“ถ้าอินเดียปิดกั้นทางน้ำไหล พื้นที่ในปากีสถานทั้งประเทศจะกลายเป็นทะเลทรายธาร์”
คือเสียงของ โฮมลา ทะคูร์ (Homla Thakhur) อดีตชาวนาในปากีสถาน ถึงวิกฤตความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถาน จากปมกบฏกลุ่มแนวร่วมต่อต้านแคชเมียร์ (The Resistance Front: TRF) สังหารหมู่นักท่องเที่ยวชาวอินเดีย 26 ราย ในเมืองเพเฮลกาม รัฐจัมมูและแคชเมียร์ในวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา
แม้ปากีสถานปฏิเสธว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์ดังกล่าว แต่อินเดียเปิดฉากความขัดแย้งด้วยมาตรการตอบโต้ขั้นรุนแรง เพราะถือว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ร้ายแรงเทียบเท่ากับ ‘การก่อสงคราม’ โดยหนึ่งในมาตรการที่สร้างความตกตะลึงให้กับโลกคือ การ ‘ตัดทางน้ำไหล’ ผ่านการระงับสนธิสัญญาสินธุ (Indus Waters Treaty) ข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศในปี 1960 ที่สัญญาว่า อินเดียจะแบ่งปันแม่น้ำ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำสินธุ แม่น้ำเจลัม และแม่น้ำเจนับ ที่หล่อเลี้ยงชาวปากีสถาน 240 ล้านคน
ล่าสุดสำนักข่าว Reuters เปิดเผยสถานการณ์ล่าสุดของละติฟาบาด พื้นที่ในแคว้นสินธิ์ ประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำสินธุไหลผ่านลงสู่ทะเลอาหรับว่า ใกล้แห้งแล้ง หลังระดับแม่น้ำลดลงและอากาศร้อนจัด ขณะที่ทางการปากีสถานพยายามสร้างความมั่นใจให้ประชาชนว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่กระทบต่อปากท้องคนในประเทศอย่างแน่นอน หลังประเทศต้องพึ่งพาอาชีพทางการเกษตรเป็นหนึ่งในเสาหลัก ซึ่งอาจกระทบต่อเศรษฐกิจและปากท้องของคนในประเทศ
แม้มีความกังวลอยู่ไม่น้อยถึงสถานการณ์น้ำแล้งในประเทศ แต่ BBC วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดว่า อาจเป็นไปได้ยากที่อินเดียจะเปลี่ยนทางน้ำไหลที่มีปริมาณมหาศาลถึงหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เพราะประเทศไร้โครงสร้างพื้นฐานอย่างระบบกักเก็บน้ำหรือคลองขนาดใหญ่ ซ้ำยังอาจสุ่มเสี่ยงเผชิญเหตุน้ำท่วมในประเทศได้
อย่างไรก็ตามอินเดียยังมีวิธีการอื่นๆ ที่สามารถตอบโต้ปากีสถานได้อย่างการปล่อย ‘ตะกอนน้ำ’ โดยไม่แจ้งล่วงหน้า โดยเฉพาะแม่น้ำสินธุที่มีปริมาณของตะกอนอยู่มาก และการปล่อยน้ำจากเขื่อนทำให้ปากีสถานน้ำท่วม หลังสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานจาก The Times of India ว่า อินเดียปล่อยน้ำจากเขื่อนอูรี (Uri Dam) โดยไม่ได้แจ้งให้ปากีสถานทราบ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจลัมเพิ่มขึ้นกะทันหัน และชุมชนบริเวณมูซัฟฟะราบาดในแคชเมียร์ ต้องเร่งอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว เป็นเหตุทางการปากีสถานโจมตีอินเดียว่า กำลังก่อการร้ายโดยใช้ทรัพยากรน้ำเป็นตัวประกัน
อันที่จริงความกังวลเรื่องทรัพยากรน้ำของ 2 ประเทศไม่ใช่เรื่องใหม่ หลังอินเดียเคยตอบโต้เหตุระเบิดพลีชีพในเมืองอูรีเมื่อปี 2016 โดยการขู่ปากีสถานว่าจะเบี่ยงเส้นทางน้ำไหล ขณะที่รัฐบาลของ นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย พยายามแก้ไขสนธิสัญญาดังกล่าว โดยอ้างว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ประชากรประเทศเพิ่มขึ้นที่ผันตามความต้องการพลังงานสะอาด
หนึ่งในมาตรการของอินเดียคือ การสร้างโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำคิเชนคงคา (Kishanganga Hydroelectric Plant) และราเทิล (Ratle Hydroelectric Plant) ที่มีการวิเคราะห์ว่า อาจทำให้ปากีสถานสูญเสียปริมาณน้ำที่ต้องได้ครอบครองตามสนธิสัญญา จนนำไปสู่ข้อพิพาทครั้งที่พิจารณาในอนุญาโตตุลาการถาวร (Permanent Arbitration Court: PCA) ขณะที่อุปสรรคสำคัญที่อินเดียไม่สามารถสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานด้านน้ำได้คือ ภูมิประเทศของอินเดียที่ไม่เอื้ออำนวยมากพอ
แฮปปีมอน จาคอบ (Happymon Jacob) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ Jawaharlal Nehru University วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวผ่าน The New York Times ว่า แท้จริงแล้ว ท่าทีของอินเดียต่อปากีสถานเป็นหนึ่งในท่าทีขอคะแนนเสียงจากโมดี โดยย้ำว่า เป็นวิธีการที่ฉลาดและไม้เด็ดจากผู้นำประชานิยม ทว่า วาการ์ อาห์เหม็ด (Vaqar Ahmed) นักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าทีม Oxford Policy Management ก็เชื่อว่า ปากีสถานกำลังประเมินศักยภาพของอินเดียต่ำไป โดยแนะนำให้ใช้ประโยชน์จากช่วงที่อินเดียกำลังไร้เครื่องมือในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ
ปัจจุบันความขัดแย้งระหว่างอินเดียกับปากีสถานยังคงคุกรุ่น โดยมีรายงานว่า ทหารของ 2 ประเทศปะทะบริเวณทางชายแดนเข้าวันที่ 4 ขณะที่สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้ ‘หาทางออกร่วมกัน’ โดยแสดงท่าทีสนับสนุนอินเดีย ท่ามกลางความหวาดหวั่นของนานาชาติที่เกรงว่า ปัจจัยสำคัญของ 2 ประเทศคือ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ อาจทำให้การเผชิญหน้าตึงเครียดมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
https://www.nytimes.com/2025/04/24/world/asia/india-pakistan-indus-waters-treaty.html
Tags: ปากีสถาน, เอเชียใต้, แม่น้ำสินธุ, Indus Waters Treaty, แคชเมียร์, อินเดีย