การรณรงค์เรื่องกฎระเบียบจราจร จากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1 บก.อคฝ.) ขับรถจักรยานยนต์ชน แพทย์หญิง วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ ‘หมอกระต่าย’ ที่กำลังข้ามทางม้าลาย หลักฐานจากกล้องวงจรปิดและกล้องติดรถยนต์ของรถคันอื่น เผยให้เห็นว่าผู้ขับขี่ไม่ได้ชะลอตรงทางม้าลายเลยแม้แต่น้อย ความประมาทนี้ทำให้เกิดความสูญเสียใหญ่ และทำให้สังคมไทยวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบจราจรและการละเมิดกฎหมายจราจรมากขึ้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และองค์กรอื่นๆ ร่วมกันจัดเวทีเสวนา ‘เวทีสาธารณะ หมอกระต่ายต้อง (ไม่) ตายฟรี’ ใจความสำคัญของการจัดเสวนาครั้งนี้คือการเปิดให้รับฟังแนวคิด ข้อเสนอแนะ วิธีแก้ปัญหา จากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนน โดยเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของสิทธิเสรีภาพต่อชีวิตและร่างกาย เนื่องจากในแต่ละวัน เราทุกคนล้วนโดนละเมิดสิทธิโดยไม่รู้ตัว จึงจำเป็นต้องหาวิธีแก้ไขเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิของผู้อื่นที่ใช้ถนนร่วมกัน

ในวงเสวนาครั้งนี้มีผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครร่วมด้วย ทั้ง ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, วิโรจน์ ลักขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ และ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา นักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค ทางผู้จัดต้องการทราบความคิดเห็นของผู้สมัครฯ ทั้งสี่คน หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไรบ้าง โดยให้เวลาอธิบายแนวคิดของตัวเองคนละ 5 นาที ในกรณีที่คนใดคนหนึ่งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. จริง ทางหน่วยงานจะให้เวลาผู้ว่าฯ กทม. 90 วัน เมื่อครบกำหนดจะไปทวงถามสัญญาและแนวคิดที่เสนอไว้ในวันนี้

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ได้พูดเป็นคนแรก ระบุว่า “ในฐานะผู้ว่าฯ กทม. วันนี้ถ้าเกิดมีเหตุอย่างคุณหมอกระต่าย กทม. ในฐานะที่เป็นเจ้าของพื้นที่ เจ้าของถนน จำเป็นต้องลงไปดูแล เรามีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจราจร เรามีผู้เชี่ยวชาญอยู่ในสำนักโยธาและการแพทย์ แต่วันนี้ไม่เห็นเลย นั่นหมายความว่าเรายังไม่รู้สาเหตุแท้จริงที่จะนำไปสู่การป้องกันในอนาคต เพราะฉะนั้นในวันแรกจะได้เห็นเลย ไม่ว่าเหตุการณ์นี้ในอนาคตเกิดขึ้นอีก จะเห็นทีมของ กทม. ซึ่งผมชอบที่คุณหมอเจี๊ยบ (ลลนา ก้องธรนินทร์) ได้พูดว่า เราทุกคนคอมเมนต์กันไปต่างๆ นานา แต่แท้จริงแล้วความปลอดภัยบนท้องถนน ตอนนี้มีแพ็กเกจขององค์การอนามัยโลกอยู่ชัดเจน ท่านไปดาวน์โหลดได้เลย”

“ซึ่งในช่วงวันแรก ทีมงานที่ลงไปต้องไปดูทันทีว่าเกิดเหตุอะไรขึ้น แต่วันนี้ยังไม่เห็นเลย นั่นคือข้อเท็จจริง ข้อที่สองที่ต้องทำทันทีคือการสังคายนาทางม้าลายทั่ว กทม. อย่างที่ผมย้ำว่าผู้ที่สังคายนาจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างตัวแทนตำรวจที่มาวันนี้ อย่าง กทม. ไม่ใช่ใครก็ได้นะครับทุกท่าน เขาเรียกว่า Road Safety Audits ต้องเป็นคนที่มีความรู้เชี่ยวชาญเรื่องความปลอดภัยจริงๆ”

“ถ้าเกิดท่านไปดูที่ถนนพหลโยธิน จะตกใจ ทางม้าลายที่ไกลจากที่เกิดเหตุไม่กี่ร้อยเมตร ไฟยังไม่ติดเลย สัญญาณเตือนยังไปอยู่ที่หลังเสาบีทีเอสอยู่เลย แสดงว่าการติดตั้งไม่ได้ใช้ผู้เชี่ยวชาญ เพราะฉะนั้นการสังคายนาจะทำให้เสร็จภายในหกเดือน ซึ่งจะรวมพี่น้องประชาชน เพราะเขาใช้ถนน และรู้ว่าตรงไหนเขามีความเสี่ยง ตรงนี้จะจัดการและใช้มาตรฐานของความเป็นสากล”

“ทุกท่านที่เคารพครับ มาตรฐานสากลไม่ใช่รอให้สูญเสียแล้วไปแก้ไข องค์การอนามัยโลก ข้อที่หนึ่ง ท่านรู้ไหมครับทำอะไร ข้อที่หนึ่งคือสตรีทครับ ไปเปิดดูเลย สสส. ทำเรื่องนี้อยู่ ท่านยกแขนขึ้นมา ‘กรวยการมองเห็น’ ไปดูคลิป สสส. เลย”

หลังจากกล่าวจบท่อนนี้ สุชัชวีร์ได้ยกมือสองข้างขึ้นระดับออก ก่อนกางออกและยกนิ้วโป้งขึ้นทั้งสองนิ้ว แล้วเล่าต่อว่า กทม. มีการจำกัดความเร็วอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วนี้เป็นความเร็วสูงที่สุดในอาเซียน แต่หากไปดูในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ชานเมือง หรือต่างจังหวัดในประเทศอังกฤษ มีการจำกัดความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น และ คน กทม. จะได้เห็นการจำกัดความเร็วที่เป็นพื้นฐานใหม่ กำหนดความเร็ว 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงหน้าโรงพยาบาล และ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในพื้นที่ชุมชนและโรงเรียน

“องค์การอนามัยโลกบอกว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ Survive after crash ลองคิดดูว่าถ้าเกิดเราช่วยชีวิตในช่วงนาทีนั้นได้ทัน เราจะเห็นว่าในเมืองที่เจริญแล้ว นอกจากไฟสัญญาณจราจรที่ได้มาตรฐาน องค์การอนามัยโลกโดยผู้เชี่ยวชาญแล้ว จะเห็นปุ่ม SOS ทันที ตรงนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดเข้าถึงตรงนั้นเลย และสุดท้าย เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะทางม้าลายในกรุงเทพฯ ไม่เคยศักดิ์สิทธิ์”

 

คนถัดมาคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แรกเริ่มเขากล่าวแสดงความเสียใจกับพ่อแม่ของหมอกระต่าย และแสดงความคิดเห็นว่าคนที่จะเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน ไม่ใช่แค่เรื่องเกียรติของวงศ์ตระกูล แต่ต้องใส่ใจชีวิตของประชาชนที่มีหลายมิติไม่ใช่แค่เรื่องทางม้าลาย แต่มีหลายมิติมาก

“ในกรณีของคุณหมอกระต่ายมี 4 เรื่องที่ต้องเร่งทำ แต่จริงๆ แล้วสาเหตุมีแค่สองประเด็นหลัก ประเด็นแรกคือลักษณะทางกายภาพ ซึ่งตรงนี้ กทม. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงที่จะปฏิเสธไม่ได้ เรื่องที่สองคือวินัยจราจร อันนี้มีหลายหน่วยงาน ทั้ง ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาช่วย”

“เรื่องลักษณะทางกายภาพมีสองเรื่องย่อย คือ มาตรฐานทางม้าลาย กทม. ต้องไปทำให้ได้มาตรฐาน จุดหยุดทางม้าลายอยู่ตรงไหน ดูเรื่องการขีดสีตีเส้น ดูเรื่องแสงสว่างให้เพียงพอ สัญญาณเตือนก่อนถึง มีไฟแดงไฟกะพริบหรือไม่ กทม. มีทางม้าลายทั้งหมด 4,160 แห่ง แต่มีสัญญาณไฟเพียงแค่ 226 แห่ง มีไฟกะพริบ 822 แห่ง แต่สองพันแห่งที่เหลือไม่มีอะไรเลย เพราะฉะนั้น มาตรฐานต้องเอาให้ชัดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง รวมไปถึงมาตรฐานอื่น เพราะในเคสของคุณหมอกระต่ายเกิดขึ้นจากการทำผิดกฎจราจร ในช่วงสามเดือนแรก ผมคิดว่าจุดที่เสี่ยงทั้งหมด อย่างน้อย 800 แห่งต้องแล้วเสร็จ ในหนึ่งปี 4,160 จุดต้องเรียบร้อย และไม่ต้องห่วงเรื่องงบประมาณ เพราะงบกลางมีอยู่เป็นพันล้าน

“เรื่องที่สองคือเรื่องที่ต้องรณรงค์  กทม. ต้องคุยกับกลุ่มใหญ่ก่อน ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีอยู่ 8 หมื่นคัน กลุ่มรับส่งอาหาร กลุ่มรถสาธารณะ จากสถิติเดิมที่ระบุว่ามอเตอร์ไซค์มักหยุดตรงทางม้าลายประมาณ 8% เราต้องคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรให้เขาหยุดได้ 20% เราต้องรณรงค์ให้คนหยุดเยอะขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นเป้าหมายหลัก อันนี้สามารถทำได้เลยเหมือนที่เราทำสำเร็จกับ ‘ตาวิเศษ’ หรือ ‘เมาไม่ขับ’  ผมว่าในช่วงหนึ่งปี สองปี สามปี สีปี เห็นผลแน่นอน”

“เรื่องที่สามคือ กทม. จะต้องเป็นเจ้าภาพ แม้บางคนอาจจะมองว่าไม่ใช่หน้าที่ แต่สุดท้ายเราหนีความเป็นเจ้าภาพไม่ได้ ถามว่า กทม. จะช่วยอย่างไรได้บ้าง เราต้องเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงาน เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ติดกล้องที่จับคนทำผิดกฎจราจร ไม่ต้องรอให้ตำรวจมาตั้งด่านจับ เอากล้องติดไว้ทุกแยก ทุกทางม้าลาย เพื่อให้เราสามารถจับปรับได้เลย ทำให้มาตรฐานการจราจรดีขึ้น”

“เรื่องสุดท้าย กทม. ต้องเป็นผู้ดูแลด้านกายภาพ เพราะทางม้าลายทำแล้วจาง จุดข้ามทางม้าลายทุกแห่งต้องมีผู้รับผิดชอบ ตอนนี้เรามีเทศกิจ 3,000 คน เทศกิจแต่ละคนแทนที่จะไปจับแม่ค้า ดูแต่เรื่องความสะอาด มาช่วยดูเรื่องความปลอดภัยได้ไหม เรามีพี่น้องที่กวาดถนนใน กทม. เกือบหมื่นคน ในช่วงเช้ามืด ท่านเหล่านี้จะออกไปกวาดถนน ให้พวกเขาช่วยหาจุดที่มืด จุดอันตราย จุดที่ไม่ปลอดภัยได้ไหม หลักๆ คือมาตรฐานต้องได้ ต้องดูแลอย่างต่อเนื่อง และต้องช่วยดูระเบียบวินัยจราจร กทม. ต้องเป็นเจ้าภาพ ผมเชื่อว่าหนึ่งปีเห็นผล”

 

