วนหน้าคือทุกคน ได้แก่ ทุกคนได้เกิด ทุกคนได้ป่วย ทุกคนได้ใช้ แต่ผมอยากย้ำว่า เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ทุกคนได้ใช้ด้วยไหม ค่าข้าวสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มื้อละ 600-700 บาท ทุกคนได้กินด้วยหรือไม่ ผมไม่เห็นเข้าใจว่าเราจะไปงกอะไรกับเรื่องพวกนี้เลย แต่ว่าเรื่องที่เราได้ใช้คือสิ่งที่สำคัญที่ผมอยากให้พิจารณาตรงนี้ว่า ไม่มีอะไรแพงเกินไปหรอก จะแพงเกินไปหรือกับการที่ให้พ่อแก่แม่เฒ่าของเรามีข้าวกินเดือนละ 600 บาท ตกวันละ 20 บาท คุณจะมางกอะไรแบบนี้กับประชาชน เบี้ยทหารประจำการปาเข้าไป 2-3 แสนคน อันนี้เราก็ไม่ได้ใช้อะไร ไม่มีอะไรแพงเกินไปหรอกกับการรักษาชีวิตของผู้คน
วันนี้เราคุยกันยังเห็นแต่ตัวเลข แต่ถ้าวันหนึ่งเราเห็นข่าวคนแก่ผูกคอตาย ผู้ป่วยติดเตียง ที่เขาตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองเพราะเขารู้สึกว่าเขาไร้ศักดิ์ศรี วันนั้นเราอาจจะมาเสียใจทีหลัง เราจะโทษใคร มันก็เป็นได้แค่ไวรัลในทวิตเตอร์ สิ่งที่ต้องทำก็คือต้องหยุดกระบวนการอำนาจนิยมที่แฝงฝังอยู่ภายใต้การออกแบบนโยบายแบบนี้
หากหลังจากนี้ผู้สูงอายุในประเทศต้องพิสูจน์ความจน และไม่ได้รับสวัสดิการผู้สูงอายุถ้วนหน้าตามระเบียบที่ประกาศออกมา จะส่งผลอย่างไรบ้าง
คนหนุ่มสาวก็จะลำบากเช่นกัน คุณไม่ต้องคิดอะไรมากเลย คิดตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์เบื้องต้น รัฐสวัสดิการมีตัวทวีคูณทางเศรษฐกิจว่าด้วยความเสมอภาค ทำให้สังคมเสมอภาคมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หากคุณดึงเงินตัวนี้ออกไป ก็นึกถึงภาพแค่ว่าคนต้องทำโอทีเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 วัน สุขภาพก็เสื่อมโทรม เวลาที่มีกับลูกก็น้อยลง ส่งผลถึงทั้งสุขภาพกายและใจ ความสัมพันธ์ในครอบครัว สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นมหาศาลมาก การเติบโตทางเศรษฐกิจก็ชะงักไป พวกเขาอำมหิตมากกับการผลักดันนโยบายนี้ในช่วงเวลานี้ และผมคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะกฎหมายทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ และผมอยากให้พวกเราทุกคนกดดัน ส.ส.ทั้งในสภาฯ และในเขตของเรา ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองใดก็ตามว่า อย่าให้เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นเด็ดขาด
คุณคิดว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เราควรออกแบบนโยบายอย่างไรให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนี้ในสังคม
ผมคิดว่าเรื่องสังคมผู้สูงอายุมีหลายมิติ แต่มิติแรกที่ได้ง่ายที่สุดเลยในการผลักดัน คือเราต้องทำให้คนแก่ปลอดภัย บันไดขั้นแรกที่จะต้องมีเป็นฐานเลย คือต้องมีระบบบำนาญถ้วนหน้า การที่คุณจะพูดถึงการเตรียมความพร้อม การดูแลสุขภาพต่างๆ โอเค นั่นเป็นบันไดขั้นสองหรือสาม และการสร้างงานคือขั้นสามหรือสี่ แต่บันไดขั้นที่หนึ่งที่ไม่ต้องดีเบตอะไรเลย คือเราต้องมีระบบบำนาญถ้วนหน้า น้อยกว่านี้ไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ไม่ต้องไปดีเบตอะไร ผมเห็นว่านักวิชาการหรือข้าราชการหากินกับคำนี้มามาก พูดถึงเรื่องการปรับตัว แต่ว่าเรื่องใหญ่จริงๆ ที่ได้แต่พูด แต่ไม่กล้าฟันธงกันก็คือ การที่คุณต้องมีระบบบำนาญถ้วนหน้าสำหรับประชาชน
สุดท้ายนี้ ในฐานะนักวิจัยและนักวิชาการที่ทำงานโดยตรงเกี่ยวกับนโยบายรัฐ คิดว่าทางออกของปัญหาตอนนี้คืออะไร ประเทศไทยควรมีสวัสดิการผู้สูงอายุขั้นต่ำอยู่ที่กี่บาท
ผมคิดว่าตามข้อเสนอของภาคประชาชนและที่พรรคการเมืองหลายพรรคหาเสียง ซึ่งผมคิดว่ามีไม่ต่ำกว่า 4-5 พรรคที่เร่งหาเสียง ก็คือเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทถ้วนหน้า เพราะไม่มีใครพอใจแค่ 600 บาท วันนี้เป็นจังหวะที่คนแก่ คนหนุ่มสาว เด็กรุ่นใหม่ ต้องสามัคคีกัน แล้วพยายามกดดันให้ชนชั้นนำหันมาฟังเราบ้าง เพราะเวลาที่เราไม่ส่งเสียง อย่างคุณอนุพงษ์ หรือคุณรัชดา (รัชดา ธนาดิเรก – รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็พูดเหมือนกับว่าชีวิตของประชาชนเป็นแค่ตัวเลข ผมฟังแล้วรู้สึกว่ารุนแรงมากเลย พวกเขาไม่เห็นบอกเลยว่ามีคนตายจากเรื่องนี้ แล้วคนตายจะไม่ได้แค่หลักสิบด้วย แต่เป็นหลักร้อยหลักพันที่จะตายและซึมเศร้าจากนโยบายนี้ ซึ่งทั้งรุนแรงและอันตรายมาก
Tags: สวัสดิการรัฐ, เบี้ยเลี้ยงคนชรา, เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ, เบี้ยเลี้ยงผู้สูงวัย, นโยบายสังคม, สวัสดิการถ้วนหน้า, ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี