ปฏิเสธไม่ได้ว่าค่าไฟที่แพงขึ้นแบบก้าวกระโดด คือหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างร้อนแรงในช่วงปีที่ผ่านมา เพราะไม่ว่าความเห็นทางการเมืองของผู้คนจะเอนเอียงไปในทางใด ปัญหาค่าไฟก็ถือเป็นปัญหาระดับชาติสำหรับทุกฝ่ายเหมือนกัน

แต่ไม่ว่าสื่อมวลชนจะส่งต่อคำถามของประชาชน เกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นไปให้กับตัวแทนภาครัฐกี่ครั้ง ก็ได้รับคำตอบเดิมๆ กลับมาเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาเชื้อเพลิงสูงขึ้นจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน และขณะเดียวกัน กำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยก็ลดลงเพราะกระบวนการส่งต่อสัมปทานที่ยังไม่แล้วเสร็จ

วันนี้ (19 มกราคม 2566) โครงการมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย และศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ภายใต้สังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดกิจกรรมเวทีเสวนาสาธารณะในหัวข้อ ‘ทางออกอยู่ตรงไหน? ค่าไฟไทยในยุคของแพง ค่าแรงถูก’ โดยเปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือเกี่ยวกับทางออกที่ยั่งยืนของปัญหาค่าไฟที่ไม่เป็นธรรมนี้

สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการจัดการความรู้ของ ‘ป่าสาละ’ บริษัทวิจัยด้านธุรกิจที่ยั่งยืนแห่งแรกของประเทศไทย ชี้แจงถึงความพยายามของรัฐในการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อสาธารณะว่า ที่บอกว่าค่าไฟแพงจากต้นทุนเชื้อเพลิงและสัมปทานในอ่าวไทย แท้จริงเป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น ปัจจัยสำคัญที่ถูกเลี่ยงไม่พูดถึงคือการอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ แม้ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของไทยมีอยู่เกินพอมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว

ตามหลักสากล แค่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองเกินความต้องการจริงมาเพียง 15% ก็ถือว่าประเทศมีความมั่นคงทางพลังงาน แต่ประเทศไทยกลับมีกำลังการผลิตที่เกินมามากถึง 50% ซึ่งส่งผลร้ายมากกว่าดี มีโรงไฟฟ้าในไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตด้วยซ้ำ แต่ประชาชนกลับต้องแบกรับภาระค่าพร้อมจ่าย (AP) ให้กับโรงไฟฟ้าเหล่านี้มาโดยตลอด และจะต้องจ่ายต่อไปเรื่อยๆ หากภาครัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายพลังงาน

รองศาสตราจารย์ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกโดยสรุปว่าภาครัฐควรชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ เจรจากับโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องผลิตให้ลดค่าความพร้อมจ่ายลง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน และหันมาสนับสนุนเทคโนโลยีโซลาร์รูฟท็อป ไม่ใช่แค่ในระดับอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงระดับครัวเรือน ซึ่งจะสร้างความพร้อมให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลดต้นทุนพลังงานได้โดยตรง

นั่นหมายความว่า การที่ภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้อย่างเต็มที่ได้นั้น จะต้องได้รับการเปิดทางจากภาครัฐเสียก่อน

จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ นักจัดรายการจาก Spoke Dark TV แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า ในสภาพการเมืองปัจจุบันที่รัฐบาลไทยเลือกฟังเสียงกลุ่มทุนมากกว่าประชาชนส่วนใหญ่ การจะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย เราทุกคนอาจต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งต่อข้อเท็จจริง ตลอดจนร่วมกันตั้งคำถามเกี่ยวกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าที่ไม่สมเหตุสมผลของภาครัฐ

Tags: , , , ,