ผู้พูดลำดับที่สามคือ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ระบุว่ามีสองเรื่องที่จะต้องคืนสิทธิในการข้ามถนนอย่างปลอดภัยให้กับคนกรุงเทพฯ เรื่องแรกที่ทำได้เลยคือ การปรับปรุงให้ทางม้าลาย 4,160 แห่ง ปลอดภัยตามโครงสร้างทางวิศวกรที่ถูกต้อง ส่วนเรื่องที่สองคือความใส่ใจในการบังคับใช้กฎหมาย

“เราต้องยอมรับว่าเรื่องสัญญาณไฟคนข้ามมีความจำเป็นจริงๆ งบประมาณ กทม. ในเรื่องนี้น่าตกใจมากๆ เพราะงบประมาณปี 2565 เรามีงบฯ เพียงแค่ 20 ล้านบาท สำหรับการทำไฟสัญญาณคนข้าม 64 จุด จำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณในจุดที่มีคนข้ามหนาแน่น และการทาสีตีเส้นน่าตกใจยิ่งกว่า เพราะ 4,160 แห่ง ทำไปแล้วแค่ 621 แห่ง ในปีนี้จะทำเพิ่มอีก 117 แห่ง รวมแล้ว 738 แห่ง ซึ่งไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของทางข้ามทั้งหมดด้วยซ้ำ ตรงนี้ต้องเพิ่มงบประมาณและเร่งทำทันที”

“สิ่งสำคัญต่อมา เรามีรถเก็บขยะ เรามีรถรดน้ำต้นไม้เป็นจำนวนมาก ถ้าเราติดตั้งกล้อง ติดตั้งระบบตรวจจับกับรถเหล่านี้ จะลดความซ้ำซ้อนของงาน ขณะเดียวกันทำให้เจ้าหน้าที่ใน กทม. มีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจตาทางม้าลาย และมีบทบาทสำคัญในการปกป้องชีวิตคนกรุงเทพฯ ทุกคน เป็นการเพิ่มความสำคัญให้พวกเขา ให้พวกเขาทำหน้าที่เหล่านี้ได้อย่างภาคภูมิใจ”

นอกจากนี้ วิโรจน์ระบุว่าเรื่องที่ต้องเน้นย้ำและทำทันทีคือการใส่ใจ “แม้จะมีอุปกรณ์ทันสมัยแค่ไหนก็ตาม มีกฎหมายที่เข้มแข็งอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าไม่ใส่ใจที่จะบังคับใช้กฎหมาย ผู้ว่า กทม. ไม่คิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของตัวเอง ไม่คิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่เกิดกับพี่น้องเรา พี่สาวเรา น้องสาวเรา ผมไม่ต้องเป็นผู้ว่าฯ หรอก ผมต้องกระวีกระวาดโพสต์แล้วว่ามีกล้องหน้าหรือเปล่า ผมต้องไปตามร้านสะดวกซื้อแล้วว่ามีกล้องหรือเปล่า ผมต้องดิ้นทุกอย่าง ผมไม่รู้แล้วว่าอำนาจหน้าที่คืออะไร นี่คือสิ่งที่เราต้องทำ เราต้องใส่ใจว่านี้คือปัญหาในครอบครัวของเรา แล้วการบังคับใช้กฎหมายกับกองบังคับการตำรวจจราจรเจอผมแน่

“อย่าผลักภาระให้เหยื่อ ถ้าผมเกือบจะถูกรถชนบนทางม้าลาย แล้วผมไปแจ้งตำรวจ ตำรวจจะถามผมว่าจำเลขทะเบียนรถได้ไหม ผมจะถูกรถชน ผมจะเอากล้องไปถ่ายรูปได้อย่างไร ในเมื่อ กทม. มีกล้อง กทม. ต้องประมวลผล แล้วส่งรายงานให้กองบังคับการตำรวจจราจร เพื่อบังคับใช้กฎหมาย จับ ปรับ ตัดคะแนน ผมเชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ กทม. ต้องทำ โดยคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาในครอบครัว อย่าเชื่อว่าทำไม่ได้”

