วันนี้ (11 มีนาคม 2565) พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า เดินทางไปยังศาลอาญารัชดา ถนนรัชดาภิเษก หลังจากอัยการสำนักงานคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นสั่งฟ้องในความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

โพสต์ของพรรณิการ์ที่กลายเป็นประเด็นหลัก คือการแชร์ ‘เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา’ บทร้อยกรองประเภทเพลงยาว มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำนายสถานการณ์ของกรุงศรีอยุธยาว่าในอนาคตจะประสบภัยร้ายหลายประการ เมื่อปี 2556

เรื่องดังกล่าว ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เป็นผู้ยื่นเรื่องให้ตรวจสอบพรรณิการ์ กับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อนที่ประชุมมีมติชี้ว่า อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ มีความประพฤติเข้าข่ายผิดจริยธรรมร้ายแรง ตามมาตรฐานจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ 2561 ที่บังคับใช้กับ ส.ส. กรณีโพสต์ภาพและข้อความจำนวนมากในเฟซบุ๊ก จนทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดและเชื่อมโยงประเด็นต่างๆ กับสถาบันกษัตริย์

ป.ป.ช. ระบุว่า ถึงพรรณิการ์ได้โพสต์เฟซบุ๊กที่เป็นประเด็นมานานหลายปี แต่โพสต์ยังคงอยู่ในเฟซบุ๊กเรื่อยมาจนถึงตอนที่ยังดำรงตำแหน่ง ส.ส. โดยที่ไม่ได้ลบออกจากระบบ ซึ่งสิ่งที่พรรณิการ์โพสต์เมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของประเทศและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกกับประชาชน ก่อนอัยการจะสั่งฟ้องว่าพรรณิการ์มีความผิด

ท่อนหนึ่งในเอกสารคำฟ้องเขียนว่า “จำเลยได้บังอาจโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์ โดยโพสต์ข้อความที่เป็นบทกลอนคำทำนายในอดีต และสื่อความหมายแก่ผู้อ่านบทกลอนคำทำนายดังกล่าวว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีข้อความว่า ‘ด้วยพระมหากษัตริย์มิได้ทรงทศพิธราชธรรม จึงเกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ คือเดือนดาวดินฟ้าจะอาเพศ อุบัติเหตุเกิดทั่วทุกทิศาน มหาเมฆจะลุกเป็นเพลิงกาฬ เกิดนิมิตพิสดารทุกบ้านเมือง

“พระคงคาจะแดงเดือดดั่งเลือดนก อกแผ่นดินเป็นบ้าฟ้าจะเหลือง ผีป่าก็วิ่งเข้าสิงเมือง ผีเมืองนั้นจะออกไปสู่ไพร พระเสื้อเมืองจะเอาตัวหนี พระกาฬกุลีจะเข้ามาเป็นไส้ พระธรณีจะตีอกให้ อกพระกาฬจะไหม้อยู่เกรียมกรม ในลักษณ์ทำนายไว้บ่ห่อนผิด เมื่อวินิศพิศดูก็เห็นสม มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด มิใช่เทศกาลหนวก็หนาวพ้น มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสาระพัด เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

“เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล สัปบุรุษจะแพ้แกทรชน มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์ ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอำนาจ นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยจะถอยจม กรุงศรีอยุธยาเขษมสุข แสนสนุกยิ่งล้ำเมืองสวรรค์ จะเป็นเมืองแพศยาอาธรรม์ นับวันจะเสื่อมสูญเอย

“อุตะ สรุปนี่กรุงศรีอยุธยาไม่ใช่กรุง (สุ) เทพหรือคะ สถานการณ์คุ้นๆ”

อัยการยังระบุในเอกสารคำฟ้องอีกว่า “โพสต์ที่ว่านี้เป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วพระมหากษัตริย์สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (กรุงเทพมหานคร) รัชกาลที่ 9 นั้นเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ไม่ได้เหมือนหรือคล้ายกันกับพระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด”

ในวันนี้ ศาลอาญาได้ประทับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.567/2565 กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า วันนี้อัยการยื่นฟ้องต่อศาลเวลา 10.00 น. จนเสร็จเรียบร้อยในเวลา 12.30 น. วันนี้ศาลรับคำฟ้องเอาไว้ พรรณิการ์ในฐานะจำเลยได้ขอยื่นประกันตัวโดยใช้หลักทรัพย์วงเงิน 30,000 บาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยจะนัดสอบคำให้การ ตรวจพยานหลักฐาน ก่อนสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 25 เมษายน 2565 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร

พรรณิการ์ให้สัมภาษณ์หลังได้รับการประกันตัวว่า แม้มีการแจ้งข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่คำฟ้องของอัยการระบุชัดแล้วว่าโพสต์ของเธอสร้างความไม่สบายใจ และสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนเพราะเกี่ยวโยงกับสถาบันกษัตริย์

“ในความเป็นจริงทั้งสองโพสต์เกิดขึ้นในช่วง กปปส. โพสต์หนึ่งเป็นการยกเอาเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยามาทั้งท่อน ซึ่งเพลงยาวนี้เผยแพร่ทั่วไป มีแม้แต่ในหนังสือเรียน อีกโพสต์เป็นการวิพากษ์วิจารณ์พรรคประชาธิปัตย์ ว่าใช้สถาบันเป็นเครื่องมือทำลายล้างศัตรูทางการเมือง ซึ่งขณะนั้นแกนนำพรรคหลายคนออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

“จึงเป็นเรื่องประหลาดมากที่ทั้งสองโพสต์ถูกหาว่าสร้างความตื่นตระหนกและเป็นภัยต่อความมั่นคง เพียงเพราะมีคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ อยู่ในโพสต์ แถมยังเป็นโพสต์เก่าเกือบ 10 ปีมาแล้ว นี่ถือเป็นการสะท้อนว่ายังคงมีการนำสถาบันฯ มาเป็นเครื่องมือทำลายล้างทางการเมือง และเพดานเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสังคมไทย กำลังถูกกระบวนการยุติธรรมกดให้ต่ำลงอย่างน่าตกใจ”

พรรณิการ์ระบุว่าคดีของตนเป็นเพียงหนึ่งในหลายร้อยคดีที่สะท้อนปัญหาใหญ่ ปัญหาเรื่องการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง คนที่โดนคดีไม่ได้มีแต่นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่ยังรวมถึงประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนคนหนุ่มสาว เห็นได้จากช่วงสองปีที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 จากการเคลื่อนไหวทางการเมืองกว่า 173 คน ยังไม่รวมคดีอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกจำนวนมาก

ส่วนบุคคลอื่นๆ หลายคนในคณะก้าวหน้า ยังคงต้องเดินทางมาศาลเพื่อรับฟังการพิจารณาคดี เช่น วันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 คือวันที่จะทราบว่าอัยการมีคำสั่งฟ้อง พรรณิการ์ วานิช, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในคดีอาญามาตรา 116 หรือไม่ รวมถึงคดีอาญามาตรา 112 ของธนาธร จากกรณีที่พูดถึงวัคซีนพระราชทาน

Tags: , , ,