วิโรจน์ยังยกตัวอย่างการสวมหมวกกันน็อก ที่ตอนนี้กลายเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นปกติไปแล้ว การรณรงค์เป็นสิ่งจำเป็น แต่การบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องจริงจังก็เป็นสิ่งจำเป็นเช่นกัน ซึ่งผู้ว่า กทม. ต้องทำตรงนี้ให้ชัดและทำให้ได้จริง และกล่าวถึงใบสั่งที่ส่งทางไปรษณีย์มีทั้งหมด 13 ล้านใบ แต่มีคนมาจ่ายค่าปรับเพียงแค่ 1 ล้านรายเท่านั้น

“ผู้ว่าฯ ต้องเป็นกลไกเชื่อมระหว่างกรมการขนส่งทางบกกับกองบังคับการตำรวจจราจร ให้มีการปรับจริง บังคับใช้กฎหมายจริงๆ ถ้าใครไม่จ่ายค่าปรับก็จะต้องพบอุปสรรคในการต่อทะเบียนรถ”

 

ผู้พูดลำดับสุดท้ายคือ รสนา โตสิตระกูล โดยเริ่มต้นด้วยการกล่าวแสดงความเสียใจต่อครอบครัวหมอกระต่าย และคิดว่าความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนคือสิ่งสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับได้รับความสนใจน้อยมากกว่าที่คิด

“หลังจากได้คุยกับแม่น้องกระต่าย คุณแม่บอกว่าตลอด 34 ปี ทางม้าลายก็ยังเหมือนเดิม เราไม่ได้ให้ความใส่ใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องแก้คือการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมทั้งหมดใน กทม. ได้เข้ามามีส่วนร่วม สิ่งที่คุณหมอเจี๊ยบได้พูดว่า ทำไมประชาชนถึงต้องมาเรียกร้องกับสิ่งที่รัฐจะต้องทำอยู่แล้ว สิ่งนี้ทำให้เห็นมาตลอดว่าการไม่ปฏิบัติเป็นอย่างไร

“ที่ผ่านมาไม่มีการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ประชาชนคนกรุงเทพฯ ถ้าคุณหย่อนบัตรเลือกผู้ว่า หรือหย่อนบัตรเลือกผู้บริหารประเทศ หลังจากนั้นคุณก็จะกลายเป็นคนที่หมดอำนาจ”

“เราไม่มีอำนาจแม้แต่จะเรียกร้องกับรัฐว่าชีวิตของเราสำคัญ แต่ทำไมการพัฒนาของเราจึงให้ความสำคัญกับรถมากกว่าทางสัญจรของผู้คน การเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจึงสำคัญที่สุด การที่เราจะปกป้องชีวิตของคนสัญจรให้ปลอดภัย นอกจากเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เวลานี้เทคโนโลยีมาถึงแล้ว เมื่อกี้มีการพูดถึงการทำระบบตัดคะแนน อันนี้ก็สำคัญมาก ถ้ามีกระบวนการตัดคะแนนคนขับรถ เช่น เมาแล้วขับ ไม่หยุดตรงทางม้าลาย เมื่อถูกตัดคะแนนถึงเกณฑ์ที่กำหนดไว้จะถูกยึดใบขับขี่ห้ามขับรถ หรือต้องไปสอบใบขับขี่ใหม่”

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในตอนนี้คือการไม่ทำให้สุจริต เราทำให้คนที่มีเงินสามารถจ่ายเงินเพื่อไม่ให้ตัวเองติดคุกได้ หรือคนถูกยึดใบขับขี่ หรือไม่ต้องสอบใบขับขี่ ก็เอาใบกลับมาได้ถ้ามีเงิน เรื่องพวกนี้จะต้องหมดไป เราต้องมีบุคคลที่จะมาเป็นหูเป็นตาให้ประชาชน ไม่ใช่เฉพาะแค่ข้าราชการหรือพนักงานของ กทม. แต่ประชาชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้”

 

Tags: , , , , , , , , , , , ,